เปิดโผ ‘ตัวเต็งประธานสภาฯ’ ก้าวไกล-เพื่อไทย ว่าที่รัฐบาลพิธา

เปิดโผ ‘ตัวเต็งประธานสภาฯ’ ก้าวไกล-เพื่อไทย ว่าที่รัฐบาลพิธา

เปิดโผ “ตัวเต็งประธานสภาฯ” หลังบรรยากาศการจัดตั้งรัฐบาลฝุ่นตลบร่วมสัปดาห์ ด้าน “ก้าวไกล​” ส่ง “ณัฐวุฒิ-ธีรัจชัย-ปดิพัทธ์-พริษฐ์” เต็งประมุขนิติบัญญัติ “เพื่อไทย” ดัน “หมอชลน่าน” หัวหน้าพรรคชิงบัลลังก์ “เดอะอ๋อย” จาตุรนต์ ฉายแสง ลูกหม้อไทยรักไทยมีชื่อด้วย

Key Points:

  • กระแส “ประธานสภาฯ” เป็นที่พูดถึงตลอดสัปดาห์ นอกจากจะมีสมาชิกพรรคการเมืองออกมาให้ข้อมูลแล้ว ฝั่ง “โหวตเตอร์” เอง ก็มีการปะทะคารมผ่านโซเชียลมีเดียเช่นกัน
  • อำนาจหน้าที่ของ “ประธานสภาฯ” นอกจากการควบคุมความเรียบร้อยของการประชุมแล้ว ยังสามารถวินิจฉัย-ตีตกญัตติที่สมาชิกสภาฯ เสนอ เพื่อดันวาระเข้าสภาฯ ด้วย ซึ่งเป็นอีกเหตุผลสำคัญที่ถูกตั้งข้อสังเกตว่า ด้วยอำนาจหน้าที่นี้ จึงทำให้ตำแหน่งประธานสภาฯ เป็นที่ต้องการของทั้งสองพรรคการเมือง
  • กำหนดการเลือกประธานสภาฯ จะเกิดขึ้นภายใน 15 วันหลัง กกต.รับรองผลการเลือกตั้ง โดยทั้งสองพรรคยังไม่มีความชัดเจนว่า จะเป็นพรรคใดที่ส่งตัวแทนชิงตำแหน่ง ทั้งยังมีคำสัมภาษณ์จากสมาชิกพรรคเพื่อไทยบางส่วนด้วยว่า ให้ใช้วิธีการ “Free Vote” แทน 

บรรยากาศการจัดตั้งรัฐบาลยังอลหม่านต่อเนื่อง ภายหลังพรรคก้าวไกลนำทีมแถลงข่าวลงนามเซ็น MOU กับพรรคร่วมเพื่อจัดตั้งรัฐบาลให้แล้วเสร็จ ได้มีกระแสข่าวออกมาเป็นระยะ ทั้งโผรายชื่อฟอร์มทีมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รวมถึงความเคลื่อนไหวของตำแหน่งประธานสภาฯ โดยเป็นตำแหน่งที่ทั้งสองพรรคมีความต้องการทั้งคู่ กระทั่งประเด็นดังกล่าวเริ่มลุกลามไปยังกลุ่มโหวตเตอร์ (Voter) ทั้งสองพรรค รวมถึงนักการเมือง-สมาชิกพรรคบางส่วนก็ออกมาแสดงความคิดเห็นผ่านโซเชียลมีเดียด้วย

อย่างไรก็ตาม มีการคาดการณ์ "ตัวเต็งประธานสภาฯ" จากทั้งสองพรรคร่วมบางส่วน ฝั่งพรรคก้าวไกลที่แม้จะไม่เคยดำรงตำแหน่งวิปรัฐบาลมาก่อน แต่ในฐานะพรรคร่วมฝ่ายค้าน “ก้าวไกล” สามารถทำผลงานโดดเด่น โดยมีรายชื่อติดโผ 4 คน ได้แก่

