‘วิโรจน์’ ชี้ส่วยทางหลวงโกงเฉียด 2 หมื่นล./ปี ต้องปราบทั้งวงจร-ทบทวนกฎหมาย
‘วิโรจน์’ ชี้ส่วยทางหลวงปัญหาใหญ่ กระทบคนทั้งประเทศ มูลค่าทุจริตเฉียดสองหมื่นล้านต่อปี แก้ต้นตอปัญหาต้องปราบวงจรให้สิ้นซาก ควบคู่ทบทวนกฎหมาย ปิดช่องโหว่เจ้าหน้าที่รังควานรีดไถประชาชน
เมื่อวันที่ 31 พ.ค. 2566 นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ว่าที่ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล กล่าวถึงประเด็นปัญหาส่วยทางหลวงว่า ไม่ใช่ปัญหาใหม่ แต่เป็นปัญหาใหญ่ มีมานานหลายสิบปี มูลค่าการทุจริตคอร์รัปชันสูงในระดับหมื่นล้านบาทและกระทบกับประชาชนทั้งประเทศ เพราะเมื่อผู้ประกอบการต้องจ่ายส่วย ทำให้ต้นทุนสูงขึ้น แม้ว่าจะบรรทุกสินค้าได้เพิ่มขึ้นบ้าง ก็ไม่คุ้มกับค่าซ่อมบำรุงที่แพงขึ้น อีกทั้งเมื่อเจอกับการแข่งขันที่ต้องตัดราคากันเอง ยิ่งทำให้กำไรลดลงมาก ท้ายที่สุด จึงผลักต้นทุนจากการจ่ายส่วย ไปยังค่าขนส่ง เมื่อค่าขนส่งเพิ่ม สินค้าอุปโภคบริโภคก็ต้องปรับราคาขึ้น กระทบผู้บริโภคที่ต้องแบกรับค่าครองชีพที่สูงขึ้นตาม นอกจากนั้น รถบรรทุกที่บรรทุกน้ำหนักเกิน ทำให้ถนนหนทางชำรุดเสียหาย เป็นอันตรายต่อผู้ขับขี่ และยังสิ้นเปลืองงบประมาณในการซ่อมบำรุงรักษาถนน ถ้าประหยัดงบประมาณในส่วนนี้ลงได้ รัฐบาลจะมีงบประมาณในการดูแลสวัสดิการของประชาชนเพิ่มขึ้น
นายวิโรจน์ กล่าวว่า ต้นเหตุของปัญหาส่วยทางหลวง จุดเริ่มต้นอยู่ที่ข้าราชการของกรมทางหลวง บางคน ตำรวจท้องที่ และตำรวจทางหลวงบางนาย อาศัยช่องว่างทางกฎหมายไปรังควานผู้ประกอบกิจการขนส่ง ไม่ว่าจะเป็น การตรวจควันดำ ตรวจเสียง การตั้งด่านตราชั่งลอยเพื่อชั่งน้ำหนัก การเดินตรวจรอบรถแบบจุกจิกเพื่อหาเรื่องปรับ การเรียกตรวจพนักงานขับรถ ทำให้ผู้ประกอบการขนส่งเสียเวลาทำมาหากิน จากวันหนึ่งวิ่งได้ 2-3 เที่ยว อาจเหลือแค่ 1 เที่ยวเท่านั้น
“พฤติกรรมรังควานแบบนี้ เป็นเหตุให้เกิดขาใหญ่ ซึ่งอาจเป็นผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น ทำหน้าที่เป็นโต้โผเอาส่วยแบบเหมาจ่ายไปเคลียร์กับข้าราชการบางคน ตำรวจบางนาย แล้วมาผลิตสติ๊กเกอร์ขายให้กับผู้ประกอบกิจการขนส่งรายอื่นๆ พอเจ้าหน้าที่เห็นสติ๊กเกอร์ ก็เป็นอันรู้กัน รถบรรทุกเหล่านี้เถ้าแก่ส่งส่วยเรียบร้อยแล้ว ตราชั่งก็ไม่ต้องชั่ง บรรทุกหนักแค่ไหนก็ผ่านฉลุย ในระยะหลังถึงกับกล้าเอารถบรรทุกไปใช้ขนของผิดกฎหมาย ขนแรงงานต่างชาติหลบหนีเข้าเมือง ตำรวจที่ดีได้แต่ท้อใจ ถ้าเผลอไปเรียกตรวจ ก็อาจเจอผู้บังคับบัญชาหรือมาเฟียขาใหญ่โทรมาข่มขู่” นายวิโรจน์ กล่าว
นายวิโรจน์ กล่าวอีกว่า สติ๊กเกอร์แต่ละดวง มีมูลค่าแตกต่างกัน ตั้งแต่ 3,000-5,000 บาทต่อเดือน ขึ้นอยู่กับระยะทางและจำนวนด่าน บางพื้นที่อาจแพงถึงหลักหมื่น จำนวนรถบรรทุกในประเทศไทยมีทั้งสิ้นประมาณ 1.4 ล้านคัน ถ้ามีรถบรรทุก 300,000 คัน ต้องเสียเงินซื้อสติ๊กเกอร์เดือนละ 3,000-5,000 บาท เท่ากับคิดเป็น 900-1,500 ล้านบาทต่อเดือน ในปีหนึ่งมูลค่าส่วยทางหลวงอาจสูงถึง 20,000 ล้านบาท เมื่อดูข้อมูลเรื่องทุจริตที่ร้องเรียนมายังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในแต่ละปี รวมกันเป็นมูลค่าประมาณ 200,000 ล้านบาท เฉพาะส่วยทางหลวงจึงคิดเป็นราว 10 เปอร์เซ็นต์แล้ว
