"นักกฎหมายมหาชน" เทียบเคียง คดี "ชาญชัย - พิธา" ปม ถือหุ้น itv แตกต่างกัน
"นักกฎหมายมหาชน" เทียบเคียง คดี "ชาญชัย - พิธา" ปม ถือหุ้น itv แตกต่างกัน ย้ำ รธน. ห้ามเด็ดขาด แม้ถือหุ้นเดียว ย่อมขาดคุณสมบัติสมัคร ส.ส.
วันที่ 11 พฤษภาคม 2566 จากกรณีนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ได้ยื่นคำร้องต่อ กกต.ให้ตรวจสอบ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กรณีถือหุ้นITV บริษัท ไอทีวี จำกัด(มหาชน)จำนวน 42,000 หุ้น ซึ่งจากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า บริษัทดังกล่าวยังดำเนินกิจการอยู่และเป็นธุรกิจสื่อสารมวลชน ปรากฏเป็นใบหุ้นเลขที่ 0680180285422 โดยถือหุ้นลำดับที่ 7138 โดยล่าสุดมีมูลค่าหุ้น หุ้นละ 5 บาท โดยตรวจสอบผลประกอบการในปี 2564 ผลกำไร 24 ล้านบาท และในปี 2565 ผลกำไร 21 ล้านบาท โดยบริษัทจัดประชุมผู้ถือหุ้นประจำปี 2566 ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์(E-AGM) เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2566 ที่ผ่านมา
ล่าสุด ณัฐวุฒิ วงศ์เนียม หรือ “ดร.ณัฎฐ์” นักกฎหมายมหาชน ได้อธิบายและให้ความรู้ในมุมมองที่สนใจว่า ก่อนอื่นตนไม่ได้รู้จักกับนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ตนจะให้ความรู้กฎหมายแก่ประชาชน คำถามนั้นเป็นประโยชน์แก่ประชาชน เพราะปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อเท็จจริงนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมาย โดยเฉพาะเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่ห้ามผู้สมัคร ส.ส.ถือครองหุ้น โดยห้ามเฉพาะหุ้นสื่อ ประเด็นที่นักกฎหมาย หรือผู้สมัคร ส.ส.ต่างถกเถียงกันถาโถมใส่นายพิธา
ตนจะอธิบายให้ประชาชนฟัง ประเด็นหุ้นสื่อของนายพิธา ประเด็นชี้ขาด ไม่ได้อยู่ที่ว่า ว่า การถือครองหุ้นของนายพิธา.ในฐานะส่วนตัวหรือในฐานะผู้จัดการมรดก เพราะผู้ตาย เจ้ามรดกผู้วายชนม์ ซึ่งเป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายพิธา ไม่ได้ทำพินัยกรรมยกหุ้นดังกล่าวให้แก่บุคคลใด
ดังนั้น ทรัพย์สินทุกชนิด ที่มีอยู่ก่อนตายทั้งหมด ตกแก่กองมรดก ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1599 มาตรา 1600 ทายาทโดยธรรม รวมถึงนายพิธาฯ มีส่วนได้เสียต่อกองมรดกมีสิทธิรับมรดกตามสัดส่วนเท่ากันเว้นแต่นายพิธาฯจะสละมรดกเป็นหนังสือต่อเจ้าพนักงาน แต่ปรากฎว่า 17 ปีที่ผ่านมานับแต่บิดาถึงแก่ความตาย นายพิธา ไม่มีการสละมรดกต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ข้อเท็จจริงจึงฟังเป็นที่ยุติ หุ้นตามใบหุ้นเลขที่ 0680180285422 ลำดับที่ 7138 ตาม แบบเอกสาร บมจ.006 ของบริษัท ไอทีวี จำกัด(มหาชน) กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ที่ระบุชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นผู้ถือครองหุ้น จะยกขึ้นเป็นข้อแก้ตัวอ้างว่า หุ้นไม่ใช่ของตนเอง แต่ระบุชื่อในฐานะผู้จัดการมรดก เป็นการคว้างงูไม่พ้นคอ ให้ประชาชนจับไต๋และข้อพิรุธได้ทัน หากทำในฐานะผู้จัดการมรดก โดยจะต้องระบุข้อความในเอกสาร ข้อความต่อท้ายว่า“ในฐานะผู้จัดการมรดก”ทั้งข้ออ้างที่ว่า ได้แจ้งบัญชีทรัพย์สินการถือครองหุ้นให้แก่ ปปช.แล้ว คนละประเด็นกัน เพราะการตรวจสอบคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98 เป็นหน้าที่ของ กกต.โดยตรง ไม่ใช่หน้าที่ ปปช.