  1. นายณัฐวุฒิ บัวประทุม ว่าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 12
  2. นายธีรัจชัย พันธุมาศ ว่าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต 18 กรุงเทพมหานคร
  3. นายปดิพัทธ์ สันติภาดา ว่าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต 1 จังหวัดพิษณุโลก
  4. นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ว่าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 11

ฟาก “เพื่อไทย” ถูกพูดถึงตามกระแสข่าว 2 คน

  1. นายชลน่าน ศรีแก้ว ว่าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต 2 จังหวัดน่าน
  2. นายจาตุรนต์ ฉายแสง ว่าที่สมาชิกสภาผู้แทนราศฎร แบบบัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 13

ทั้งนี้ อดิศร เพียงเกษ อดีตรัฐมนตรีช่วยฯ และอดีต ส.ส. หลายสมัย สังกัดพรรคเพื่อไทยได้เสนอว่า ให้ใช้หลักการ “Free Vote” หรือการลงคะแนนลับในการเลือกประธานสภาฯ แทน ซึ่งอาจเกิดการเสนอชื่อแข่งกันระหว่างก้าวไกลและเพื่อไทย ข้อเสนอดังกล่าวจึงยิ่งเป็นการ “โหมไฟ” ให้หนักขึ้น นำไปสู่คำถามสำคัญที่ว่า ตำแหน่งประธานสภาฯ มีอำนาจหน้าที่และความสำคัญอย่างไร ทำไมจึงเป็นที่ต้องการมากเพียงนี้ รวมไปถึงข้อถกเถียงเรื่อง “พรรษา” ของนักการเมืองในตำแหน่งประธานสภาฯ ว่า มีความสำคัญหรือไม่

เปิดโผ ‘ตัวเต็งประธานสภาฯ’ ก้าวไกล-เพื่อไทย ว่าที่รัฐบาลพิธา

  • อำนาจหน้าที่ของ “ประธานสภาฯ”

รัฐธรรมนูญปี 2560 บัญญัติให้ประธานผู้แทนราษฎรเป็นประธานรัฐสภา และให้ประธานวุฒิสภาเป็นรองประธานรัฐสภาโดยตำแหน่ง ความสำคัญและหน้าที่ของประธานสภา คือ เป็นประธานที่ประชุม กำกับดูแลการดำเนินการของสภา ควบคุมรักษาความสงบเรียบร้อยในสภา ทั้งการใช้วาจา ปิดไมค์ หรือยุติข้อขัดแย้งด้วยการวินิจฉัยของประธาน ซึ่งไม่ว่าจะมาจากพรรคการเมืองขั้วใด ประธานสภาฯ จะต้องดำรงตนเป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่เสมอ

นอกจากนี้ หน้าที่สำคัญซึ่งเป็นบทบาทภายหลังการเปิดประชุมสภานัดแรกและมีการเลือกประธานและรองประธานสภาฯ แล้วเสร็จ ประธานสภาฯ จะต้องเป็นผู้นำชื่อนายกรัฐมนตรีทูลเกล้าฯ ต่อองค์พระมหากษัตริย์ หลังลงมติโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี เพื่อโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีตามขั้นตอนบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ

กรอบหน้าที่โดยรวมของประธานสภาฯ ไม่เพียงแต่เป็นประมุขในองค์ประชุมเท่านั้น แต่ประธานสภาฯ ยังมีอำนาจในการบรรจุญัตติเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุม สั่งพักประชุม เลิกประชุม จนถึงการตีตกญัตติก่อนเข้าสภาฯ เนื่องจาก ประธานสภามีอำนาจในการวินิจฉัยว่า ญัตติดังกล่าวอาจขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญ

