ย้อนโพสต์ คลิป ส.ว.วันชัย สอนศิริ ปมโหวตนายกฯ วันนี้พูดอีกแบบ ไม่เหมือนเดิม

ย้อนโพสต์ คลิป ส.ว.วันชัย สอนศิริ ปมโหวตนายกฯ วันนี้พูดอีกแบบ ไม่เหมือนเดิม

ชื่อของ วันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กำลังถูกพูดถึงเป็นอย่างมากหลังจากที่เมื่อวานนี้ (15 พ.ค.2566) เจ้าตัวได้เผยในกรรมกรข่าวคุยนอกจอ ประเด็นจัดตั้งรัฐบาลของพรรคก้าวไกล

ชื่อของ วันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กำลังถูกพูดถึงเป็นอย่างมากหลังจากที่เมื่อวานนี้ (15 พ.ค.2566) เจ้าตัวได้เผยในกรรมกรข่าวคุยนอกจอ ประเด็นจัดตั้งรัฐบาลของพรรคก้าวไกล ที่ได้คะแนนเสียงมาเป็นอันดับ 1 ซึ่ง ส.ว.วันชัยบอกว่า อันดับ 1 ไม่จำเป็นต้องเป็นรัฐบาลเสมอไป พร้อมกับเสนอให้พรรคก้าวไกลเป็นฝ่ายค้านและให้อีกฝ่ายเป็นรัฐบาลเพื่อความยืนยาว

ส.ว.วันชัย สอนศิริ พูดถึงการจัดตั้งรัฐบาล ที่พรรคก้าวไกล ที่อยู่ระหว่างเจรจาเพื่อรวมเสียงซึ่งคาดว่าจะได้ 310 เสียงจาก 6 พรรคประกอบด้วย พรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย พรรคประชาชาติ พรรคไทยสร้างไทย พรรคเสรีรวมไทย และพรรคเป็นธรรม

อย่างไรก็ตามจำนวนนี้ยังไม่ถึง 376 เสียง ก็ยังไม่สามารถที่จะปิดสวิตช์ ส.ว.ได้ ซึ่งหากก้าวไกลรวมเสียงได้ไม่ถึงจำนวนดังกล่าว ก็อาจจะส่งผลให้ติดเงื่อนไขกติกาทางการเมือง และอาจจะนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลไม่สำเร็จ 

เมื่อวานนี้ใน กรรมกรข่าวคุยนอกจอ ที่มีผู้ดำเนินรายการประกอบด้วย สรยุทธ สุทัศนะจินดา ไก่ ภาษิต และตูน ปรินดา ที่ได้ต่อสายตรงไปพูดคุยกับ ส.ว.วันชัย ซึ่งก็ได้เผยมุมมองว่า พรรคก้าวไกล ไม่ได้ชนะแบบถล่มทลาย (ระดับ 150 เสียง) และอย่าคิดว่าพรรคที่มีเสียงอันดับ 1 จะได้เป็นรัฐบาลเสมอไป 

พรรคก้าวไกลต้องไปรวมเสียง ส.ส.ให้เกินเองในการโหวตนายกฯ ซึ่งก็ได้ยกตัวอย่าง เช่น การรวมกับพรรคภูมิใจไทยหรือพรรคพลังประชารัฐ เพราะถ้าก้าวไกลเจรจาได้ก็ไม่ต้องมากังวลกับเสียงของ ส.ว. 

ส.ว.วันชัย ยังบอกว่า ในโลกของความจริงรัฐบาลต้องประสานทุกฝ่ายให้ได้ ตนมองว่าไม่ได้ตื่นเต้นเพราะพรรคก้าวไกลไม่ได้ชนะถล่มทลายอะไร การที่พรรคได้คะแนนเสียงในระดับ 150 ส.ส. เพื่อไทยก็ได้ในระดับใกล้ๆกัน ฉะนั้น ก็อาจจะเป็นพรรคฝ่ายค้านได้ หรืออีกกรณีก็ควรไปกดดันพรรคการเมืองอื่นๆให้ช่วยโหวตแทน หากรังเกียจ ส.ว. ก็อย่าไปยุ่งกับ ส.ว.

