สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลง พท.เน้นเปลี่ยนขั้ว-ก.ก. เปลี่ยนโครงสร้าง
เลือกตั้ง 14 พ.ค.2566 จึงเป็นการเดิมพันของทุกเครือข่ายในสังคมไทย เดิมพันที่จะมาพร้อมสายลมแห่งการ “เปลี่ยนแปลง”
14 พ.ค.2566 วันเลือกตั้ง “เปลี่ยนประเทศไทย” อำนาจในมือประชาชน จะบ่งชี้ความต้องการ บ่งบอกทิศทางการขับเคลื่อนประเทศ จะเดินไปในทิศทางใด และต้องการให้ “ผู้นำ” คนใดมาบริหาร
ปฏิเสธไม่ได้ว่า กว่า 9 ปีบนเก้าอี้นายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรครวมไทยสร้างชาติ คนหลากหลายกลุ่มออกอาการ “เบื่อลุง” ทำให้คะแนนนิยมในตัวของ “พล.อ.ประยุทธ์” ที่คาดว่า จะพุ่งสูง กลับต้องลดระดับลงมา
สวนทางกับคู่แข่งคนละขั้ว โดยทั้งพรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล ที่คะแนนนิยมพุ่งขึ้นเรื่อยๆ จนฉุดไม่อยู่ ส่งผลให้ “ขั้วเสรีนิยม” อาจมีแต้มการเมืองมากกว่า “ขั้วอนุรักษนิยม”
ว่ากันว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ เป็นเดิมพันของสายลมแห่งการเปลี่ยนแปลง หาก “3 ป. - คสช.” ได้ไปต่อ เครือข่ายทางการเมือง คงไม่แข็งแกร่งเท่าเดิม เช่นเดียวกับเครือข่ายมวลชนที่สนับสนุนก็อ่อนแอลง ตรงกันข้ามกับ “ขั้วเสรีนิยม” ที่งานมวลชนจะแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น
โดยโฟกัสหลักอยู่ที่พรรคเพื่อไทย ภายใต้การนำของ “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย ซึ่งก่อนหน้านี้ มีกระแสนิยมนำหน้าคู่แข่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่จู่ๆ ความนิยมกลับเริ่มลดลงในเวลาต่อมา เนื่องจากมีข้อกังขาการจับมือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ จัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งหรือไม่
แม้ “แพทองธาร” จะออกมาย้ำชัดว่า จะไม่จับมือกับ “คนทำรัฐประหาร” แต่ไม่เคยพูดชัดเจนว่า จะไม่ร่วมรัฐบาลกับ “พล.อ.ประวิตร” ทำให้ความแคลงใจของ “ประชาชน” ยังคงอยู่ จนแต้มการเมืองของ “เพื่อไทย” หดหายลงไปจำนวนมาก
ความไม่ชัดเจนของ “เพื่อไทย” มาจากเป้าหมายหลักของ “โทนี่” ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่วางเดิมพันของอนุญาต “กลับบ้าน” จึงถูกจับตาว่า มีความจำเป็นต้องเปิดทางดีลกับ “หัวขบวนอนุรักษนิยม” เพราะต้องไม่ลืมว่ายังต้องอาศัยเสียง 250 ส.ว. มาโหวตเลือกนายกฯ
โดยมีการวิเคราะห์ว่า เสียง 250 ส.ว. ในปีกของ “ประวิตร” มีความเป็นไปได้ที่จะโหวตช่วย “โทนี่-เพื่อไทย” หากดีลเก้าอี้นายกฯ-รัฐมนตรีลงตัว ซึ่งเครือข่ายมูลนิธิป่ารอยต่อต้องกลับมามีอำนาจ
โจทย์ “ทักษิณ”กลับบ้านทิ่มเพื่อไทย
