ปธ.กกต.ยันสอบคดีหุ้นสื่อ “พิธา” เป็นธรรม หลักฐานต้องชัด เสร็จแล้วจะบอก

ปธ.กกต.ยันสอบคดีหุ้นสื่อ “พิธา” เป็นธรรม หลักฐานต้องชัด เสร็จแล้วจะบอก

ประธาน กกต.อธิบายละเอียด ขั้นตอนประกาศรับรองผลใน 60 วัน อธิบายละเอียดปมแจก “ใบส้ม-ใบแดง” ยันสอบคดีหุ้นสื่อ “พิธา” อย่างเป็นธรรม พยานหลักฐานต้องชัดเจน เมื่อถึงเวลาจะประกาศให้ทราบผลเอง

เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2566 ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. แถลงข่าวตอนหนึ่งถึงการรายงานผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ และการเตรียมประกาศผลการเลือกตั้ง 2566 ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นคือคะแนนจะเผยแพร่ทางการด้วยการติดไว้หน้าหน่วยทุกหน่วย กระบวนการรายงานผลอย่างไม่เป็นทางการที่ปฏิบัติมาราว 99% รวมถึงกระบวนการตรวจสอบเพื่อให้รายงานผลการนับคะแนนอย่างเป็นทางการ จะมีขึ้นไม่เกิน 5 วันหลังจากนั้น กฎหมายบอกว่า กกต.มีหน้าที่ต้องประกาศผลการเลือกตั้งผ่านระบบ 10 วัน นับแต่วันเลือกตั้ง กระบวนการนี้ใช้เวลามากน้อยเพียงใด ประการแรกขึ้นอยู่กับตรวจสอบผลการลงคะแนนก่อน หลังจากนั้นดูว่ามีข้อร้องเรียนอะไรที่จะทำให้ กกต.ต้องมาพิจารณาว่า การเลือกตั้งที่ผ่านมาสุจริตและเที่ยงธรรม หรือต้องให้มีการเลือกตั้งใหม่หรือไม่ ส่วนการบ้าน กกต. ตอนนี้เหลือเวลา 59 วันจาก 60 วัน ถ้านับแต่เมื่อวาน เราจะดำเนินการให้เร็วที่สุด ให้ความเป็นธรรมทุกฝ่าย เพื่อประกาศผลการเลือกตั้ง

เมื่อถามว่า การประกาศรับรองการเลือกตั้งภายใน 60 วัน หาก กกต.นับคะแนนอย่างเป็นทางการแล้วเสร็จ ประกาศทันทีได้เลยหรือไม่ นายอิทธิพร กล่าวว่า อย่างที่เรียนว่าตอนนี้ เมื่อตรวจผลการนับคะแนนแต่ละหน่วยเมื่อถูกต้องจริง ๆ แล้ว หลังจากนั้นกฎหมายจะให้เราดูว่า การเลือกตั้งเมื่อ 14 พ.ค.มีสิ่งไหนไม่สุจริต ไม่เที่ยงธรรม ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และให้ กกต.พิจารณาว่าควรจัดเลือกตั้งใหม่ในหน่วยนั้น หรือเขตนั้นหรือไม่ เกี่ยวพันกับคำร้องว่า มีพยานหลักฐานชัดเจนหรือไม่ หากชัดเจนต้องรีบดำเนินการ ตัดสินว่าการกระทำเช่นนั้น ทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริต ต้องเลือกตั้งใหม่ แต่ถ้าหลักฐานไม่เพียงพอก็ต้องสืบเรื่อย ๆ จนกระทั่งสืบไม่ได้ ต้องประกาศใน 60 วัน แต่ประกาศผลแล้ว ไม่ตัดอำนาจในการสืบสวนเรื่องนั้นต่อไป

เมื่อถามว่า การร้องเรียนกล่าวหานายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กรณีถือครองหุ้นสื่อ จะส่งผลต่อการประกาศรับรอง ส.ส. หรือใช้ระยะเวลารับรองผลมากน้อยแค่ไหน นายอิทธิพร กล่าวว่ามีผลหรือไม่ ต้องขอตอบว่า พอเป็นคำร้องแล้ว เมื่อมายื่นแล้ว ก็เสมือนหนึ่งว่ากำลังเข้าสู่กระบวนการพิจารณา เหมือนกระบวนการศาล การพูดว่ามีผลหรือไม่มีผลอาจไม่เหมาะสม สำหรับคนที่เป็นผู้พิจารณา ที่แน่ ๆ คือมีคำร้องแล้ว พอมีคำร้องแล้ว ทุก ๆ คำร้องเหมือนกันหมด เราจะตรวจสอบเบื้องต้นก่อนว่า เป็นคำร้องตามระเบียบเราหรือไม่ เราในที่นี้คือ คณะกรรมการสืบสวนไต่สวน และ ผอ.กกต.จังหวัด เมื่อรับแล้ว ต้องดำเนินการกระบวนการสืบสวน ไต่สวน ให้ทุกคนให้ถ้อยคำ เพื่อความเป็นธรรม

