ย้อนรอย 25 ประธานสภา เก้าอี้อำนาจ “พรรคอันดับ 1”
"ก้าวไกล" เคลื่อนเกม ชิงเก้าอี้ "ประธานสภา" เพื่อหวัง ดัน45 ร่างกม. ให้สำเร็จ ทว่าสิ่งที่ "ส.ส.ก้าวไกล" ตระหนักดี ความสำเร็จนั้น มีหลายองค์ประกอบ-ปัจจัย ทั้งเสียงโหวต และ "พลังนายทุน"
ตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 มาถึงปัจจุบัน 2566 สภาผู้แทนราษฎรของประเทศไทย ผ่านการมี “ประธานสภาผู้แทนราษฎร” มาแล้ว 25 คน
บุคคลที่ดำรงตำแหน่งในระยะแรก ตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงปกครอง พ.ศ.2475 - 2500 ล้วนมีปัจจัยมาจาก “สายสัมพันธ์-ความใกล้ชิด-เชื่อถือ” ของผู้ถือครองอำนาจ และได้รับการแต่งตั้งให้ทำหน้าที่
นับจากปี 2512 เป็นต้นมาถึงปัจจุบัน คุณสมบัติของประธานสภา มีปัจจัยมาจากการครองเสียงข้างมากของ พรรคการเมืองที่ได้รับเลือกตั้งเป็น "พรรคอันดับหนึ่ง” ยกเว้น 2 ครั้งในสมัย
- รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ พรรคประชาธิปัตย์ ที่มีเสียงข้างมาก 179 เสียง ในปี 2551 มอบตำแหน่งประธานสภาฯ ให้ “ชัย ชิดชอบ” จากภูมิใจไทย ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาลอันดับ 2 ที่มี 34 เสียง
- รัฐบาลประยุทธ์ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” จากพรรคพลังประชารัฐ ปี 2562 ที่ครองเสียงข้างมาก 115 เสียง ช่วงประชาธิปไตยเปลี่ยนผ่าน ได้มอบตำแหน่งให้ “ชวน หลีกภัย” จากพรรคประชาธิปัตย์ ที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาลอันดับ 2 มี 52 เสียง
เพราะเพลี่ยงพล้ำต่อ “เกมต่อรอง” การเมืองช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการตั้งไข่เป็นรัฐบาล
หากนับ “ประธานสภาฯที่อายุน้อยที่สุด” ทั้ง 25 คน จะพบว่าผู้ที่ดำรงตำแหน่งประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ อายุน้อยที่สุด คือ “อุทัย พิมพ์ใจชน” ซึ่งขึ้นมารับตำแหน่งประธานสภาฯ คนที่ 13 เมื่อ 19 เมษายน 2519 ในวัย 38 ปี ซึ่งขณะนั้นสังกัดพรรคประชาธิปัตย์
แม้การเป็น “ประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ” ครั้งแรกของ “อุทัย” จะมีช่วงระยะเวลาสั้นๆ เพียง 6 เดือน เพราะมีการรัฐประหาร แต่ต่อมาอุทัย ยังได้รับเลือกให้เป็นประธานสภาฯ อีก 2 ครั้ง เมื่อ 27 เมษายน 2526 ในสังกัดพรรคก้าวหน้า และเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2544 ในสมัยรัฐบาลพรรคไทยรักไทย
รองลงมา คือ “พึ่ง ศรีจันทร์” ประธานสภาฯ คนที่ 7 ได้รับแต่งตั้งเมื่อ 13 พฤษภาคม 2490 ในวัย 40 ปี ต่อมาคือ “เกษม บุญศรี” ที่ได้รับเลือกให้เป็นประธานสภาฯ คนที่ 6 เมื่อ 4 มิถุนายน 2489 ในวัย 41 ปี และ “เกษม” ยังรับเลือกให้เป็นประธานสภาฯอีกครั้ง เมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2491
พล.ร.ต.พระยาศรยุทธเสนี (กระแส ประวาหะนาวิน) ได้รับตำแหน่งประธานสภาฯคนที่ 3 เมื่อ 6 กรกฏาคม 2486 ในวัย 45 ปี
ยงยุทธ ติยะไพรัช ประธานสภาฯ คนที่ 23 แต่งตั้งเมื่อ 24 มกราคม 2511 ในวัย 47 ปี และ ชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ รับตำแหน่งประธานสภาฯ คนที่ 15 เมื่อ 5 สิงหาคม 2529 ในวัย 48 ปี และได้รับตำแหน่งประธานสภาฯ อีกครั้งเมื่อ 28 พฤษภาคม 2562
โดยแต่ละยุคแต่ละสมัยของประธานสภาฯ ที่อายุน้อย ตามการบันทึกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ไม่พบปัญหาของการทำหน้าที่
แตกต่างจากยุคสมัยหลังๆ ที่พบว่า “ผู้ที่ถูกเลือก” ให้ทำหน้านี้ มักเป็นผู้ที่ “นาย” วางหมากไว้อย่างเหมาะสมเพื่อ “รับงาน” ให้ลงล็อคกับจังหวะของ “เกมชิงอำนาจ” ในยุคสมัยนั้น
