นักกฎหมาย ชี้ ก้าวไกล ตั้งรัฐบาลช้า การเมืองพลิกขั้ว ตัวแปร "ภูมิใจไทย -ส.ว."
"นักกฎหมาย" ชี้ "ก้าวไกล" ฟอร์มทีมรัฐบาลช้า ส่อการเมืองพลิกขั้ว ตัวแปร "ภูมิใจไทย -ส.ว." รวมทั้งปม 3 พรรคเล็กฟ้องศาลปกครองล้มกระดานเลือกตั้ง
วันที่ 30 พฤษภาคม 2566 จากกรณี 8 พรรคการเมือง จำนวน 313 เสียง ลงนามใน MOU ฟอร์มทีมจัดตั้งรัฐบาล นัดประชุมเพื่อเสนอให้ตั้งคณะทำงานเปลี่ยนผ่านรัฐบาล และการแบ่งโควต้ากระทรวงต่างๆนั้น
ล่าสุด นายณัฐวุฒิ วงศ์เนียม มือกฎหมายมหาชน ระบุถึงทิศทางการเมืองในการฟอร์มทีมรัฐบาล ในรายการจับขั้ว จัดตั้งรัฐบาล 66 The Room 44 ว่า การเมืองไทยภายหลังเลือกตั้ง เข้าสู่ภาวะการเมือง สามขั้วอำนาจ ตนขอเรียกว่า “การเมืองสามก๊ก” แบ่งได้ชัดเจน
ขั้วอำนาจแรก เป็นขั้วของพรรคก้าวไกล ที่ชนะการเลือกตั้งครองเสียงข้างมากในสภา ตั้งแท่นฟอร์มทีมรัฐบาลอยู่ โดยจับมือกับพรรคเพื่อไทยและพรรคการเมืองอื่นอีก รวม 313 เสียง ส่วนอำนาจขั้วที่สอง เป็นขั้วอำนาจพรรคการเมืองระดับกลาง ได้แก่ ภูมิใจไทย พลังประชารัฐ และประชาธิปัตย์ พร้อมจะพลิกเกมไปขั้วไหน ขั้วนั้น จัดตั้งรัฐบาลได้ทันที
ส่วนขั้วอำนาจที่สาม คือ ขั้วอำนาจเก่า รัฐบาลที่รักษาการอยู่ในขณะนี้ คือ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หัวหอกสำคัญและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่คว้า 36 ที่นั่ง สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย ชนะไม่ขาด
ดังนั้น การนัดหารือเพื่อแบ่งงาน ภายหลังลงนาม MOU เป็นการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างกัน ภาษาชาวบ้านนัดทานข้าวกัน เท่านั้น ไม่มีผลต่อระบบการเมืองการปกครองไทย เพราะ กกต.ยังไม่รับรองว่าที่ ส.ส. ส่วนประเด็นตำแหน่งรัฐมนตรีต่างๆ โดยหลัก ได้พูดคุยกันก่อนที่จะจับขั้วการเมืองแล้ว ไม่มีพรรคการเมืองใด จะมาพูดคุยตำแหน่งรัฐมนตรีภายหลังลงนาม MOU หากมีจริง ถือว่าแปลกประหลาด เพราะแกนนำพรรคการเมืองที่รวบรวมขั้วรัฐบาล เขาต่อรองตำแหน่งกันมาก่อนตั้งแต่ตัดสินใจเข้าร่วม
ส่วนตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร ในลักษณะแย่งชิง ระหว่างพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย โดยพรรคประชาชาติ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ปฎิเสธไม่รับตำแหน่ง หากมองอีกมิติหนึ่ง เป็นเกมการเมือง เป็นลักษณะเชิงสัญลักษณ์มากกว่า เพราะพรรคก้าวไกลและเพื่อไทย จะคว้าที่นั่งประธานสภาผู้แทนราษฎรมาครอง หากเป็นหัวหน้าพรรคของเพื่อไทย จะต้องลาออกจาก กก.บห.เพื่อไทย แต่ตัวแปรนั่งตำแหน่ง อยู่ที่คะแนนของแต่ละพรรคว่า จะเทคะแนนให้ใคร โดยการโหวตตำแหน่งประมุขนิติบัญญัติ รัฐธรรมนูญไม่ได้บัญัติให้สมาชิกวุฒิสภามีอำนาจในการโหวต โดยใช้เสียง ส.ส.จำนวน 500 เสียงหรือเท่าที่มีอยู่ในสภาผู้แทนราษฎร หากรวบรวมเสียงและโหวต เกินกึ่งหนึ่ง 251 เสียงขึ้นไป พรรคนั้นจะคว้าตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรไปครอง แต่คุณสมบัติจะต้องแม่นข้อกฎหมาย แม่นข้อระเบียบ ดูนิ่ง ส.ส.ต่างให้ความเคารพท่านประธานสภาที่เคารพฯ ที่สำคัญ หากได้นั่งแท่นแล้ว ต้องมีความเป็นกลาง
