8 พรรคร่วม ตั้ง กก.เปลี่ยนผ่านรัฐบาล ปม ประธานสภา ยุติหลังกกต.รับรองส.ส.
มติ 8 พรรคร่วมรัฐบาล จัดตั้ง 7 คณะทำงานช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาล "พิธา-ชลน่าน" ย้ำตรงกัน "ประธานสภา" ไม่เป็นอุปสรรคต่อการตั้งรัฐบาลร่วมกัน มั่นใจได้ข้อยุติหลัง กกต.รับรอง "ส.ส."
เมื่อเวลา 16.15 น. ที่พรรคประชาชาติ ภายหลังการประชุมร่วมระหว่าง 8 พรรคการเมืองที่ลงนามบันทึกข้อตกลงร่วม (MOU) จัดตั้งรัฐบาล ได้แก่ พรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย พรรคประชาชาติ พรรคไทยสร้างไทย พรรคเสรีรวมไทย พรรคเพื่อไทรวมพลัง พรรคเป็นธรรม และพรรคพลังสังคมใหม่
โดยภายหลังหารือประมาณ 1 ชั่วโมง 45 นาที แกนนำของ 8 พรรคร่วมรัฐบาล ร่วมแถลงรายละเอียด นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า การประชุมมีข้อสรุป คือ
ร่วมจัดตั้งคณะกรรมการประสานงานในช่วงเปลี่ยนผ่านมี พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นประธาน และกรรมการอีก 8 คนได้แก่
- น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล พรรคก้าวไกล
- นายเผ่าภูมิ โรจนสกุลพรรคเพื่อไทย
- พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง พรรคประชาชาติ
- น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ พรรคไทยสร้างไทย
- นายวิรัตน์ วรศสิรินพรรคเสรีรวมไทย
- นายกรรณวีร์ สืบแสง พรรคเป็นธรรม
- นายวสวรรธ์ พวงพรศรี พรรคเพื่อไทรวมพลัง
- นายเชาวลิต ขจรพงศ์กีรติ พรรคพลังสังคมใหม่
นายพิธา กล่าวอีกว่า สำหรับคณะกรรมการประสานงานฯ จะนัดประชุมครั้งต่อไปในวันที่ 6 มิ.ย. 2566 ที่พรรคเพื่อไทย โดยในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ คณะกรรมการประสานงานฯ จะตั้งคณะทำงานขึ้นมา 7 คณะ จากทั้งหมด 23 คณะ เป็นไปตามบันทึกข้อตกลงร่วม (MOU) เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2566 ที่ผ่านมา โดยคณะทำงานทั้ง 7 คณะเบื้องต้น เพื่อตอบสนองแก้ไขปัญหาของประชาชน ทั้งนี้คณะทำงานจะประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญของแต่ละพรรค เพื่อหารือและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้แก่
1.คณะทำงานค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมันดีเซล และพลังงาน
2.คณะทำงานภัยแล้ง และเอลนินโญ
3.ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้
4.การแก้ไขรัฐธรรมนูญ
5.ปัญหาสิ่งแวดล้อม และ PM 2.5
6.เรื่องเศรษฐกิจ ปากท้อง และ SME
7.เรื่องการแก้ไขปัญหายาเสพติด
"การตั้งคณะกรรมการประสานงานฯ และคณะทำงานข้างต้น เป็นทางออกของทุกพรรคในการแก้ไขปัญหาของประเทศ เพื่อกลั่นกรองเป็นนโยบายร่วมกันในการแถลงต่อรัฐสภา และนำไปปฏิบัติในฐานะฝ่ายบริหาร และฝ่ายนิติบัญญัติต่อไป ยืนยันว่าการทำงานเป็นไปด้วยดี เราจะสามัคคีกัน เพื่อที่จะตั้งใจทำงาน ในการแก้ไขปัญหาของประชาชนให้มากสุดเท่าที่เป็นไปได้" นายพิธา กล่าว
