‘TikTok‘ ตัวแปรส่ง ‘ก้าวไกล‘ ชนะเลือกตั้ง เปลี่ยนความนิยมเป็น ‘คะแนนเสียง‘

‘TikTok‘ ตัวแปรส่ง ‘ก้าวไกล‘ ชนะเลือกตั้ง เปลี่ยนความนิยมเป็น ‘คะแนนเสียง‘

สื่อนอกตีข่าว “ก้าวไกล” สร้างกลยุทธ์เจาะฐานเสียงด้วย “โซเชียลมีเดีย” ดันผู้ติดตามแตะ 2.8 ล้านในเวลาอันจำกัด เปลี่ยนความนิยมบนโซเชียล เป็นคะแนนเสียงจริงได้สำเร็จ

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก (Bloomberg) วิเคราะห์ผลการเลือกตั้ง 2566 อย่างไม่เป็นทางการ โดยระบุว่า พรรคก้าวไกล สร้างข้อได้เปรียบด้วยการบุกโซเชียลมีเดียอย่างแอปพลิเคชันติ๊กต็อก (TikTok) แม้ในช่วงเวลาเดียวกัน พรรคการเมืองขนาดใหญ่หลายพรรคจะใช้สื่อโซเชียลมีเดียเพื่อสื่อสารกับฐานเสียงของตนอยู่แล้วก็ตาม ขณะที่ก้าวไกลสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ เต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ ดึงดูดกลุ่มผู้มีสิทธิเลือกตั้งอายุน้อย หรือ “New Voters” ติดตาม-เทคะแนนให้พรรคได้สำเร็จ

อย่างไรก็ตาม พรรคก้าวไกลก็ไม่ได้ทิ้งวิธีการหาเสียงแบบดั้งเดิม ทั้งการติดโปสเตอร์ตามท้องถนน หรือการเดินหาเสียงแบบเคาะประตูบ้าน แต่การพึ่งพาโซเชียลมีเดียอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะ “TikTok” ได้กลายเป็นเครื่องชี้วัดว่า ฐานคะแนนจากโลกออนไลน์ แปรเปลี่ยนเป็นคะแนนโหวตจริงได้ ซึ่งก้าวไกลเดินเกมได้ดีกว่าพรรคการเมืองอื่นๆ อย่างเห็นได้ชัด

บลูมเบิร์กชี้ว่า นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่สื่อออนไลน์มีบทบาทสำคัญในการเลือกตั้ง ประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียเองก็มีกรณีแบบนี้ให้เห็นเช่นเดียวกัน โดยพรรคอิสลามมาเลเซีย พรรคการเมืองฝั่งอนุรักษ์นิยมใช้สื่อโซเชียลมีเดียในการสร้างฐานเสียง จนสามารถคว้าที่นั่งในสภาฯ ได้มากที่สุดในการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2565 ที่ผ่านมา ด้านฟิลิปปินส์ “เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์” (Ferdinand Marcor Jr.) ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีแบบ “แลนด์สไลด์” ได้ไปมากถึง 31 ล้านเสียง ด้วยการบุก “TikTok” และ “YouTube” 

สำหรับสถิติบนโซเชียลมีเดียของก้าวไกลนั้น พบว่า ในช่วงวันใกล้เลือกตั้ง พรรคก้าวไกลมีผู้ติดตามเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด สำหรับ “TikTok” ของพรรค เพิ่มขึ้นจาก 400,000 คน เป็น 2,800,000 คน ในช่วงเวลา 1 เดือนเศษ นอกจากนี้ บัญชีทวิตเตอร์ของแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีอย่าง “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” มีผู้ติดตามทะลุ 1,000,000 คน ก่อนวันลงคะแนนเสียงเพียงไม่นาน 

ไม่ใช่แค่พรรคและแคนดิเดตนายกฯ เท่านั้นที่ได้รับคะแนนนิยมด้วยการใช้เครื่องมือสื่อโซเชียล แต่ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอย่าง “รักชนก ศรีนอก” ที่เป็นที่รู้จักครั้งแรกจากการพูดคุยแลกเปลี่ยนบนคลับเฮ้าส์ (Clubhouse) ก็ได้รับความสนใจด้วยเช่นกัน โดยวิธีการหาเสียงของเธอที่ถูกพูดถึงเป็นวงกว้าง คือ การใช้จักรยานเป็นพาหนะในการหาเสียงไปรอบๆ บริเวณ รวมถึงมีกระดานไวต์บอร์ดพกพาไประหว่างเดินเท้าหาเสียงตามชุมชน โดยรักชนกจะให้ชาวบ้านในละแวกเขียนข้อมูลที่เธอควรรู้ลงบนกระดาน จากนั้น จึงนำเสนอนโยบายพรรคที่สามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้

ณพล จาตุศรีพิทักษ์ จากสถาบันเอเชียอาคเนย์ศึกษา ยูซุฟ อิสฮัค (ISEAS Yusof-Ishak Institute) องค์กรวิชาการอิสระในประเทศสิงคโปร์ ให้ความเห็นว่า ปรากฏการณ์นี้ค่อนข้างแปลกใหม่สำหรับการเมืองไทย พรรคก้าวไกลสามารถใช้โซเชียลมีเดียเพื่อการสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด สื่อสารโดยตรงกับผู้สนับสนุนของตัวเองได้อย่างดีเยี่ยม ที่เห็นได้ชัดที่สุด คือ พรรคก้าวไกลสามารถกวาดคะแนนเสียงจากกรุงเทพฯ ไปได้ถึง 32 ที่นั่ง จากทั้งหมด 33 ที่นั่ง โดยอีก 1 ที่นั่ง คือ ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย ซึ่งมีการใช้โซเชียลมีเดียในการสื่อสารกับฐานเสียงของตัวเองเช่นกัน 

“พวกเขาใช้แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียเป็นสะพานเชื่อมระหว่างขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมกับสภาผู้แทนราษฎร ไม่มีพรรคการเมืองใดทำได้แบบนี้อีกแล้ว” ณพลให้ความเห็น

 

อ้างอิง: Bloomberg