‘สุญญากาศ’ ก่อนได้ ‘รัฐบาลใหม่ป้ายแดง’
หากรัฐบาลใหม่เข้ามาทำงานได้เร็ว จะยิ่งจัดการปัญหาต่างๆ ได้ทันเวลา จะออกนโยบาย หรือจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ให้ขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้เร็วที่สุด พลิกเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวตามที่ได้คาดการณ์
ประเทศไทยมีการจัดการเลือกตั้งทั่วประเทศไปเมื่อวันที่ 14 พ.ค.2566 ‘พรรคก้าวไกล’ ได้รับจำนวน ส.ส.มากที่สุดเป็นอันดับ 1 ประกาศจัดตั้งรัฐบาล และแถลงความพร้อมจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับอีก 8 พรรคการเมือง
ตามกฎหมายคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะต้องการประกาศรับรองผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ ภายใน 60 วันหลังการเลือกตั้ง
ขณะที่ความพยายามตั้งรัฐบาลของพรรคก้าวไกล และพรรคร่วมก็ดำเนินไป กว่าจะผ่านด่าน ผ่านเงื่อนไขต่างๆ ไปได้ ก็ลุ้นกันเหงื่อตก ท่ามกลางการเฝ้ารอของภาคประชาชน สังคม ธุรกิจ
ความพยายามตั้งรัฐบาล ดำเนินมาถึงขั้นลงนามบันทึกความเข้าใจ หรือ เอ็มโอยู ของบรรดาพรรคที่ร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล
เอ็มโอยู เป็นรูปแบบการจัดทำหนังสือที่แสดงความประสงค์ของบุคคล หรือนิติบุคคลสองฝ่ายหรือมากกว่านั้นที่จะทำความร่วมมือกันโดยเต็มใจ ในการปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ระบุ มีการวางแผน ทำงานร่วมกันในภาพกว้าง
หากหลังจากนี้ การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ก็ยังต้องฝ่าอีกด่านที่สำคัญ คือ ขั้นตอนการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ที่ต้องใช้เสียงในการโหวตที่มากพอ กระบวนการต่างๆ ในแต่ละขั้นตอนต้องใช้ระยะเวลา ประเทศไทยในห้วงนี้ จึงอยู่ภาวะ “สุญญากาศ”
แม้ประเทศจะมีรัฐบาลรักษาการ และคณะรัฐมนตรี แต่การปฏิบัติหน้าที่ก็ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขต่างๆ เช่น ไม่อนุมัติงาน โครงการที่สร้างความผูกพันกับ ครม.ใหม่ ยกเว้นเป็นเรื่องที่อยู่ในงบประมาณประจำปีอยู่แล้ว ไม่แต่งตั้ง โยกย้าย ข้าราชการ พนักงาน หรือไม่อนุมัติการใช้งบกลาง ฯลฯ
ดังนั้น การจัดตั้งรัฐบาล ถ้าจะทำให้เร็วขึ้นก็น่าจะยิ่งเป็นผลดีต่อประเทศที่ต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นหลังการเลือกตั้ง โดยเฉพาะการพลิกฟื้นเศรษฐกิจ รวมถึงการเดินหน้าทำตามนโยบายที่พรรคการเมืองได้หาเสียงกับประชาชนไว้
ภาคธุรกิจเองก็คาดหวังว่า การจัดตั้งรัฐบาลจะเป็นไปอย่างราบรื่น แต่ยังกังวลว่า กระบวนการจัดตั้งรัฐบาลที่มีความ "ล่าช้า” เกินไป จะเกิดสุญญากาศทางเศรษฐกิจ กระทบกับการเบิกจ่ายงบประมาณใหม่ ทำให้ประเทศเสียโอกาสฟื้นตัว และอาจเป็นตัวทำลายบรรยากาศการลงทุน
ท่ามกลางเศรษฐกิจไทยที่อยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ หากรัฐบาลใหม่เข้ามาทำงานได้เร็ว จะยิ่งจัดการปัญหาต่างๆ ได้ทันเวลา จะออกนโยบาย หรือจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ให้ขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้เร็วที่สุด พลิกเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวตามที่ได้คาดการณ์ แต่หากยืดเยื้อจะกระทบต่อภาคธุรกิจปรับตัวไม่ทันกับภาวะเศรษฐกิจและการแข่งขันในตลาด ทั้งกระทบต่อการอนุมัติงบประมาณใหม่ที่จะเป็นงบลงทุนต่างๆ ของภาครัฐอันจะมีผลต่อจีดีพีประเทศ