อยากให้ก้าวไกลรอจังหวะเหมาะดีๆ ให้เป็นฝ่ายค้านไปก่อน เพราะเห็นว่าทำหน้าที่ฝ่ายค้านได้ดี อยากให้สะสมประสบการณ์ อาจจะให้เกิดความผิดพลาด เกิดความสะดุด รัฐบาลอาจจะมีอายุไม่ยืนยาว อยากให้อีกฝ่ายเป็นรัฐบาลเพราะยังมีเวลาอีกเยอะ

 "คุณคอยดู สมการทางการเมืองไม่น่าใช่อย่างที่หน้าจอทีวีคิด ผมพูดแค่นี้ ผมเดิมทีเดี๋ยวผมก็คิดว่าจะปิดสวิตช์ตัวเอง แปลว่าเราปฏิเสธ ไม่เห็นด้วย แต่รัฐธรรมนูญเขียนไว้ว่าต้องเขียนให้ถึง 376 แต่ตัวผมเองชัดเจนอย่างที่เรียนมาแล้วตั้งแต่ต้น"

เรื่องนี้กลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ซึ่งหลายๆคนก็ตั้งคำถามว่า การที่ประชาชนไปใช้สิทธิเลือกตั้ง และพรรคการเมืองที่ได้เสียงมากที่สุดควรจะได้เป็นรัฐบาลหรือไม่ และเรียกร้องให้ ส.ว. ควรเคารพมติเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน

ขณะเดียวกัน หากย้อนโพสต์ของ ส.ว.วันชัย ที่เคยได้โพสต์เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2566 เกี่ยวกับการ โหวตนายก ที่ได้รับุข้อความว่า "โหวตนายกที่ก้าวข้ามความขัดแย้ง "

ผมได้ร่วมประชุมกับแกนนำคนสำคัญของส.ว.กลุ่มหนึ่งเมื่อเร็วๆนี้ ณ ที่แห่งหนึ่ง มีการปรึกษาหารือกันเกี่ยวกับ "การโหวตนายก" ได้ข้อสรุปร่วมกันว่า

1. ตามรัฐธรรมนูญเขาให้ส.ส.เป็นคนเสนอชื่อนายก ส.ว.เป็นเพียงคนโหวตสนับสนุนเท่านั้น ไม่มีสิทธิ์ไม่มีอำนาจเสนอนายกโดยตรง ดังนั้น เมื่อใครหรือพรรคใดรวมเสียงส.ส.ส่วนใหญ่ได้มากเกินกว่ากึ่งหนึ่งและเสนอใครเป็นนายก พวกเราก็จะโหวตให้กับคนๆนั้น

2. เป็นไปตามหลักของประชาธิปไตยและตามความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่

3. เป็นความถูกต้องและถูกใจของประชาชน

4. ลดความขัดแย้ง ไม่ก่อให้เกิดปัญหากับประเทศ

5. เป็นผลดีกับทุกฝ่าย ทั้งส.ส. ส.ว.และประชาชน

การโหวตให้กับใครหรือพรรคใดที่ได้เสียงข้างน้อยเป็นนายก จะก่อให้เกิดวิกฤตกับประเทศ ไม่เป็นผลดีกับฝ่ายใดเลย นี่คือความชัดเจนและแนวทางของการสร้างความปรองดอง ก้าวข้ามความขัดแย้งได้จริง

 

 

นอกจากนี้ในโลกโซเชียลยังได้ย้อนคลิปที่ ส.ว.วันชัย เคยลั่นวาจาไว้ในสภาฯ ประเด็นการโหวตเลือกนายกฯ โดยบอกว่า การโหวตนายกฯ ขึ้นอยู่กับ ส.ส. ถ้า ส.ส. รวมกันได้เกิน 250 เสียง ยังไงเสีย ส.ว.ก็ต้องเลือกคนนั้นเป็นนายกรัฐมนตรี

 

ขอบคุณข้อมูลประกอบจาก

ทวิตเตอร์

เฟซบุ๊ก ทนายวันชัย สอนศิริ

กรรมกรข่าวคุยนอกจอ