ล่าสุด การตรวจสอบสถานะ บริษัท ไอทีวี จำกัด(มหาชน) ยังประกอบกิจการอยู่ ประเด็นที่ชี้ขาด คือ บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ยื่นการเสียภาษีล่าสุด ระบุกิจการเผยแพร่ภาพยนตร์วีดีทัศน์และรายการโทรทัศน์ วัตถุประสงค์หลัก “สื่อโทรทัศน์” ปรากฏตามเอกสารข้อมูลล่าสุด หากฟังได้ตามนั้น ต้องถือว่า บริษัทไอทีวี จำกัด(มหาชน) ยังประกอบกิจการวิทยุโทรทัศน์อยู่เป็นวัตถุประสงค์หลัก ส่วนจะยกขึ้นต่อสู้ว่า ปิดกิจการแล้ว ข้อเท็จจริงย้อนแย้งกันเพราะบริษัท ไอทีวี จำกัด(มหาชน) ระบุในผลตรวจสอบล่าสุด พบว่า สถานะยังดำเนินกิจการอยู่ ข้อเท็จจริงฟังเป็นที่ยุติว่า ยังไม่เลิกกิจการ ดังนั้น จะต้องไปพิจารณาถึงใบอนุญาตของบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ที่ขออนุญาตต่อโทรคมนาคมหรือ กสทช.บริษัท ไอทีวี จำกัด(มหาชน) ได้แจ้งยกเลิกใบอนุญาตต่อ กสทช.หรือเจ้าพนักงานการพิมพ์ หรือไม่ อย่างไร หากยังไม่แจ้งยกเลิก ข้อเท็จจริงฟังเป็นที่ยุติว่า บริษัท ไอทีวี จำกัด(มหาชน) ยังประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือโทรทัศน์อยู่ ซึ่งการถือครองหุ้นคดีของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ เลิกกิจการชั่วคราว แต่ยังไม่แจ้งเลิกใบอนุญาตจดแจ้งการพิมพ์ จึงขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98(3) นั้น ข้อเท็จจริงแตกต่างกันกับนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เพราะการถือครองหุ้น บจม.ไอทีวีเป็นการซื้อขายหุ้น หวังผลเก็งกำไร
ตนจะยกข้อเทียบเคียงกันคดีของ นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ ปชป.เขต 2 นครนายก ศาลเพิ่งตัดสินสดๆร้อนๆ เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2566 ในคดีของศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง ในคดีหมายเลขแดงที่ ลต.สสข.24/2566 ระหว่างนายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ ผู้ร้อง กับผู้อำนวยการเลือกตั้ง เขตเลือกตั้งที่ 2 จังหวัดนครนายก ผู้คัดค้าน โดยศาลฎีกาได้วินิจฉัยในสาระสำคัญว่า การที่ผู้ร้องถือหุ้นของบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด(มหาชน) จำนวน 200 หุ้น ถือเป็นสัดส่วนน้อย ผู้ร้องย่อมไม่มีอำนาจสั่งการให้บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด(มหาชน) ดำเนินการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์แก่ผู้ร้องและพรรคการเมืองของผู้ร้องหรือเป็นโทษแก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองอื่น เพื่อประโยชน์ในการเลือกตั้งของผู้ร้องหรือพรรคการเมืองของผู้ร้องได้
เนื่องจากผู้ร้องไม่ใช่เจ้าของหรือมีจำนวนหุ้นในจำนวนมากพอที่จะสามารถกระทำเช่นนั้นได้ การตีความบทบัญญัติของกฎหมายลายลักษณ์อักษรให้ผู้ร้องมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเพราะเหตุเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด(มหาชน) เพียง 200 หุ้น ย่อมไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ..” ด้วยความเคารพคำสั่งของศาลฎีกา