เช่น ยุคของ “ขุนค้อน” สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ที่ถูกวางให้เป็น “ผู้พิทักษ์รัฐบาล” และเดินเกมนิรโทษกรรมสุดซอย เพื่อพา “นายใหญ่” กลับบ้าน
แน่นอนว่า ในสมัยของรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 มีช่องว่างที่ทำให้ประธานสภาฯ สามารถทำหน้าที่เพื่อเอื้อประโยชน์ทางการเมืองได้ ในห้วงที่ “ฝ่ายค้าน” อยู่ในภาวะเป็ดง่อย ไม่สามารถตรวจสอบหรือถ่วงดุลรัฐบาลเสียงข้างมากในสภาฯได้
ทว่า ในรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 มีบทที่ขีดกรอบการทำหน้าที่ “ประมุขนิติบัญญัติ” ไว้ 2 ประเด็นสำคัญ คือ ต้องวางตัวเป็นกลางในการทำหน้าที่ และระหว่างดำรงตำแหน่ง ห้ามเป็นกรรมการบริหารหรือรับตำแหน่งใดในพรรคการเมือง เพื่อเป็นหลักประกันว่าประธานสภาฯต้องเป็นประธานสภาฯ ของทุกพรรค และทำหน้าที่เพื่อประโยชน์ของส่วนรวมอย่างแท้จริง
นอกเหนือจากบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันแล้ว ยังพบว่าประธานสภาฯต้องยึดข้อบังคับการประชุมเป็นกุญแจหลักของการทำงาน พ่วงกับกติกาว่าด้วยจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองด้วย เพราะหากละเลย หรือจงใจละเว้น ย่อมถูกร้องเรียน ถูกตรวจสอบในแง่ “จริยธรรม” ได้
ขณะเดียวกัน การทำหน้าที่ของประธานสภาฯ ตามที่ “อุทัย พิมพ์ใจชน” ในวัยใกล้ครบ 85 ปี ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนไว้เมื่อ 25 พฤษภาคม 2566 คือ
“ประธานสภาฯ ต้องทำหน้าที่เหมือนคอนดักเตอร์ ควบคุมการประชุมให้มีบรรยากาศสนุกสนาน ไม่ให้ ส.ส. โดดร่ม หากผู้ฟัง ฟังจนจบได้ดี ก็ประทับใจ ประธานสภาฯ เช่นกัน ต้องควบคุมการประชุมให้ราบรื่น ไม่จำเป็นต้องแม่นข้อบังคับการประชุม”
นึกถึงยุคที่ “ชัย ชิดชอบ” ที่ใช้ความเก๋าฉบับ “ร้อยเล่มเกวียน” คุมเกมสภาฯได้อยู่หมัด และสามารถทำให้สภาฯประคองเสถียรภาพรัฐบาลได้จนถึงวาระยุบสภา
สำหรับการทำงานของประมุขของสภาฯ ไม่ใช่ทำงานแบบโดดเดี่ยว เพราะมีข้าราชการ-เจ้าหน้าที่ของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรที่เชี่ยวชาญด้านข้อกฎหมายและระเบียบเป็นกองหนุน เห็นได้จากในสมัยของ “ชวน หลีกภัย” ที่มีทีมทำงานเป็น “นักกฎหมายฝีมือดี” ทำหน้าที่ดูแลและเป็นทีมปรึกษาข้อกฎหมายต่างๆ ทำงานทั้ง “หน้าและหลังบัลลังก์” รวมไปถึงคณะทำงานให้กับรองประธานสภาฯด้วยเช่นกัน
ขณะที่ “ก้าวไกล” ซึ่งชูประเด็นการผลักดันกฎหมาย 45 ฉบับ ผ่านกลไกนิติบัญญัติ หลังจากที่เปิดประชุมสภาฯ ได้ ซึ่งสะท้อนนัยให้เห็นความสำคัญของตำแหน่งประธานสภาฯ ที่ไม่สามารถปล่อยให้พรรคอื่นได้
ทว่า ตำแหน่งประธานสภาฯ เพียงตำแหน่งเดียวนั้น ไม่สามารถทำความหวังของ “ก้าวไกล” ที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านการเมือง-ปากท้อง-มีอนาคต ให้สำเร็จได้ เพราะแม้ประธานสภาฯ จะมีอำนาจตัดสินใจว่า เรื่องใดที่สมควรบรรจุในระเบียบวาระ เพราะ
เมื่อเข้าสู่ชั้นพิจารณาแล้ว คนที่ชี้วัดว่าร่างกฎหมายใด ญัตติใดจะได้ไปต่อ คือเสียงเห็นชอบที่เป็นเสียงข้างมากของ ส.ส.ในสภาฯ
ทั้งนี้ 313 เสียงของ 8 พรรคร่วมรัฐบาล ก็หาใช่เครื่องการันตีว่าร่างกฎหมายของก้าวไกลจะได้รับความเห็นชอบ ซึ่งเรื่องนี้ ส.ส.พรรคก้าวไกลย่อมรู้ดี เพราะเคยมีบทเรียนในการโหวต รายงานของกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการขุดคลองไทยและการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ สภาผู้แทนราษฎร ที่มีคนของพรรคเพื่อไทยเป็นประธาน กมธ.