โดยในรัฐบาลก่อนหน้านี้ หลายประเด็นของพรรคก้าวไกลเคยถูกตีตกไป เนื่องจาก ชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ ชุดที่ผ่านมาระบุว่า ญัตติดังกล่าวขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 คือ องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ซึ่งญัตติที่พรรคก้าวไกลเคยเสนอก็มีทั้งการแก้ไขกฎหมายในการคุ้มครองเสรีภาพ 5 ฉบับ รวมถึงญัตติขบวนเสด็จที่ทำให้มีผู้ถูกดำเนินคดี ม.112 จำนวน 5 คน

 

  • อีกนานแค่ไหนกว่าจะได้ “ประธานสภาฯ” คนใหม่

กรอบเวลาในการเลือกประธานสภาฯ คนใหม่ ต้องรอให้ทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รับรองผลการเลือกตั้งภายใน 60 นับจากวันเลือกตั้ง คือ วันที่ 13 กรกฎาคม 2566 จากนั้น ภายใน 15 วันหลังรับรองผล จะมีการเรียกประชุมสภานัดแรก คือ ภายในวันที่ 27 กรกฎาคม 2566 เพื่อเลือกประธานสภาฯ โดยเงื่อนไขของผู้ถูกเสนอชื่อต้องมีคุณสมบัติหลักๆ สองข้อ คือ ต้องถูกเสนอชื่อจาก ส.ส. เท่านั้น และแต่ละคนสามารถเสนอชื่อได้เพียงชื่อเดียว โดยต้องมีผู้รับรองไม่น้อยกว่า 20 คน

ทั้งนี้ ในวาระเปิดประชุมนัดแรกเพื่อเลือกประธานสภาฯ ผู้อาวุโสที่สุดในสภาฯ จะทำหน้าที่เป็นประธานสภาฯ ชั่วคราว ซึ่งในครั้งนี้ คือ พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ อายุ 89 ปี จากพรรคเพื่อไทย และในกรณีที่ประธานสภาฯ ชั่วคราวได้รับการเสนอชื่อให้เป็นประธานสภาฯ หรือรองประธานสภาฯ ครั้งนี้ ให้ผู้อาวุโสรองลงมาทำหน้าที่ประธานสภาฯ ชั่วคราวแทน คือ นายไพโรจน์ โล่ห์สุนทร อายุ 86 ปี จากพรรคเพื่อไทย เป็นผู้ที่คาดว่าจะได้ทำหน้าที่ดังกล่าว

เมื่อได้รับการเสนอชื่อแล้ว ผู้ถูกเสนอชื่อจะต้องกล่าวแสดงวิสัยทัศน์ต่อที่ประชุมโดยไม่มีการอภิปราย และหากในที่ประชุมมีการเสนอชื่อเพียงชื่อเดียวจะถือว่า บุคคลนั้นได้รับเลือกเป็นประธานสภาฯ แต่หากมีหลายคน ให้สมาชิกสภาฯ ออกเสียงด้วยการลงคะแนนลับในคูหา

เปิดโผ ‘ตัวเต็งประธานสภาฯ’ ก้าวไกล-เพื่อไทย ว่าที่รัฐบาลพิธา

 

  • ใครเป็นใครในกระแส “ตัวเต็งประธานสภาฯ”

พรรคก้าวไกล

ทางฝั่งก้าวไกลด้วยความที่เป็นพรรคอันดับ 1 และเป็นแกนในการจัดตั้งรัฐบาล จึงมีโผว่าที่ประธานสภาฯ หลายคนด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น ธีรัจชัย พันธุมาศ ที่เริ่มต้นเส้นทางการเมืองจากการเป็นทีมกฎหมายพรรคไทยรักไทย โดย ธีรัจชัย เคยเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กระทรวงพลังงาน และสำนักนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ดำรงตำแหน่งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณากฎหมายสภาผู้แทนราษฎร 20 กว่าคณะ พ.ศ. 2547 และคณะกรรมการนโยบายแห่งชาติว่าด้วยการพัฒนากฎหมายคณะที่ 2 พ.ศ. 2547