ตนไม่อาจเห็นพ้องด้วย เพราะแนวคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์แผนกคดีเลือกตั้งในคดีเลือกตั้งท้องถิ่น ในข้อเท็จจริงเดียวกัน ผู้ร้องถือหุ้น อสมท.และมีจำนวนน้อยเช่นกัน แต่ศาลอุทธรณ์แผนกคดีเลือกตั้ง กลับวินิจฉัยว่า ผู้สมัครฯรายดังกล่าว ขาดคุณสมบัติเพราะการถือครองหุ้น อสมท.คุณสมบัติต้องห้ามใช้สิทธิสมัคร ตามมาตรา 98(3) พี่น้องประชาชนจะต้องทำความเข้าใจด้วยว่า คดีเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่น อำนาจวินิจฉัยชี้ขาดคุณสมบัติ เป็นอำนาจศาลอุทธรณ์แผนกคดีเลือกตั้ง ไม่ใช่ศาลฎีกา และเป็นการวินิจฉัยคดีศาลเดียว คดีถึงที่สุด ไม่มีการฎีกา
การร้องให้ตรวจสอบของคุณสมบัติของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล แม้นายเรืองไกร จะร้องขอให้ตรวจก่อนเลือกตั้ง แต่กระบวนการตรวจสอบจะต้องใช้ระยะเวลา หาก กกต.ยังไม่ได้ชี้ขาด แต่ไปชี้ขาดหลังเลือกตั้ง โดย นายพิธา ได้รับเลือก เป็น ส.ส.อำนาจวิวินิจฉัยตรวจสอบ เป็นของศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่อำนาจศาลฎีกา โดย กกต.จะต้องใช้ช่องมาตรา 82 วรรคท้ายของรัฐธรรมนูญ โดยหลักการพิจารณาของศาบรัฐธรรมนูญ ใน พรป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 ไม่มีบัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญให้จำต้อง ถือข้อเท็จจริงตามคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลฎีกา แตกต่างจาก ป.วิอาญา มาตรา 46 ในการพิจารณาพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงที่ปรากฎในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา เป็นคนละเรื่องกัน ที่ผ่านมาการเลือกตั้งปี 2562 โดยมี ส.ส.ถูกร้องว่าขาดคุณสมบัติเพราะการถือครองหุ้นสื่อ ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัย ให้ถือหลักวัตถุประสงค์ของบริษัท ให้ถือตามวัตถุประสงค์ประกอบกิจการแท้จริง มาตรา 211 วรรคท้าย คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพัน รัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระและหน่วยงานของรัฐ
ส่วนการถือครองหุ้นสื่อของนายพิธา ของบริษัท ไอทีวี จำกัด(มหาชน) เห็นได้ชัดว่า วัตถุประสงค์หลักประกอบกิจการโทรทัศน์ ย่อมขาดคุณสมบัติการสมัคร ส.ส.ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (3) ส่วนจำนวนหุ้นสัดส่วนมากน้อยเพียงใด หากเทียบเคียงคดีของนายชาญชัยฯกับการถือครองหุ้นนายพิธา ฯ ระหว่าง 200 หุ้น กับ 42,000 หุ้น โดยเปรียบเทียบราคาหุ้นของนายชาญชัยเพียง 38,000 บาท ส่วนของนายพิธา ราคา 210,000 บาท มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน รัฐธรรมนูญมาตรา 98 (3) เจตนารมณ์ห้าม ผู้สมัคร ส.ส.ถือครองหุ้นสื่อ ไม่ว่าจะถือครองหุ้นสื่อมากหรือน้อยเพียงใด แม้เพียงหุ้นเดียว ย่อมขาดคุณสมบัติในการสมัคร ส.ส.เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (3) เป็นบทบังคับห้ามเด็ดขาด หากเอกสารหุ้นถือครองหุ้น ที่นายเรืองไกรฯคัดถ่ายมาจาก กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เป็นเอกสารราชการที่แท้จริง นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ย่อมขาดคุณสมบัติในการสมัคร ส.ส.