เมื่อถามถึงการเจรจากับ ส.ว. เพื่อหาเสียง โหวตพิธาเป็นนายกฯ นายพิธา กล่าวว่าไม่มีการข่มขู่ แต่จะพูดคุยเพื่อรักษาระบบของประเทศนี้ให้ได้ ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว แต่เป็นการรักษาระบบของรัฐสภา หาทางออกบ้านเมือง ยืนยันว่าไม่มีอะไร ที่ผ่านมาคณะเจรจามีการพูดคุย เป็นไปทิศทางที่ดี
“ยืนยันว่าที่ผ่านมา ไม่มีความสั่นคลอนอะไร แต่สิ่งที่ทำน้อยไป และเพิ่งทำวันนี้ คือเอาปัญหาประชาชนเป็นที่ตั้ง เชื่อว่าสื่อเห็นด้วย และให้ความร่วมมือ ถ้ามีคำตอบดี ๆ มันน่าจะเป็นการเสนอข่าวสื่อสร้างสรรค์” นายพิธา กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามถึงการจัดสรรตำแหน่งคณะรัฐมนตรีนั้น นายพิธา กล่าวว่า จะเกิดขึ้นหลังทำงานร่วมกัน โดยยึดการทำงานเพื่อประชาชนเป็นตัวตั้ง ส่วนตำแหน่งประธานสภา นั้น พรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทย จะพิจารณาร่วมกัน
"เรื่องประธานสภาฯ ไม่เป็นอุปสรรคในการจัดตั้งรัฐบาล เพราะพวกเราพูดคุยในจุดประสงค์เดียวกัน คือการเตรียมพร้อมบริหารราชการแผ่นดิน เพื่อประชาชน ขณะนี้คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศผลคะแนนเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการแล้ว เหลือเพียงรับรอง ส.ส.อย่างเป็นทางการ ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาไม่นาน ที่จะรับรองส.ส. เพื่อสามารถเปิดประชุมสภาฯ ได้ และนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ เกิดขึ้นได้โดยเร็ว" นายพิธา กล่าว
เมื่อถามถึงกรอบเวลาในการหารือเรื่องประธานสภาฯ ระหว่างพรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทย นายพิธา กล่าวยืนยันว่าจะทำให้เร็ว และเหมาะสมที่สุด ตามกรอบของกฎหมาย ทั้งนี้ไม่สามารถบอกได้ว่าจะแล้วเสร็จภายในวันหรือเวลาใด แต่ต้องดำเนินการตามกรอบของกฎหมาย
ขณะที่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงประเด็นการหาบุคคลเพื่อดำรงตำแหน่งประธานสภาฯ ว่า จากการหารือเบื้องต้น มีข้อตกลงร่วมกันชัดเจนว่า ตำแหน่งประธานสภาฯทั้ง 2 พรรคจะพิจารณาร่วมกัน ไม่คำนึงว่าเป็นโควตาของพรรคใด พรรคหนึ่ง และจะไม่เกิดเป็นปัญหาอุปสรรคในการจัดตั้งรัฐบาลร่วมกันทั้ง 8 พรรค
"ตำแหน่งประธาน ไม่เป็นอุปสรรคต่อการจัดตั้งรัฐบาล และเลือกนายกฯ โดยจะมุ่งเน้นประโยชน์สุขต่อประชาชน ที่มุ่งหวังรัฐบาลประชาธิปไตย ถ้า กกต.ประกาศรับรอง ส.ส. จะต้องข้อยุติ เพื่อเตรียมเข้าสู่การเลือกที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร" นพ.ชลน่าน กล่าว
นายพิธา กล่าวถึงโฉมหน้าของคณะกรรมการประสานงานช่วงเปลี่ยนผ่าน ว่า ยืนยันไม่ใช่การฟอร์มทีม ครม.เพราะไม่ได้จัดตั้งตามกระทรวง แต่เป็นการจัดตั้งตามภารกิจ MOU ที่เป็นวาระการทำงานร่วมกัน ว่าไม่ใช่เป็นเพียงกระดาษเปล่า