รู้จัก ‘AI จับโกง’ นโยบายปราบคอร์รัปชัน ของพรรคก้าวไกล
ปัจจุบันจำนวนโครงการภาครัฐมีจำนวนหลักแสน บุคลากรตรวจสอบก็ไม่เพียงพอ อีกทั้งข้อมูลที่เปิดเผยสู่สาธารณะบางส่วนก็ถูกจำกัด นโยบาย AI จับโกงของพรรคก้าวไกลจะมาแก้ปัญหานี้อย่างไร และมีการทำงานลักษณะใด
Key Points
- นโยบาย AI จับโกง ถูกเสนอโดย ส.ส.ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ของพรรคก้าวไกล ผู้เคยเป็นอดีตผู้บริหาร Absolute บริษัทซอฟต์แวร์ด้านระบบคลาวด์
- AI ที่พรรคก้าวไกลพัฒนานี้ ไม่ใช่รูปแบบเรียนรู้ด้วยตัวเอง (Deep Learning) เหมือน ChatGPT แต่เป็น AI แบบ Logic-Based ซึ่งใส่เงื่อนไขต่าง ๆ เข้าไปใน AI เพื่อตรวจสอบโครงการภาครัฐ
- AI จับโกงจะบรรลุผลสำเร็จได้ ต้องมาพร้อมฐานข้อมูลภาครัฐที่เป็นระเบียบและเชื่อมโยงถึงกัน
“ไทย” ประเทศที่ถูกกัดเซาะจากปัญหาคอร์รัปชันมายาวนาน เมื่อเราอ่านข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ จะพบข่าวการทุจริตเต็มไปหมด ไม่ว่าจะเป็นการอนุมัติโครงการผิดสเปค การฮั้วประมูล หรือแม้แต่ความไม่ปกติของราคา อย่างเช่น เสาไฟกินรี ที่อบต.ราชาเทวะ จังหวัดสมุทรปราการ ทุ่มเงินติดตั้ง ในราคาต้นละเฉียดแสน จนสังคมตั้งคำถาม กระทั่งเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายในที่สุด
ทุกครั้งที่มีการตั้งข้อสงสัยถึงความไม่ชอบมาพากลในการใช้เงินภาษีประชาชนโดยเหล่าผู้มีอำนาจทั้งหลาย ปัญหาหนึ่งที่มักเจอก็คือ ประชาชนทั่วไปเข้าถึงข้อมูลโครงการค่อนข้างยาก ข้อมูลกระจัดกระจายในหลายหน่วยงาน อีกทั้งข้อมูลที่เปิดเผยก็ไม่ครบถ้วนด้วย
ดังนั้น จะดีกว่าไหมถ้าจะทำข้อมูลที่กระจัดกระจาย ไม่ได้อยู่ในฟอร์แมตเดียวกันนี้ ให้เป็นมาตรฐานเดียวกันและประชาชนเข้าถึงง่าย
การตรวจสอบโครงการรัฐต่าง ๆ ได้กลายเป็นกระแสสาธารณะขึ้น เมื่อพรรคก้าวไกล พรรคที่ได้คะแนนเลือกตั้งสูงสุดเสนอนโยบายที่ชื่อว่า “นโยบาย AI จับโกง” นับเป็นพรรคอันดับต้น ๆ ที่มีการปรับใช้เทคโนโลยีอย่างปัญญาประดิษฐ์หรือ AI ตรวจสอบการทุจริตภาครัฐ
- นโยบาย AI จับโกง
นโยบาย AI จับโกง ถูกเสนอโดย ส.ส.ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ของพรรคก้าวไกล ผู้เคยเป็นอดีตผู้บริหารบริษัท Absolute ธุรกิจซอฟต์แวร์ด้านระบบคลาวด์ จนกลายเป็นนโยบายสำคัญของพรรค
- ส.ส.ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ (เครดิต: พรรคก้าวไกล) -
“AI จับโกง” นี้ คุณณัฐพงษ์ให้รายละเอียดว่า ไม่ใช่รูปแบบเรียนรู้ด้วยตัวเอง (Deep Learning) เหมือน ChatGPT แต่เป็น AI แบบ Logic-Based ซึ่งเป็นการใส่เงื่อนไขต่าง ๆ เข้าไปใน AI ในการตรวจสอบโครงการภาครัฐ เงื่อนไขที่วางไว้ใน AI ก็ยกตัวอย่างเช่น
- ระยะเวลาในการเปิดประมูลสั้นเกินไป
- จำนวนผู้ร่วมประมูลน้อยเกินไป
- รายชื่อผู้รับเหมาที่มักชนะการประมูลเป็นประจำ จนคล้ายการผูกขาด
- ราคาชนะประมูล ใกล้เคียงราคากลางมากเกินไปจนผิดปกติ