เรื่องส่วยทางหลวง จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่ามีหรือไม่ เพราะคำตอบคือมีแน่และมีมานาน ดังนั้น สิ่งที่ประชาชนคาดหวังจากข้าราชการระดับบังคับบัญชา ย่อมไม่ใช่คำตอบที่บอกว่าไม่รู้หรือการปฏิเสธ ตอบแบบนั้นนอกจากประชาชนอาจหัวเราะเยาะ ยังจะตั้งข้อสังเกตด้วยว่าข้าราชการคนนั้นมีส่วนพัวพันกับส่วยทางหลวงหรือไม่ และอีกคำตอบหนึ่งที่ยอมรับไม่ได้ คือการบอกว่าจะตั้งคณะกรรมการสอบแบบแก้เกี้ยว ถ่วงเวลาให้เรื่องเงียบ สุดท้ายก็จับมือใครดมไม่ได้ ก่อนจะบอกประชาชนว่าถ้าใครมีหลักฐานให้แจ้งมา การตอบแบบนี้ ประชาชนมีสิทธิจะตั้งคำถามกลับว่าถ้ารู้อยู่แก่ใจว่ามีขยะอยู่ในบ้านตัวเอง ทำไมถึงไม่ยอมเก็บกวาด ทำไมต้องรอให้ประชาชนมาชี้ว่ากองขยะกองอยู่ตรงไหน
นายวิโรจน์ กล่าวด้วยว่า การแก้ปัญหาส่วยทางหลวง ต้องทำควบคู่กัน 2 ด้าน ประกอบด้วย ด้านที่ 1 คือการปราบปรามวงจรการส่งส่วยให้สิ้นซาก หากหลักฐานสาวถึงข้าราชการคนใด ต้องส่ง ป.ป.ช. เอาเรื่องให้ถึงที่สุด และใช้กลไกของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ป.ป.ง.) ในการยึดทรัพย์ และด้านที่ 2 คือการทบทวนกฎหมาย ระเบียบ หลักเกณฑ์ต่างๆ ที่ไม่สอดคล้องในการปฏิบัติงานจริง เปิดช่องว่างให้ข้าราชการบางคน ใช้เป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้ง รังควาน รีดไถหรือเรียกรับผลประโยชน์จากประชาชน ถ้าพบต้องมีการดำเนินการทั้งคดีอาญาและทางวินัย ไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่าง
เช่น กรณีน้ำหนักบรรทุกของรถพ่วง แต่เดิมกำหนดไว้ที่ 52-58 ตัน ต่อมา คสช. ปรับลดลงเหลือไม่เกิน 50.5 ตัน เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2557 มีข้อสงสัยว่าการปรับลดลงมาเพื่อบีบให้ผู้ประกอบการทำผิดกฎหมายโดยปริยายและต้องยอมจ่ายส่วยหรือไม่ เพราะตามหลักการวิศวกรรมสากล การป้องกันไม่ให้ถนนชำรุดจากน้ำหนักบรรทุก โดยทั่วไปจะไม่นำน้ำหนักบรรทุกรวมมากำหนดเป็นเกณฑ์ แต่จะนำน้ำหนักบรรทุกเฉลี่ยต่อล้อมาใช้เป็นเกณฑ์แทน เช่น น้ำหนักบรรทุกเฉลี่ยต่อล้อต้องไม่เกิน 2.5 ตัน เป็นต้น ถ้าน้ำหนักบรรทุกมาก จำนวนล้อที่มาเฉลี่ยรับน้ำหนักก็ควรต้องมากตาม
“ประเด็นนี้ ไม่ใช่เรื่องสลับซับซ้อน เพียงสอบถามจากผู้เชี่ยวชาญทางด้านวิศวกรรมโยธา ก็สามารถทบทวนแก้ไขกฎระเบียบให้มีความสมเหตุสมผล เป็นไปตามหลักวิศวกรรมสากลได้ และเมื่อเกณฑ์ได้รับการปรับปรุงแล้ว หากพบรถบรรทุกคันใดฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องดำเนินการจับกุมเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย ส่วนหากถนนยังชำรุดอีก ก็ต้องตรวจสอบต่อว่าการก่อสร้างเป็นไปตามสเปกหรือไม่ ดังนั้น ไม่ว่าต้นเหตุของปัญหานี้คืออะไร ตำรวจไม่สามารถใช้เป็นเหตุในการรีดไถหรือเก็บส่วยจากประชาชน” นายวิโรจน์ กล่าว
ทั้งนี้ ในวันที่ 1 มิ.ยใ 2566 เวลา 14.00 น. ที่ห้องประชุมชั้น 7 อาคารอนาคตใหม่ สมาคมขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย ประมาณ 30 คน เข้ายื่นหนังสือและเข้าพบเพื่อหารือนายวิโรจน์ ถึงประเด็นดังกล่าวด้วย