หลังรายงานถูกคว่ำ มีเสียงร่ำลือให้แซดจากใต้ถุนสภาฯ ว่า “มีบางพรรคยอมให้ต่างชาติเข้ามาแทรกแซง เพราะกลัวว่าจะสูญเสียผลประโยชน์”
ในข้อนี้เชื่อว่าก้าวไกลตระหนักดีว่า ลำพัง ส.ส.151 เสียงไม่สามารถผลักดัน 45 ร่างกฎหมายได้สำเร็จ เพราะยังมีองค์ประกอบอีกหลายปัจจัย โดยเฉพาะการฝ่าด่าน “นายทุน” ผู้มีอิทธิพลที่อยู่เบื้องหลัง “มือ” ของพรรคการเมืองต่างๆ.
รายชื่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ตั้งแต่ปี 2535 - ปัจจุบัน
นับตั้งแต่หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ปี 2535 ประเทศไทย หรือ 31 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีประธานสภาฯ เป็นใครบ้าง และมาจากพรรคการเมืองใด
ปี 2535 มารุต บุนนาค จากพรรคประชาธิปัตย์ ในรัฐบาลนำโดยชวน หลีกภัย (พรรคประชาธิปัตย์ ที่นั่ง ส.ส. สูงสุดในสภา 79 เสียง)
ปี 2538 พล.ต.บุญเอื้อ ประเสริฐสุวรรณ จากพรรคชาติไทย ภายใต้รัฐบาลบรรหาร ศิลปอาชา (พรรคชาติไทย ที่นั่ง ส.ส. สูงสุดในสภา 92 เสียง)
ปี 2539 วันมูหะมัดนอร์ มะทา พรรคความหวังใหม่ เป็นประธานสภาฯ รัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ์ (พรรความหวังใหม่ ที่นั่ง ส.ส. สูงสุดในสภา 125 เสียง)
ปี 2543 พิชัย รัตตกุล พรรคประชาธิปัตย์ รัฐบาลนายชวน หลีกภัย หรือ “รัฐบาลชวน 2” (มิ.ย.- พ.ย. 2543 โดยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ เป็นรัฐบาลในเดือน พ.ย. 2540 จากการดึง ส.ส. พรรคประชากรไทย ชิงตั้งรัฐบาล หลังจากนายชวลิต ยุงใจยุทธ์ ลาออกจากนายกฯ )
ปี 2544 อุทัย พิมพ์ใจชน พรรคไทยรักไทย รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร (พรรคไทยรักไทย ที่นั่ง ส.ส. สูงสุดในสภา 248 เสียง)
ปี 2548 โภคิน พลกุล พรรคไทยรักไทย รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร (พรรคไทยรักไทย ที่นั่ง ส.ส. สูงสุดในสภา 377 เสียง)
ปี 2551 ยงยุทธ ติยะไพรัช พรรคพลังประชาชน รัฐบาลสมัคร สุนทรเวช (พรรคพลังประชาชนที่นั่ง ส.ส. สูงสุดในสภา 233 เสียง)
ปี 2551 ชัย ชิดชอบ พรรคภูมิใจไทย (ระหว่างดำรงตำแหน่งสังกัดพรรคพลังประชาชน) สมัยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ หลังจากมีการยุบพรรคการเมือง 3 พรรค ได้แก่ พลังประชาชน ชาติไทย และมัชฌิมาธิปไตย นายชัย ย้ายไปสังกัดพรรคภูมิใจไทย ซึ่งเปลี่ยนขั้วมาเข้าร่วมรัฐบาลกับประชาธิปัตย์
ปี 2554 สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ พรรคเพื่อไทย รัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (พรรคเพื่อไทย ที่นั่ง ส.ส. สูงสุดในสภา 265 เสียง)
ปี 2557 พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
ปี 2562 ชวน หลีกภัย พรรคประชาธิปัตย์ (ที่นั่งในสภา 52 เสียง พรรคอันดับ 4 ) รัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (พรรคพลังประชารัฐ 116 เสียง)