ควันหลงเลือกตั้ง “พรรคเล็ก-พรรคจิ๋ว” ได้คะแนนสูงผิดปกติ ?
“พรรคเล็ก-พรรคจิ๋ว” เบอร์พรรคเลขตัวเดียว ได้คะแนนสูงหลักแสน เป็นอานิสงส์ที่เกิดขึ้นจากประชาชน “งงเบอร์” หรือไม่ ?
ควันหลงจากสนามเลือกตั้งใหญ่ ปรากฏว่า “พรรคเล็ก-พรรคจิ๋ว” ยังคาใจ ถึงขั้นตั้งทีมศึกษา เตรียมทำวิจัยเรื่องเบอร์ผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขต ที่ชนะเลือกตั้งในแต่ละเขต (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเบอร์เลขตัวเดียว เพราะผู้สมัครไม่เยอะมาก) ทำให้ประชาชนลงคะแนนเบอร์เดียวกันนั้นในบัตรสีเขียว “บัญชีรายชื่อ” หรือ “บัตรพรรค” ทำให้พรรคที่ได้เบอร์ 1-10 มีคะแนนเลือกตั้งสูงอย่างมีผิดปกติ และอย่างมีนัยยะสำคัญหรือไม่
โดยหากพิจารณาคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ จะเห็นว่าเบอร์ 1-10 มี “พรรคใหญ่” ที่คนรู้จักทั้งประเทศแค่พรรคเดียว คือ “พรรคภูมิใจไทย” ที่เหลือเป็นพรรคเล็กที่ไม่มีพื้นที่สื่อมากนัก แต่ว่าทุกพรรคได้คะแนนหลักแสน (ยกเว้นภูมิใจไทยได้หลักล้าน)
แต่พอเบอร์ 10 เป็นต้นไป โดยเฉพาะเบอร์ท้ายๆ จะได้แค่หลักพัน 4-5 พัน หรือ 7-8 พัน ถ้าถึงหมื่น ก็แค่หมื่นต้นๆ ไม่เกิน 2 หมื่น ยกเว้น “พรรคเล็ก” ที่มีพื้นที่สื่ออยู่บ้าง จึงจะได้เยอะหน่อย เช่น “พรรคไทยภักดี”
“คุณกฤษอนงค์ สุวรรณวงศ์” หัวหน้าพรรคภาคีเครือข่ายไทย ตั้งข้อสังเกตว่า พรรคเล็กที่ได้เบอร์ต้นๆ ได้คะแนนหลักแสน และหลายพรรคได้ “ส.ส.บัญชีรายชื่อ” 1 คน จึงน่าพิจารณาว่ามีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากชาวบ้านจำเบอร์พรรคที่ต้องการเลือกไม่ได้ หรือมีการหาเสียงแบบ “ยิงลูกโดด” หาเสียงเฉพาะเบอร์ผู้สมัครระบบเขต ชาวบ้านจึงเลือกเบอร์เดียวกับเบอร์ผู้สมัครระบบเขตที่ตัวเองเลือกหรือไม่
เช่น ราชบุรี เขต 1 “เบอร์ 1” เป็นผู้สมัครแบบเขตของ “พรรครวมไทยสร้างชาติ” ที่ชนะการเลือกตั้ง (คุณกุลวลี นพอมรบดี) ได้คะแนน 52,941 คะแนน ส่งผลให้ เบอร์ 1 ชื่อ “พรรคใหม่” ได้คะแนนไป 2,283 คะแนน (จากเขตเลือกตั้งเดียว)
หรือ กระบี่ เขต 1 “เบอร์ 2” เป็นผู้สมัครของ “พรรคภูมิใจไทย” ชนะการเลือกตั้ง ได้คะแนนไป 39,520 คะแนน ส่งผลให้ “เบอร์ 2” ของ “พรรคประชาธิปไตยใหม่” ได้คะแนนไป 3,289 คะแนน หรือราวๆ 10% ของเบอร์ผู้สมัครแบบเขต
ที่น่าพิจารณาก็คือ หลายๆ เขตที่ผู้สมัครแบบเขต ชนะด้วยคะแนนหลายหมื่นคะแนน แต่พรรคที่ตนเองสังกัด กลับได้คะแนนในเขตนั้นน้อยกว่าพรรคที่เบอร์เดียวกับผู้สมัครที่ชนะ
เช่น เชียงใหม่เขต 9 “ผู้สมัครพลังประชารัฐ เบอร์ 6” เป็นผู้ชนะ ได้มา 31,170 คะแนน แต่คะแนน “พรรคพลังประชารัฐ เบอร์ 37" กลับได้น้อยกว่าเบอร์ “พรรคครูไทยเพื่อประชาชน เบอร์ 6” เบอร์เดียวกับผู้สมัครพลังประชารัฐ แบบนี้เป็นต้น
แม้ข้อสังเกตนี้จะพิสูจน์ยาก เพราะประชาชนในเขตนั้นๆ อาจชื่นชอบนโยบายของพรรคเล็ก พรรคจิ๋วเหล่านี้ก็ได้ แต่ผลการเลือกตั้งที่ออกมา ก็ทำให้ “คุณกฤษอนงค์ สุวรรณวงศ์” หัวหน้าพรรคภาคีเครือข่ายไทย เรียกร้องว่า กกต.ควรจะศึกษาเรื่องนี้หรือไม่ เพราะพรรคเล็กที่เสียประโยชน์มองว่า ไม่เป็นธรรม กับพวกตน และถ้าข้อสังเกตเหล่านี้เป็นจริง ทำให้เกิดคำถามว่า คะแนนเลือกตั้งที่บางพรรคได้รับ ตรงกับเจตจำนงของประชาชนที่เลือกจริงๆ หรือ