ทางออกชิง ‘ประธานสภาฯ’ วัดใจ ‘ก้าวไกล’ปล่อยกระทรวงเกรดเอ
กระทรวงเกรดเอแลก‘ประธานสภาฯ’ ‘ก้าวไกล’ อาจถอยสุดซอย ยอมเสียเก้าอี้ใหญ่ วัดเกม ‘เพื่อไทย’ สบช่อง ขอเลือกกระทรวงเอง
ศึกชิงเก้าอี้ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ระหว่าง พรรคก้าวไกล กับ พรรคเพื่อไทย น่าจะยื้อกันไปอีกระยะ จนกว่าจะใกล้ถึงวันที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รับรองผลการเลือกตั้งได้ถึง 95% ซึ่งจะสามารถเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้ จังหวะนี้ จึงมีเวลาในการต่อรองตำแหน่งสำคัญได้อย่างเต็มที่
เกมหน้าฉาก บรรดานักรบหน้าจอ จะถูกผลักออกมาแสดงบทบูเต็มที่ โดยฝั่ง “ก้าวไกล” ยืนยันจะไม่ยอมยกเก้าอี้ “ประธานสภาฯ” ให้ “เพื่อไทย” เช่นเดียวกับ “เพื่อไทย” ไม่ยอมลดราวาศอก พร้อมส่งคนมาชิงเก้าอี้นี้เช่นกัน
“ศิริกัญญา ตันสกุล” รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะผู้เจรจาหลัก ออกมาแจกแจงถึงเหตุผล ความจำเป็นที่ก้าวไกลต้องมีตำแหน่งนี้ โดยระบุว่า “4 ปี ตำแหน่งของประธานสภาฯ มีความสำคัญมากแค่ไหน ในการอำนวยความสะดวก หรือขัดขวางการออกกฎหมาย เพื่อประโยชน์ของประชาชน ดังนั้นเราจึงต้องมีตำแหน่งในส่วนนี้ ยืนยันว่าเราจะผลักดันวาระการแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยอย่างราบรื่น”
สะท้อนให้เห็นเจตนารมณ์อันแน่วแน่ของ “ก้าวไกล” ที่ต้องท้ารบชิงเก้าอี้ประธานสภาฯ เนื่องจากต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นมรดกบาปจากยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มีการเขียนรัฐธรรมนูญวางกลไกการสืบทอดอำนาจไว้หลายเงื่อนไข อาทิ นายกรัฐมนตรีจากการเลือกตั้ง ต้องผ่านด่าน ส.ว.ร่วมโหวต คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่วางบิ๊กเหล่าทัพ และเครือข่ายขั้วอำนาจเก่าไว้เป็นแผง
เมื่อใกล้จะเข้าสู่อำนาจ “ก้าวไกล” เตรียมแผนชำระมรดกบาปไว้หมดแล้ว ทุกตำแหน่งที่จำเป็นต้องวางตัว-วางคนของตัวเองไปกุมบังเหียน “ขุนพลก้าวไกล” จำเป็นต้องสู้ไม่มีถอย
ขณะเดียวกัน “ศิริกัญญา” อัพเดทความคืบหน้าการจัดตั้งรัฐบาลว่า “มีการเดินหน้าเจรจา ส.ว.แล้ว 19 ท่าน เพื่อขอให้สนับสนุนให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งอยู่ทิศทางไปในทิศทางบวก”
ทว่า แต้มของขั้วจัดตั้งรัฐบาลลดลงเหลือ 312 เสียง ทำให้ต้องมีเสียง 250 ส.ว. อย่างน้อย 67 เสียงมาโหวตสนับสนุน เมื่อบวกกับ 19 ส.ส. ที่อยู่ระหว่างการเจรจา “ขั้วจัดตั้งรัฐบาล” จะมี 331 เสียง ขาดอีก 45 เสียง จะครบ 376 เสียง ส่ง “พิธา” นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีสำเร็จ
ฟากฝั่ง “เพื่อไทย” ยังไร้สัญญาณยกธงยอมแพ้ โดย “ประเสริฐ จันทรรวงทอง” เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ผู้เจรจาของพรรคลำดับ 2 ออกมาระบุว่า “ตำแหน่งประธานสภาฯ เป็นตำแหน่งที่สำคัญ เป็นศักดิ์ศรีของประเทศ เป็นหมายเลข 1 ของนิติบัญญัติ ฉะนั้นการตั้งประธานสภาต้องใช้ความละเอียดอ่อน”