นอกจากนี้ ธีรัจชัย ยังมีผลงานการอภิปรายที่โดดเด่นเป็นที่จดจำมาถึงทุกวันนี้ จากการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในรัฐบาลประยุทธ์ ปมค้ายาและเคยจำคุกในคดียาเสพติดที่ประเทศออสเตรเลีย จนเกิดเป็นวลีฮิต “มันคือแป้ง”

ด้าน ณัฐวุฒิ บัวประทุม เป็นมือกฎหมายของพรรคก้าวไกล จบปริญญาตรีและโทด้านนิติศาสตร์ ทำให้มีความแม่นยำด้านข้อกฎหมาย และบทบาทในพรรคเอง ณัฐวุฒิดำรงตำแหน่งรองหัวหน้าพรรค ในฐานะคณะกรรมการวินัยและจรรยาบรรณสมาชิกพรรคก้าวไกลด้วย โดยต่อมา เจ้าตัวเปิดเผยภายหลังกระแสดังกล่าวว่า ตนพร้อมที่จะทำหน้าที่ประธานสภาฯ แม้อายุงานทางการเมืองจะยังไม่มากนัก แต่เชื่อมั่นว่า ประธานสภาฯ ไม่ได้ทำหน้าที่อย่างโดดเดี่ยว ยังรายล้อมไปด้วยเพื่อนสมาชิกและข้าราชการสภาที่สามารถให้คำแนะนำตนได้

ส่วน ปดิพัทธ์ สันติภาดา หรือ “หมออ๋อง” สัตวแพทย์หนุ่มที่สามารถล้มแชมป์เก่าในพื้นที่อย่าง น.พ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ในการลงสมัคร ส.ส. เขต 1 จ.พิษณุโลก และครั้งนี้ก็ยังคงรักษาเสียงในพื้นที่ได้เช่นกัน หมออ๋องโดดเด่นในการอภิปรายในสภา กรณีตีแผ่ปมทุจริตกองทัพ ผ่านโครงการกู้บ้านพักทหาร ที่เป็นต้นตอของโศกนาฏกรรม “กราดยิงโคราช” 

เปิดโผ ‘ตัวเต็งประธานสภาฯ’ ก้าวไกล-เพื่อไทย ว่าที่รัฐบาลพิธา  -พริษฐ์ วัชรสินธุ ว่าที่ ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล-

คนสุดท้ายจากพรรคก้าวไกล ที่แม้ว่าชื่อของเขาจะโลดแล่นบนถนนสายการเมืองมาพักใหญ่ แต่ พริษฐ์ วัชรสินธุ ยังไม่เคยมีโอกาสได้เข้าสภาในฐานะผู้แทนราษฎรสักที หลังจากที่พริษฐ์เคยเปิดตัวในฐานะ “New Dem” และตัดสินใจลาออกภายหลังพรรคประชาธิปัตย์ยกมือโหวตให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย พริษฐ์จึงเปลี่ยนเส้นทางใหม่ โดยเริ่มจากการเป็นแกนนำกลุ่ม “Re-solution” รื้อระบอบประยุทธ์ ร่วมกับไอลอว์ (iLaw) จากนั้น พริษฐ์ตัดสินใจร่วมงานกับพรรคก้าวไกล ในฐานะผู้จัดการการรณรงค์สื่อสารนโยบายพรรคก้าวไกล (Policy Campaign Manager) และต่อมา จึงลงสมัครรับเลือกตั้ง 2566 และได้รับเลือกเป็นว่าที่ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 11 พรรคก้าวไกล