ดังนั้น ตัวแปรในการจัดตั้งรัฐบาลพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จะสำเร็จหรือไม่ อย่างไร อยู่ที่ การฟอร์มทีมรัฐบาล รวบรวม เพิ่มเติมจาก 313 เสียงให้ครบ 376 เสียง ไม่ว่าจะเป็นเสียง ส.ส.หรือสว. จะสำเร็จตัวแปรเป็นรัฐบาลหรือไม่ อยู่ตรงนี้ ด่านโหวตนายกรัฐมนตรี
ส่วนประเด็น การหารือไม่เป็นทางการ พูดคุยถึงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ ถือว่ายังเร็วเกินไป หากรวบรวมเสียงตั้งนายกรัฐมนตรี ประมุขฝ่ายบริหารไม่ได้ จะข้ามขั้นตอนไปตกลงตำแหน่งรัฐมนตรี กระทรวงต่างๆ ยังไม่ถึงเวลาไม่ต่างจาก MOU เอาของหมั้นไปหมั้นหญิงสาวไว้ หวังเพื่อจะแต่งงานอยู่กินวันข้างหน้า หากพลิกเกมขั้วการเมือง ผิดคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้กับฝ่ายหญิง ชวดของหมั้น จะกลายเป็นหม้ายขันหมาก ไม่สามารถอยู่กินด้วยกันได้ การหารือในวันนี้ เป็นเพียงการพูดคุยกันไว้ล่วงหน้า แต่จะจัดตั้งรัฐบาลได้หรือไม่ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง จึงยังไม่มีความแน่นอน
"การฟอร์มทีมรัฐบาลพิธา เต้นฟุตเวริคมากเกินไป ปล่อยระยะเวลาเนิ่นนานออกไป พรรคก้าวไกล ไม่อาจรวบรวมเสียงให้ครบ 376 เสียงได้ ทำให้พลิกขั้วอำนาจ โดยเฉพาะเพื่อไทย หากไปจับมือกับพรรคภูมิใจไทย พรรคพลังประชารัฐ และพรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทยพัฒนา จะทำให้สมการทางการเมืองเปลี่ยนสูตรไปเพราะการถอนตัวเพื่อไทย ทำให้ก้าวไกลเป็นฝ่ายค้านทันที อาจเป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร เพราะในทางการเมืองพลิกเกมได้ข้ามคืน ไม่มีอะไรแน่นอน หากผลประโยชน์ลงตัว เว้นแต่ พรรคก้าวไกล กลับใจไป เชิญพรรคภูมิใจไทย 71 เสียง มาเติมให้ครบ 376 เสียงและพรรคภูมิใจไทยเอาด้วย แต่ตัวแปร คือ กัญชาเสรี หากปรับเปลี่ยนเป็นกัญชาเพื่อทางการแพทย์ ย่อมมีโอกาส กระบวนการต่อร่องตำแหน่งเกิดขึ้น โอกาสจึงเกิดขึ้นน้อย" นายณัฐวุฒิ กล่าวและว่า
จะเห็นว่า พรรคภูมิใจไทย พลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์ และชาติไทยพัฒนา ยังอยู่ในขั้วอำนาจเดิมและยังเป็นคณะรัฐมนตรีรักษาการ เกมการเมือง อย่ากระพริบตาในขั้วอำนาจก๊กที่สองและก๊กอำนาจเก่า เกมพลิกขั้วอำนาจเก่าเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาเพราะความชอบธรรมพรรคก้าวไกล จะหมดไป หากรวบรวมเสียงไม่ได้ และรัฐธรรมนูญไม่ได้มีบทบัญญัติห้ามเสนอแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคนเดิม แต่จะเสนอรายชื่อแข่งขัน หากไม่ผ่านอีก ช่องทางนายกรัฐมนตรีคนนอก รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้แล้ว แต่ต้องใช้เสียงถึง 500 คนรับรอง ให้สังเกตการเมือง ขั้วอำนาจเก่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยังไม่ประกาศยอมรับความพ่ายแพ้ ส่อแสดงถึงนัยยะทางการเมือง ให้ย้อนกับไปดูบริบทการเมือง ในครั้งที่หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรี ที่คว้าที่นั่งเพียง 18 ที่นั่ง สามารถพลิกเกมจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยได้ แต่รัฐธรรมนูญ 2560 แตกต่าง จะทำให้เกิดงูเห่าทางการเมือง เกมอำนาจอำนาจเก่า คือ พรรคข้าราชการ สมาชิกวุฒิสภา 250 เสียง เป็นกลเกมอำนาจเหนือกว่าเพราะอยู่ในเกมของขั้วอำนาจเก่า
โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน การเปลี่ยนชื่อนายกรัฐมนตรีกลางคัน ระหว่างทูลเกล้าฯ ไม่สามารถกระทำได้เหมือนในอดีต เพราะประธานรัฐสภาต้องเสนอรายชื่อ ตามมติเห็นชอบของสมาชิกรัฐสภา(สส.และ สว.) เป็นบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ หากย้อนไปดูประวัติศาสตร์การเมือง การเลือกตั้ง ส.ส.ปี 2535 ขณะนั้น ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อดีตประธานรัฐสภา เปลี่ยนโผกลางคัน จากที่พรรคชาติไทย ซึ่งครองที่นั่งในสภาลำดับที่สองได้เชิญ “พล.อ.อ.สมบุญ ระหงษ์” นายทหารอากาศที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับนายทหาร รสช.ขณะนั้น มาเป็นนายกรัฐมนตรี ไม่อาจจารึกประวัติศาสตร์ว่า พล.อ.อ.สมบุญ ระหงส์ เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 20 เพราะขณะทูลเกล้าฯ ดร.อาทิตย์ ได้เปลี่ยนโผ เป็น “นายอนันท์ ปันยารชุน” อดีตนายกรัฐมนตรี ทำให้ พล.อ.อ.สมบุญ ระหงส์ แต่งตัวรอเก้อ เก็บตัวที่บ้านพักและรับโทรศัพท์ให้แต่งตัวเตรียมรับพระบรมราชโองการ ไม่ได้รับตำแหน่งแต่อย่างใด แต่บทบัญญัติการได้มานายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ 2534 กับรัฐธรรมนูญ 2560 มีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง แอบเปลี่ยนโผรายชื่อไม่ได้
ตัวแปรสำคัญอีกกรณีหนึ่ง ที่พรรคการเมือง 3 พรรคเล็ก ได้แก่ พรรคพลัง พรรคเพื่อชาติไทย พรรคแรงงานสร้างชาติ ผนึกกำลังกันเพื่อฟ้องศาลปกครองให้การเลือกตั้งครั้งนี้ ตกเป็นโมฆะ มาจากปมปัญหาการเลือกตั้งที่ไม่โปร่งใส จากกรณีบุคคลภายใน กกต.แอบส่งข้อมูลให้กับบิ๊กผู้บริหารของพรรค พบความผิดปกติการคีย์ตัวเลข มีการดีดตัวเลขช่วยพรรคการเมืองใหญ่ ส่งผลให้คะแนนไปเพิ่มให้กับพรรคภูมิใจไทยและพรรคประชาธิปัตย์ ทำให้เปอร์เซ็นต์สูตรคะแนนจุดทศนิยมสูงขึ้น เปลี่ยนไป ทำให้ 3 พรรคการเมือง ที่ได้คะแนนปัดเศษ ลำดับที่ 98 ถึง 100 ได้แก่ พรรคพลัง พรรคเพื่อชาติไทย พรรคแรงงานสร้างชาติ ได้ ส.ส.คนละ 1 ที่นั่ง เก้าอี้หายไป
โดยพบว่ามีการเปิดเผยข้อมูลว่า มีพยานหลักฐาน ได้แก่ พยานบุคคล พยานเอกสารและพยานวัตถุ มัด กกต. ซึ่งเดิมที่ยื่นฟ้องคดีปกครองและขอไต่สวนคุ้มครองชั่วคราวในวันนี้ แต่ปรากฏว่า แกนนำได้ข้อมูลสำคัญเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นใหม่ ปรับแก้ร่างฟ้อง ร่างคำร้องฯเพื่อให้พยานหลักฐานหนาแน่น ทำให้จะต้องเลื่อนไปยื่นฟ้องในวันศุกร์ ภายในสัปดาห์นี้ โดยการฟ้องและขอไต่สวนฉุกเฉินเพื่อให้คุ้มครองชั่วคราว จะขอให้ระงับการประกาศผลการเลือกตั้ง ส.ส.ของวันที่ 14 พ.ค.2566 และขอท้ายฟ้องให้มีการเลือกตั้งที่ไม่สุจริตและไม่ยุติธรรมให้ตกเป็นโมฆะ หากเกมพรรคเล็กดำเนินการช่องทางกฎหมายและศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว จะมีผลกระทบกระเทือนต่อระบบการเมืองการปกครองไทย เพราะถือว่าการทุจริตถือเป็นเรื่องใหญ่ ส่งผลให้การฟอร์มทีมรัฐบาลพิธา ชะงักตามไปด้วยเพราะไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ แต่ไม่เป็นสุญญกาศทางการเมือง เพราะยังมีรัฐบาลรักษาการอยู่ การเปลี่ยนขั้วอำนาจ กระชับอำนาจ ผลประโยชน์จะเกิดกับขั้วอำนาจเก่าโดยปริยาย