นายอิทธิพร กล่าวว่า พอผ่านขั้นตอนสืบสวนไต่สวน จะมีขั้นตอนตามลำดับ จาก ผอ.กกต.จังหวัด สู่ส่วนกลาง เรื่องจะมาอยู่ที่ เลขาธิการ กกต. ให้ความเห็น เพื่อเสนอเข้าสู่ที่ประชุม กกต. แต่ก่อนเข้าสู่ที่ประชุม กกต. ต้องมีคณะอนุวินิจฉัยกลั่นกรองก่อนว่า กระบวนการพิจารณาตั้งแต่เบื้องต้น ก่อนเสนอที่ประชุม กกต. เป็นอย่างไร ถึงตัดสิน

“ตอนนี้เรียนได้ว่า คำร้องที่มีผู้มายื่น อยู่ในกระบวนการพิจารณาของเรา ผลการดำเนินการเป็นอย่างไร ก็ต้องใช้เวลา ถึงเวลาต้องประกาศให้ทราบว่าเป็นอย่างไร เราถือว่าทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องเกี่ยวพันกับการกล่าวหาในคำร้อง จำเป็นต้องมีข้อเท็จจริง พยานหลักฐาน และให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายอยู่เสมอ” นายอิทธิพร กล่าว

นายอิทธิพร กล่าวอีกว่า ในส่วนคำร้องเรียนกล่าวหาว่ามีการกระทำผิดเกี่ยวกับการเลือกตั้งจนถึง เวลา 09.00 น.ของวันนี้ ที่ได้รับรายงานมีทั้งหมด 168 เรื่อง แบ่งเป็น เรื่องซื้อเสียง 59 เรื่อง หลอกลวงใส่ร้าย 58 เรื่อง เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบ 18 เรื่อง อื่น ๆ เช่น การฝ่าฝืนกฎหมายการเลือกตั้ง และพรรคการเมืองหลายมาตรา อย่างไรก็ดีหากเทียบกับการเลือกตั้งปี 2562 มีทั้งหมด 552 เรื่อง หวังว่า พัฒนาการที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ ของการมีส่วนร่วมทางการเมือง จะทำให้คำร้องทั้งหมด มีน้อยกว่าปี 2562 หวังว่าอย่างนั้น เพราะจะเป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่า ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหลาย ทั้งผู้สมัคร ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ประชาชนทุกคน ปฏิบัติตามกฎหมาย ไม่ทำการฝ่าฝืนกฎหมาย หวังว่าตัวเลขคำร้องคงไม่สูงกว่าปี 2562

เมื่อถามว่า หลักเกณฑ์ในการแจกใบเหลือง ใบส้ม ใบแดงของ กกต.เป็นอย่างไร นายอิทธิพร กล่าวว่า ใบอื่นที่ไม่ใช่ใบส้ม ต้องยื่นให้ศาลฎีกาตัดสิน หลังประกาศผลการเลือกตั้ง ส่วนใบส้ม กกต.เป็นผู้ให้ตามความผิดต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการฝ่าฝืนกฎหมายเลือกตั้ง และพรรคการเมือง การให้ใบส้มของ กกต.ต้องให้ก่อนประกาศผล ส่วนใบแดงขึ้นอยู่ว่า ในคำร้องนั้น ในคดีนั้น เราเห็นว่าผู้กระทำผิด ต้องรับโทษอย่างไรบ้าง เพิกถอนสิทธิด้วยหรือไม่ หรือโทษทางอาญาเฉย ๆ ต้องให้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายหรือไม่ ถ้าตัดสิทธิไม่ให้สมัคร ไม่ให้เลือกตั้ง จะเป็นใบที่รุนแรงที่สุด แต่ถ้าเป็นการดำเนินคดีหลังจากประกาศผลแล้ว ต้องยื่นศาลฎีกา กกต.ไม่มีอำนาจตัดสินเอง กกต.มีอำนาจตัดสินก่อนประกาศผลการเลือกตั้งเท่านั้น

นายอิทธิพร กล่าวด้วยว่า ส่วนการรายงานเหตุการณ์ในวันเลือกตั้ง 14 พ.ค. 2566 พบมีการฉีกบัตรเลือกตั้ง 24 ราย จำหน่ายสุราช่วงกฎหมายห้าม 7 ราย ถ่ายรูปบัตรที่ให้เห็นเครื่องหมายลงคะแนน 4 ราย