เมื่อ “ทักษิณ” วางเดิมพันแบบเทหมดหน้าตัก ย่อมสะเทือนถึงจุดยืนของ “เพื่อไทย” ถูกมองว่าอุดมการณ์ทางการเมืองไม่มั่นคง ทำให้แต้มการเมืองแกว่งตามไปด้วย
ไม้ตายของ “ทักษิณ” ที่ประกาศ “กลับบ้าน” ภายในเดือน ก.ค.นี้ เพื่อตรึงฐานเสียงในพื้นที่ภาคอีสาน ภาคเหนือ ไม่ให้ไหลไปรวมที่พรรคก้าวไกล แต่เหมือนมนต์รัก “ทักษิณ” ที่คนแดนอีสาน-แดนเหนือ เคยทุ่มเทให้หมดหัวใจ มาวันนี้มนต์รักไม่ขลังเหมือนเก่าก่อน ทำให้กระแส “เพื่อไทย” ปลุกไม่ขึ้น
และแม้ “แพทองธาร-เพื่อไทย” พยายามจะปลุกกระแสขึ้นมาใหม่ ด้วยการชูแคมเปญ “เลือกเพื่อไทยแลนด์สไลด์ ประเทศไทยเปลี่ยนทันที” เพื่อหวังให้ชนะเลือกตั้งแลนด์สไลด์ จัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียว เพราะหากแบ่งแต้มให้ “ก้าวไกล” อาจจะเข้าทาง “ตาอยู่” แต่เสียงตอบรับกลับไม่ดีเท่าที่ควร
เนื่องจากการ “เปลี่ยน” ของ “เพื่อไทย” แค่หวังเปลี่ยนขั้วรัฐบาล ไม่ได้มีเป้าหมาย “เปลี่ยน” โครงสร้างทางการเมือง เหมือนกับ “ก้าวไกล” ที่นำเสนอนโยบายได้ตรงใจประชาชนมากกว่า
“ก้าวไกล”อุดมการณ์หนักแน่น
“ก้าวไกล” กระแสพุ่งขึ้นไม่หยุด โดดเด่นกว่าพรรคการเมืองอื่น เนื่องจากมาจุดยืน-อุดมการณ์ทางการเมืองมั่นคง มาพร้อมกับแคมเปญ “กาก้าวไกล ประเทศไทยไม่เหมือนเดิม”
แม้คะแนนนิยมของ “ก้าวไกล” ไม่พุ่งพรวดเหมือน “เพื่อไทย” แต่กระแสที่ค่อยๆ เพิ่มทีละนิด ก่อนจะมีมอตโต้ “มีลุงไม่มีเรา มีเราไม่มีลุง” สื่อสารตรงใจและชัดเจนว่า หากยังมี “3 ป.” อยู่ในสมการทางการเมือง อยู่ในขั้วรัฐบาล จะไม่มี “ก้าวไกล” อยู่ร่วมอย่างแน่นอน ได้จุดพลิกกระแส ให้พุ่งขึ้นจนฉุดไม่อยู่
ขณะเดียวกันนโยบาย อาทิ ยกเลิกเกณฑ์ทหาร ลดจำนวนกำลังพล ให้ผู้แทนทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลมีส่วนร่วมในการตั้ง ผบ.ตร. นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอผลักดันให้เกิดการปลดล็อกท้องถิ่น ให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯทุกจังหวัด
สำหรับนโยบายด้านการเมือง แก้ไขกฎหมายที่ถูกนำมาใช้ปิดปากหรือทำลายผู้เห็นต่างทางการเมืองทั้ง ม.112, 116, พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และปฏิรูปสถาบันศาลให้ยึดโยงกับประชาชน
นิวโหวตเตอร์เทคะแนน
เกือบทุกนโยบายของ “ก้าวไกล” มุ่ง “เปลี่ยน” โครงสร้างทางการเมืองของประเทศไทย ทำให้มีเสียงตอบรับอย่างล้นหลาม ที่สำคัญ “คนรุ่นใหม่” ต้องการความเห็นความเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างทางสังคม
ขณะเดียวกัน ฐานเสียงนิวโหวตเตอร์ของ “ก้าวไกล” เพิ่มขึ้นในทุกการเลือกตั้ง โดยการเลือกตั้งปี 2562 ผู้ที่มีอายุ 18-24 ปี (เนื่องจากไม่มีการเลือกตั้งมา 6 ปี) จำนวน 6,500,682 คน ปี 2566 ผู้ที่มีอายุ 18-22 ปี (เนื่องจากรัฐบาลมีอายุ 4 ปี) จำนวน 4,012,803 คน