เมื่อ AI ตรวจพบโครงการที่เข้าข่ายเงื่อนไขดังกล่าว ก็จะขึ้นธงแดง (Red Flag) ในโครงการนั้น ซึ่งไม่ได้หมายความว่าโครงการนั้นจะเกิดการทุจริตขึ้น แต่หมายถึง โครงการดังกล่าวมีความผิดปกติบางอย่างที่ควรเข้าไปตรวจสอบเพิ่มเติม
ปัจจุบัน โครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐมีจำนวนหลักแสน และข้อมูลก็มหาศาล การใช้ AI ตรวจสอบนี้จะช่วยแบ่งเบาภาระพนักงานตรวจสอบได้
- พัฒนาฐานข้อมูลที่เป็นมาตรฐาน เชื่อมโยงถึงกัน
การจะทำให้นโยบาย AI จับโกงสำเร็จได้นั้น จำเป็นต้องวางโครงสร้างพื้นฐานของฐานข้อมูลรัฐให้เป็นระเบียบมากที่สุด โดยทั่วไป ฐานข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ มักกระจายไปตามหลายหน่วยงาน ข้อมูลที่เปิดเผยสู่สาธารณะก็มักอยู่ในรูปแบบ PDF ซึ่งตรวจสอบและจัดระเบียบได้ยากกว่ารูปแบบ Excel
ยิ่งไปกว่านั้น ข้อมูลภาครัฐบางส่วนก็มีการบันทึกลงในกระดาษเท่านั้น ดังนั้นการจะทำให้ AI จับการทุจริตได้บรรลุผลนั้น จำเป็นต้องแปลงข้อมูลของหลายหน่วยงานให้อยู่ในฟอร์แมตเดียวกัน หากเป็นกระดาษก็ควรบันทึกลงในรูปแบบออนไลน์ โดยเมื่อจัดข้อมูลให้อยู่ในแหล่งเดียวกัน และมาตรฐานเดียวกันได้แล้ว ก็ง่ายต่อการใช้อัลกอริทึม AI ตรวจความผิดปกติของโครงการ
การสร้างฐานข้อมูลรัฐที่เชื่อมโยงถึงกันได้ ยังเป็นผลดีต่อประชาชนในการติดต่อราชการด้วย เพราะโดยทั่วไป เมื่อประชาชนติดต่อราชการ ก็ต้องใช้เอกสารกระดาษ และติดต่อหลายหน่วยงานถึงจะดำเนินเรื่องสำเร็จ
เหตุผลเพราะข้อมูลแต่ละหน่วยงานแยกจากกัน ดังนั้น ถ้าทำข้อมูลให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน เชื่อมโยงกันอย่างสมบูรณ์ ก็จะทำให้การทำธุระทางราชการอาจจบในที่เดียวได้
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันภาครัฐมีโครงสร้างพื้นฐานข้อมูลไว้ระดับหนึ่งแล้ว อาทิเว็บไซต์ “ภาษีไปไหน” ซึ่งเป็นระบบรายงานข้อมูลการใช้จ่ายภาครัฐ รวมไปถึง เว็บไชต์ www.info.go.th ศูนย์รวมข้อมูลเพื่อติดต่อราชการ มีบริการค้นหาข้อมูลการให้บริการภาครัฐ จุดบริการภาครัฐ เพื่ออำนวยความสะดวกประชาชนและผู้ประกอบการในศึกษาขั้นตอน และการเตรียมหลักฐานก่อนการติดต่อทำธุรกรรมกับภาครัฐ ซึ่งพัฒนาโดย สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA ตลอดจนสามารถแสดงความคิดเห็นความพึงพอใจหลังเข้ารับบริการ เพื่อการประเมินผลสัมฤทธิ์ของงานบริการภาครัฐ
ดังนั้น ถ้าทางพรรคก้าวไกลต่อยอดจากฐานข้อมูลเดิม ซึ่งภาครัฐมีการวางระบบไว้บางส่วนแล้ว ก็จะช่วยให้ข้อมูลส่วนราชการไทยเชื่อมโยงกันมากยิ่งขึ้น กลายเป็นฐานข้อมูลสาธารณะระดับใหญ่ที่ภาคประชาชนและสื่อมวลชนร่วมตรวจสอบได้
สำหรับโครงการ AI จับโกงนี้ คาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ภายใน 2 ปี และระหว่างนี้ทางพรรคก้าวไกลระบุว่า จะมีการผลักดันให้เกิดพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารในการประชุมสภาชุดหน้า เพื่อเป็นกฎหมายบังคับให้ภาครัฐที่ใช้ภาษีประชาชนต้องเปิดเผยข้อมูลสู่สาธารณะอย่างครบถ้วน
อ้างอิง: moveforwardparty, blognone, krungsri, dga