กกต.เตือนห้ามโพสต์บัตรเลือกตั้งที่กาแล้ว จนกว่าจะปิดหีบ ฝ่าฝืนโทษหนัก
"ฐิติเชฎฐ์" กกต.ออกโรงเตือนประชาชน-ชาวโซเชียลฯ วันเลือกตั้ง 14 พ.ค. หลังกาบัตร เลือกผู้สมัคร ส.ส.-พรรคการเมืองแล้ว ห้ามโพสต์รูป จนกว่าจะปิดหีบเวลา 5 โมงเย็น หากฝ่าฝืนเจอโทษหนัก ทั้งจำทั้งปรับ
เมื่อวันที่ 13 พ.ค. 2566 นายฐิติเชฏฐ์ นุชนาฏ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เตือนประชาชนว่า ในการเลือกตั้ง 2566 ในวันที่ 14 พ.ค.นี้ ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง สามารถไปใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้ง ณ หน่วยเลือกตั้งของตนเอง ตั้งแต่เวลา 8.00 - 17.00 น. โดยพึงระวังเรื่องการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง เช่นการซื้อสิทธิขายเสียง การแต่งกายที่มีสัญลักษณ์ของ ผู้สมัคร หรือพรรคการเมือง การทำลายบัตรเลือกตั้ง เป็นต้น
นายฐิติเชฏฐ์ กล่าวถึงข้อห้ามกระทำเกี่ยวกับการโพสต์ผ่านโซเชียลมีเดีย ในระหว่างก่อนถึงเวลาปิดหีบเลือกตั้ง 17.00 น. ว่า หลังจากผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง ได้เข้าคูหา กาบัตรลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเรียบร้อยแล้ว ห้ามผู้ใช้สิทธิโพสต์ลงโซเชียลมีเดีย ถึงการลงคะแนนของตนเอง โดยระบุถึงพรรคที่เลือก หรือ เบอร์ที่เลือก โดยเด็ดขาด ถือว่ามีความผิดตามกฎหมายเลือกตั้ง มีโทษทั้งปรับ และจำคุก
โดยการโพสต์ลงโซเชียลมีเดีย ว่าตนเองได้ไปเลือกพรรคการเมือง หรือผู้สมัคร คนใดมานั้น จะส่งผลต่อการชี้ชวน หรือชักจูง ให้ผู้อื่นมีการลงคะแนนตามที่ตนเองพึงประสงค์ ซึ่งผู้มีสิทธิเลือกตั้ง และสำนักโพลล์ต่างๆจะสามารถเปิดเผยรายละเอียดการลงคะแนนเสียง และผลสำรวจได้ หลังเวลาปิดหีบเลือกตั้ง 17.00 น. ของวันที่ 14 พฤษภาคม 2566
เปิดกฎหมาย พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.
ผู้ใดเปิดเผย หรือเผยแพร่ผลการสํารวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการออกเสียงลงคะแนนในระหว่างเวลา 7 วันก่อนวันเลือกตั้ง จนถึงเวลาปิดการออกเสียง (17.00 น.) ผู้นั้นมีความผิดตามมาตรา 157 มีโทษจําคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
มาตรา 73 ห้ามมิให้ผู้สมัคร หรือผู้ใดกระทําการอย่างหนึ่งอย่างใด เพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ลงคะแนนให้แก่ตนเองหรือผู้สมัครอื่น ให้งดเว้นการลงคะแนนให้แก่ผู้สมัคร หรือการชักชวนให้ไปลงคะแนนไม่เลือกผู้ใดเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้
- จัดทํา ให้ เสนอให้ สัญญาว่าจะให้ หรือจัดเตรียมเพื่อจะให้ ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อื่นใดอันอาจคํานวณเป็นเงินได้แก่ผู้ใด
- ให้ เสนอให้ หรือสัญญาว่าจะให้เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดไม่ว่าจะโดยตรง หรือโดยอ้อมแก่ชุมชน สมาคม มูลนิธิ วัด สถานศึกษา สถานสงเคราะห์หรือสถาบันอื่นใด
- ทําการโฆษณาหาเสียงด้วยการจัดให้มีมหรสพหรือการรื่นเริงต่าง ๆ เว้นแต่เป็นความสามารถของตัวผู้สมัครเอง โดยไม่ใช้อุปกรณ์ในการแสดงมหรสพ
- เลี้ยงหรือรับจะจัดเลี้ยงผู้ใด
- หลอกลวง บังคับ ขู่เข็ญ ใช้อิทธิพลคุกคาม ใส่ร้ายด้วยความเท็จ หรือจูงใจให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมของผู้สมัครหรือพรรคการเมือง
- ผู้ใดฝ่าฝืน มีโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000 - 200,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 20 ปี
มาตรา 79 กำหนดเกี่ยวกับช่วงเวลาหาเสียงเลือกตั้งว่า ห้ามมิให้ผู้ใดทําการโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งโดยวิธีการใดไม่ว่าจะเป็นคุณ หรือเป็นโทษแก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมือง นับตั้งแต่เวลา 18.00 น. ของวันก่อนวันเลือก 1วัน จนสิ้นสุดวันเลือกตั้ง ผู้ที่ฝ่าฝืนมีโทษ จําคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