จัดตั้งรัฐบาลล่าช้า เสี่ยงเกิดสุญญากาศเศรษฐกิจ

จัดตั้งรัฐบาลล่าช้า เสี่ยงเกิดสุญญากาศเศรษฐกิจ

การจัดตั้งรัฐบาลที่ล่าช้าทำให้ความกังวลต่อสถานการณ์ “สุญญากาศ” ทางเศรษฐกิจได้ เพราะสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเกินกว่าที่โลกจะรอประเทศไทยจัดตั้งรัฐบาล

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ที่เสร็จสิ้นไปเมื่อวันที่ 14 พ.ค.2566 เหลือขั้นตอนการรับรองผลการเลือกตั้งจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และหากรับรอง ส.ส.ได้ 95% จะเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อเลือกประธานสภาฯ และต่อไปจะเข้าสู่ขั้นตอนการเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งล่าสุดการจัดตั้งรัฐบาลเป็นหน้าที่ของพรรคก้าวไกลในฐานะที่ได้คะแนนเสียงเป็นอันดับ 1 โดยพรรคก้าวไกลได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) การจัดตั้งรัฐบาลรวม 8 พรรคการเมืองเป็นที่เรียบร้อย

บนสถานการณ์ที่ยังไม่มีการรับของผลการเลือกตั้งจาก กกต.รวมถึงสถานการณ์การจัดตั้งรัฐบาลที่หลายฝ่ายมีความกังวลว่าจะจัดตั้งรัฐบาลไม่เป็นที่เรียบร้อยทำให้เกิดความกังวลถึงความล่าช้าของการจัดตั้งรัฐบาล โดยมีหลายปัจจัยที่เข้ามาแทรกซ้อนความเชื่อมั่นในรัฐบาลใหม่ ไม่ว่าจะเป็นกรณีการถือหุ้นบริษัทไอทีวี จำกัด (มหาชน) ของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ที่กำลังเข้าสู่การพิจารณาคุณสมบัติการเลือกตั้งของ กกต. ซึ่งหลายฝ่ายกังวลว่าจะทำให้การขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต้องสะดุด

การจัดตั้งรัฐบาลที่ล่าช้าทำให้ความกังวลต่อสถานการณ์ “สุญญากาศ” ทางเศรษฐกิจได้ เพราะสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเกินกว่าที่โลกจะรอประเทศไทยจัดตั้งรัฐบาล โดยต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจโลกที่บอบช้ำจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยังไม่สามารถฟื้นตัวได้เต็มที่ และถ้าสถานการณ์ดังกล่าวมาบวกกับการจัดตั้งรัฐบาลที่ล่าช้าของประเทศไทย จะยิ่งทำให้ประเทศไทยมีความเสี่ยงในการฟื้นฟูเศรษฐกิจให้กลับมาเหมือนก่อนมีโรคโควิด-19 

หลายประเทศกำลังเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย โดยเฉพาะในสหรัฐที่เป็นเขตเศรษฐกิจที่ใหญ่อันดับ 1 ของโลก และเป็นประเทศที่นำเข้าสินค้ามากที่สุด จึงไม่แปลกใจที่การส่งออกสินค้าไทยไปสหรัฐยังอยู่ในสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง โดยเฉพาะล่าสุดในเดือน เม.ย.2556 ที่การส่งออกสินค้าไปสหรัฐติดลบถึง 9.6% และการที่เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้ามีปัญหาส่งผลให้การส่งออกรวมของไทยติดลบต่อเนื่องมาแล้ว 7 เดือน นับตั้งแต่เดือน ต.ค.2565 เป็นต้นมา

ความล่าช้าของการจัดตั้งรัฐบาลจึงมีโอกาสในการสร้างความเสี่ยงของภาวะสุญญากาศการเมือง โดยเฉพาะยิ่งทำให้การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ล่าช้ามากขึ้นไปอีก และเป็นที่แน่นอนว่างบประมาณใหม่จะบังคับใช้ล่าช้าไปไม่น้อยกว่า 1 ไตรมาส รวมไปถึงการเบิกจ่ายงบลงทุนของภาครัฐที่จะมีความล่าช้าตามไปด้วย ดังนั้นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากภาครัฐอาจถดถอยลงไปมาก ในขณะที่ภาคเอกชนยังคงรอดูว่าการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคก้าวไกลจะเรียบร้อยหรือไม่ จึงน่าเป็นห่วงอย่างยิ่งสำหรับเศรษฐกิจไทย