ถอดรหัสจากคำพูด “ประเสริฐ” พออ่านใจได้ว่าเมื่อ “พิธา-ก้าวไกล” นั่งเบอร์ 1 ของฝ่ายบริหาร ซึ่งเป็นหน้าตาของประเทศ เพื่อตำแหน่งเบอร์ 1 ฝ่ายนิติบัญญัติ ควรแบ่งให้เพื่อไทย เนื่องจากจำนวนเสียง ส.ส.ในสภา เพื่อไทยมีน้อยกว่าก้าวไกลเพียง 10 เสียง
อย่างไรก็ตาม “ประเสริฐ” ยังเปิดช่องการพูดคุยเอาไว้ว่า “อยากให้มีการพูดคุยกันเพื่อหาทางออก และเป็นสิ่งที่พรรคเพื่อไทยเคยประสานงานไปแล้ว จึงอยากให้บรรยากาศการทำงานเป็นไปได้ด้วยดี เพราะได้ลงนามเอ็มโอยูไปแล้ว ไม่อยากให้บางเรื่องมาเป็นอุปสรรค”
การพูดคุยในทางการเมือง ย่อมหมายถึงการเจรจาต่อรองเก้าอี้อำนาจ หากก้าวไกลยึดทั้งเก้าอี้นายกฯ-ประธานสภาฯ เก้าอี้รัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ ย่อมต้องเปิดทางให้เพื่อไทยได้มีโอกาสเลือกด้วยตัวเอง ไม่ใช่ก้าวไกลจะเป็นฝ่ายจัดแบ่งมาให้
ที่ผ่านมาแม้จะมี “ข่าวปล่อย” การต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรี โดยก้าวไกลเลือกกระทรวงเพื่อสานต่อนโยบายที่หาเสียงเอาไว้ พุ่งเป้าไปที่กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการคลัง แต่ฝั่งเพื่อไทยยืนยันทั้งวงเปิด-วงลับ ว่ายังไม่มีการพูดคุยเกี่ยวกับการแบ่งกระทรวง
อย่างไรก็ตาม ล่าสุดมี “ข่าวปล่อย” จากพรรคเพื่อไทย ยอมรับว่าก้าวไกลเริ่มพูดคุยเรื่องตำแหน่งรัฐมนตรี โดยก้าวไกลขอกระทรวงที่เกี่ยวกับความมั่นคง ทั้งกลาโหม มหาดไทย รวมถึงกระทรวงการคลัง ตามที่มีกระแสข่าวออกมาก่อนหน้านี้
ขณะเดียวกัน ก้าวไกลเสนอตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม เกษตรและสหกรณ์ การท่องเที่ยวและกีฬา ให้กับเพื่อไทย ซึ่ง “บิ๊กเพื่อไทย” ยังไม่พอใจเท่าที่ควร
เมื่อมีสมการเก้าอี้ “ประธานสภาฯ” แรงต่อรองของเพื่อไทยอาจจะเพิ่มขึ้น หากต้องยกตำแหน่งประมุขฝ่ายนิติบัญญัติให้กับก้าวไกล กระทรวงเกรดเอต้องให้เพื่อไทย ได้มีโอกาสเลือกด้วยตัวเอง ซึ่งหากตกลงกันได้ เพื่อไทยอาจยอมถอย เลิกยื้อเก้าอี้ประธานสภาฯ จนถึงขั้นเสนอชื่อไปโหวตแข่ง
ทว่าต้องจับตาดูว่า ก้าวไกลจะยอมให้เพื่อไทยได้เลือกกระทรวงเกรดเอ ได้ตามใจชอบโดยเฉพาะกระทรวงเศรษฐกิจทั้งแพคหรือไม่ เพราะหากยังยึดมั่นว่าต้องเป็นฝ่ายจัดสรรโควตาให้พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลเท่านั้น ก็อาจไม่พ้นเกิดเรื่องกระทบกระทั่งอย่างหลีกลี่ยงไม่ได้
สถานการณ์ในวันนี้ ก้าวไกลยอมถอยไม่เสนอแก้มาตรา 112 ในนามพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล แต่จะไม่ปล่อยเก้าอี้ประธานสภาฯหลุดมือไปอย่างแน่นอน ดังนั้นจึงอยู่ที่ผลการเจรจาในรอบต่อไปว่า จะยอมถอยถึงระดับไหนเพื่อให้การจัดตั้งรัฐบาลเดินหน้าต่อไปได้
บทสรุป “รัฐบาลก้าวไกล” จะได้ไปต่อ หรือเดินมาถึงทางตัน อยู่ที่ 2 พรรคหลัก จะแสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง กันได้มากน้อยเพียงใด อีก 2 สัปดาห์เป็นกรอบที่ก้าวไกลวางเอาไว้