ส่วนที่นักกฎหมาย นักวิชาการ ออกมาให้ความเห็นแนวทางต่อสู้หุ้นสื่อของนายพิธานั้น มองว่า บุคคลเหล่านี้ ไม่ควรออกมาเป็นทะแนะแก้ต่างให้แก่นายพิธา เป็นตลกบริโภค หิวแสงมากกว่า เพราะอ่านเกมปัญหาข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงยังไม่แตกฉาน จะไปแนะนำอะไรเขา เพราะนายพิธาย่อมมีทีมกฎหมาย โดยเฉพาะคำสั่งศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง ที่คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาตรวจสอบคุณสมบัติ เป็นศาลชั้นเดียวและให้เป็นที่สุด เหมือนกับคดีการเมืองท้องถิ่น เป็นคดีอยู่ในอำนาจศาลอุทธรณ์แผนกคดีเลือกตั้ง เช่นกัน มีความแตกต่างจากคำพิพากษาของศาลฎีกาที่ตัดสินมาสามศาล
แต่กรณีเป็นข้อเท็จจริงเฉพาะเรื่อง ไม่มีผลผูกพันศาลหรือองค์กรอื่น แตกต่างจากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ย่อมเด็ดขาดผูกพันศาลยุติธรรม ตามมาตรา 211 วรรคท้าย แห่งรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะตาม พรป.ว่าด้วยการพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ ไม่มีบทบัญญัติใดให้ถือเอาคำสั่งศาลฎีกาให้ศาลรัฐธรรมนูญจะต้องถือตาม โดยเฉพาะเคยมีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า หุ้นมากน้อยเพียงใดไม่เป็นสาระสำคัญ ย่อมขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98(3)ประกอบ พรป.ส.ส.มาตรา 42(3) ดังนั้น ในคำวินิจฉัยศาลฎีกาคดีนายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ ปชป.เขต 2 นครนายก ที่ศาลฎีกาวินิจฉัยไปถึงอำนาจสั่งการมีผลต่อการเผยแพร่การสื่อสาร เป็นการวินิจฉัยเกินเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ
โดยเฉพาะเทียบเคียงกับคดีถือครองหุ้น อสมท.จำนวน 1 หุ้น ของผู้สมัคร นายกเทศมนตรี และผู้สมัครนายก อบต. ศาลยุติธรรมวินิจฉัยว่า การถือครองหุ้น อสมท.เพียง 1 หุ้น ย่อมขาดคุณสมบัติ ส่วนบางคนไปบอกว่า บมจ.ไอทีวี ไม่ได้ฉายภาพในปี 2550 แล้ว อย่าลืมว่า ส.ส.ของพรรคฝ่ายรัฐบาลสมัยที่ผ่านมา บริษัท ถูกขีดชื่อทิ้งร้างแล้ว ยังถูกยื่นตีความ ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย
หากเทียบเคียงกับคดีของนายธัญญ์วารินทร์ สุขะพิสิษฐ์ อดีต ส.ส.อนาคตใหม่ ถือครองหุ้นสื่อฯ ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาสาระสำคัญว่า พบว่า บริษัทฯของนายธัญญ์วารินทร์ฯ ประกอบกิจการวิทยุ โทรทัศน์ จึงขาดคุณสมบัติฯสมัคร ส.ส. ส่วนจะหยิบปัญหาข้อเท็จจริงผลประกอบการว่า รายได้มาจากแหล่งใด เป็นข้ออ้างว่า บมจ.ไอทีวี ไม่ได้ประกอบกิจการสื่อ ตั้งแต่ปี 2550 ย่อมขัดแย้งกับวัตถุประสงค์หลัก ในการเสียภาษีนิติบุคคลของ บมจ.ไอทีวี แนวคำวินิจฉัยที่ผ่านมา หยิบประเด็นการเสียภาษีมาเชือด ส.ส.ในการถือครองหุ้นสื่อ ด้วย