โดยการเลือกตั้งปี 2570 (หากรัฐบาลอยู่ครบเทอม) คาดการณ์มีกลุ่ม First Voter จำนวน 4-5 ล้านคน ทำให้ปี 2570 ฐานเสียงของ “ก้าวไกล” จะมีกว่า 15 ล้านคน ซึ่งคิดฐาน 70% ที่จะเลือก “ก้าวไกล” จะทำให้มีแต้มการเมืองอยู่ในกระเป๋า 10-11 ล้านเสียง
เมื่อกางข้อมูลนิวโหวตเตอร์ ยิ่งทำให้เห็นความน่ากลัวของ “ก้าวไกล” ไม่แปลกที่ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ประธานคณะก้าวหน้า แบ็คอัพคนสำคัญของพรรค ประกาศกร้าวว่า การเลือกตั้งปี 2570 พรรคก้าวไกลจะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล
“อนุรักษนิยม”อ่อนแรง
ตรงกันข้ามกับ “ขั้วอนุรักษนิยม” ที่อ่อนแอลงเรื่อยๆ แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรครวมไทยสร้างชาติ จะยืนหนึ่งอยู่ในขั้ว แต่แต้มการเมืองก็ต้องแย่งกับขั้วเดียวกันเอง ไม่ได้รุกกินแดนไปแย่งแต้ม “ขั้วเสรีนิยม”
ที่สำคัญอัตราแต้มการเมือง “ขั้วอนุรักษนิยม” ลดน้อยถอยลง ตรงกันข้ามกับ “ขั้วเสรีนิยม” ที่แต้มการเมืองจะเพิ่มเติมในทุกครั้งของการเลือกตั้ง
นอกจากนี้ ความอ่อนแรงของพรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคพลังประชารัฐ พรรคชาติไทยพัฒนา ซึ่งส่วนใหญ่ยังหวังพึ่งบริการการเมืองแบบ “บ้านใหญ่” อาศัยเครือข่ายในพื้นที่สู้ศึกเลือกตั้ง อาจจะไม่ได้ผลเชิงบวกเหมือนครั้งก่อนๆ
ปฏิเสธไม่ได้ว่า “บ้านใหญ่” ในหลายพื้นที่อ่อนแรงลง แม้จะมีกระสุนจำนวนมาก แต่กระแสเสมือนคลื่นลมฤาโถมของ “ก้าวไกล” ซัดแรงจนกระสุนอาจจะหมดฤทธิ์ได้
“ทุนการเมือง”อุปสรรคตั้งรัฐบาล
อย่างไรก็ตาม อุปสรรคของ “ก้าวไกล” คือนโยบาย "พังโครงการทางการเมือง" สร้างผลกระทบให้กับหลายภาคส่วน โดยเฉพาะ “นายทุน” ที่แฝงตัวสนับสนุนพรรคการเมืองอยู่เบื้องหลัง แม้กระทั่งพรรคเพื่อไทยเองก็ไม่สามารถปฏิเสธได้อย่างเต็มปากว่าไม่มี “นายทุน” มาเกื้อหนุน
อุปสรรคอีกทางหนึ่งของ “ก้าวไกล” จึงอยู่ที่ “นายทุน” เพราะหาก “ก้าวไกล” ก้าวเข้ามาอยู่ในฝ่ายบริหาร ยากที่ “นายทุน” จะเปิดโต๊ะเจรจาด้วยความสนิทใจ แถมหากคิดเปิดดีลเมื่อไร อาจจะโดนแฉหนักเมื่อนั้น
“นายทุน” ที่อยู่เบื้องหลังพรรคการเมือง จึงต้องทำทุกอย่างเพื่อกีดกัน “ก้าวไกล” ไม่เช่นนั้น จะกระทบต่อความมั่นคง ความมั่งคั่งทางธุรกิจของ “นายทุน” เอง
เป้าหมายของ “ก้าวไกล” ที่จะขอเป็นพรรคร่วมรัฐบาล โดยหมายมั่นปั้นมือจะจับมือกับ “เพื่อไทย” จึงเป็นไปได้ยากพอสมควร เช่นเดียวกับ “เพื่อไทย” หากคิดจับมือกับ “พรรคลุง” เลือกตั้งครั้งต่อไป อาจจะต้องดิ่งลงสู่จุดตกต่ำ
เลือกตั้ง 14 พ.ค.2566 จึงเป็นการเดิมพันของทุกเครือข่ายในสังคมไทย เดิมพันที่จะมาพร้อมสายลมแห่งการ “เปลี่ยนแปลง”