พรรคเพื่อไทย

ชื่อแรกที่ถูกจับตามองและมีกระแสหนุนนั่งประธานสภาฯ ได้แก่ ชลน่าน ศรีแก้ว เคยมีผลงานโดดเด่นเป็นดาวสภาฯ ด้วยการอภิปรายที่สร้างสรรค์ พร้อมข้อมูลชัดเจน เป็นผู้นำฝ่ายค้านที่สามารถคุมเกมในสภาได้อยู่หมัด ทั้งยังแม่นในเรื่องข้อบังคับด้วยชั่วโมงบินสูง ปัจจุบัน ชลน่านดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และยังเป็น ส.ส. เขต 2 จ.น่าน ติดต่อกัน 6 สมัยด้วย 

โดยเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคมที่ผ่านมา ประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า ตำแหน่งประธานสภาฯ เป็นตำแหน่งที่สำคัญ เป็นศักดิ์ศรีของประเทศ ต้องใช้ความละเอียดอ่อนในการทำงาน แม้ว่าตอนนี้ทางพรรคจะยังไม่ได้มีการหารือว่าจะเสนอชื่อใคร แต่หากถามว่า หมอชลน่านมีความเหมาะสมหรือไม่ ประเสริฐให้ความเห็นว่า ชลน่านเป็น ส.ส. มาหลายสมัย และแม่นเรื่องข้อบังคับ รวมถึงยังเป็นหัวหน้าพรรคด้วย หากเสนอชื่อชลน่านในการโหวตประธานสภาฯ ก็นับว่าเหมาะสม

เปิดโผ ‘ตัวเต็งประธานสภาฯ’ ก้าวไกล-เพื่อไทย ว่าที่รัฐบาลพิธา -จาตุรนต์ ฉายแสง ว่าที่ ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย-

ภายใต้ฝุ่นอันคละคลุ้งในศึกชิงเก้าอี้ประธานสภาฯ ก็มีชื่อของ “เดอะอ๋อย” จาตุรนต์ ฉายแสง ว่าที่ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทยติดโผ โดยจาตุรนต์นับเป็นนักการเมืองลูกหม้อคนหนึ่งของพรรค เพราะอยู่มาตั้งแต่ไทยรักไทย ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีหลายสมัย เป็นหนึ่งในผู้นำทัพของพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) ที่ต่อมาถูกตัดสินยุบพรรค หลังจากนั้นไม่นาน จาตุรนต์ ก็ตัดสินใจกลับเข้าสังกัดพรรคเพื่อไทยอีกครั้ง 

จาตุรนต์ มีประวัติทางการเมืองที่โชกโชนไม่น้อย เพราะเขาคือหนึ่งในนักศึกษาผู้ร่วมขบวนการ “6 ตุลา 19” โดยมีชื่อจัดตั้งว่า “สหายสุภาพ” และภายหลังการรัฐประหาร 2557 โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) “เดอะอ๋อย” ถูกทหารควบคุมตัว และยังเป็นบุคคลแรกที่ถูกไต่สวนในศาลทหารเนื่องจากไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่งคสช. ด้วยประวัติทางการเมืองอันยาวนาน ทำให้จาตุรนต์เป็นที่เคารพนับถือของโหวตเตอร์พรรคเพื่อไทยหลายคน และมองว่า มีความเหมาะสมทั้งคุณวุฒิ วัยวุฒิ และพรรษาทางการเมืองที่ไม่ต้องอธิบายให้มากความ

อย่างไรก็ตาม จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีข้อสรุปว่า พรรคร่วมรัฐบาลจะส่งใครชิงเก้าอี้ประธานสภาฯ จะเปิด “Free Vote” ในสภาตามคำสัมภาษณ์ของ อดิศร เพียงเกษ หรือไม่ และนี่จะเป็นรอยร้าวครั้งใหญ่ระหว่างเพื่อไทยและก้าวไกลยาวนานเพียงใด คงต้องติดตามต่อไปอย่างใกล้ชิด

 

อ้างอิง: BBC ThaiMove Forward PartyCH7NaewnaSpring NewsThai PBSThairathVoice TVTODAY