"หุ้นITV" กำหนดชะตา (ว่าที่) "นายกฯพิธา" ไปไม่ถึง??

"หุ้นITV" กำหนดชะตา (ว่าที่) "นายกฯพิธา" ไปไม่ถึง??

แม้ "พิธา" จะยอมรับว่าโอนหุ้นITV ให้ทายาทไปแล้ว ทว่ามุมมองนี้ชี้ให้เห็นว่า "เขาถือครองหุ้นอยู่จริงตั้งแต่ต้น" มุมของ 2นักวิชาการ ประเมินไว้สอดคล้องกันว่า คือ ขวากหนามสำคัญของการก้าวสู่ "เก้าอี้นายกฯ" คนที่30

กรณีคุณสมบัติของ  พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าและแคนดิเดตนายกฯ พรรคก้าวไกล ที่ถูกร้องว่าขัดกับรัฐธรรมมนูญ มาตรา 98 (3) ปม ถือหุ้น ไอทีวี  ที่ “คณะกรรมการการเลือกตั้ง” (กกต.) อยู่ระหว่างตรวจสอบตามคำร้อง ของ “เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ” นักกฎหมายอิสระ

 

ล่าสุด “พิธา” ออกมายอมรับผ่านเฟซบุ๊คของตนเองว่า “จัดการแบ่งมรดกหุ้น ITV ให้แก่ทายาทอื่นไปโดยสิ้นเชิง เพื่อป้องกันปัญหาจากกระบวนการฟื้นคืนชีพความเป็นสื่อมวลชนให้กับบริษัท ITV ที่กำลังดำเนินอยู่” และสัมภาษณ์อีกครั้งว่า “โอนหุ้นให้ทายาทไปแล้วเมื่อปลายเดือนพฤษภาคม”

 

 

ต่อประเด็นนี้ มีมุมมองของนักวิชาการด้านกฎหมายและนักวิชาการที่เกาะติดการเมือง ให้ความเห็นไว้ว่า “เป็นการยอมรับต่อการถือหุ้นสื่อฯ ที่เป็นลักษณะต้องห้ามของผู้สมัคร ส.ส. ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98(3) กำหนด และเป็นจุดชี้ว่า "พิธา" อาจจะ "ชวด" เก้าอี้นายกฯ”

 

ทว่า ประเด็นนี้จะ สกัดก้าวย่างของ “พิธา” ขึ้นสู่เก้าอี้นายกฯ​ คนที่30 นี้จริงหรือไม่ ยังเป็นประเด็นที่มีความเห็นแตกต่างและ อาจนำไปสู่การตีความ ของ “ศาลรัฐธรรมนูญ”

 

 

โดย เจษฎ์ โทณะวณิก นักวิชาการด้านกฎหมาย อดีตที่ปรึกษากรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)  มองในจุดเริ่มต้นของการถือหุ้นสื่อฯ ตามข้อห้ามของรัฐธรรมนูญ ว่า เป็นประเด็นที่รัฐธรรมนูญ กำหนดให้เป็นบทบังคับใช้กับ ผู้ที่จะลงเลือกตั้งเป็นส.ส. , ผู้จะรับรองเป็นส.ส. รวมถึง บุคคลที่พรรคการเมืองจะเสนอชื่อให้อยู่ในบัญชี “แคนดิเดตนายกฯ”  เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญ ทั้งมาตรา 88 มาตรา 89 มาตรา 98 และมาตรา  160  ดังนั้น กรณีที่ “พิธา” โอนหุ้นในช่วงนี้ คือ หลังจาก ส่งสมัครรับเลือกตั้ง ยอมรับการเสนอชื่อเป็น แคนดิเดตนายกฯ ของพรรคก้าวไกล ไม่ได้ช่วยอะไร

 

\"หุ้นITV\" กำหนดชะตา (ว่าที่) \"นายกฯพิธา\" ไปไม่ถึง??

 

 

“ต้องยอมรับว่า คุณสมบัตของ คุณพิธา มีปัญหา ดังนั้นต้องรอว่า กกต. จะพิจารณาอย่างไร ซึ่งผมเชื่อว่า กกต.ต้องทำหน้าที่ ชี้ขาด ไม่ใช่ปล่อยไปแล้วทำให้เกิดปัญหาภายหลัง ทั้ง กรณีรับรอง ส.ส. หรือ ปล่อยให้ รัฐสภาโหวตนายกฯ แต่สุดท้าย คุณพิธาถูกวินิจฉัยว่าขาดคุณสมบัติ ต้องออกจาก ส.ส. ต้อง ออกจากตำแหน่งนายกฯ ส่วน กกต.​จะแขวน การรับรอง คุณพิธา ไว้แล้วส่งศาลตีความให้ชัดเจน ย่อมสามารถทำได้”  อ.เจษฎ์ กล่าว

 

เมื่อถอดรหัส ที่ “พิธา” ส่งออกหุ้นไอทีวี ให้พ้นมือตัวเอง จะนำไปสู่อะไร “อ.เจษฎ์” มองว่า ไม่แน่ใจว่า ฝ่ายกฎหมายของพรรคก้าวไกล ประเมินไว้อย่างไร แต่เขาอาจคิดว่า หากคุณพิธา จะไม่ได้เป็นส.ส. แล้ว แต่โอกาสเป็นนายกฯ ยังมีอยู่ เพราะคงมองว่า คุณสมบัติของผู้จะเป็นนายกฯ อยู่ในวันที่รัฐสภา ลงมติ ไม่ใช่วันที่ถูกพรรคก้าวไกลเสนอให้เป็นแคนดิเดตนายกฯ อย่างไรก็ดี ประเด็นนี้อาจนำไปสู่การตีความได้ เพราะ อาจมีคนมองในมุมกฎหมายที่แตกต่างกัน ที่มองว่า ผู้ที่จะเสนอชื่อให้รัฐสภาโหวตเป็นนายกฯ ตามบัญชีของพรรคการเมือง ต้องนับจากวันที่ยื่นสมัครต่อกกต.

 

 

ทว่าในมุมของรัฐธรรมนูญนั้น ไม่ได้เขียนไว้แยกส่วน เพราะเขียนเชื่อมโยงตั้งแต่วันส่งสมัคร ส.ส.ไปจนถึงตำแหน่งทางการเมืองอื่นๆ เช่น นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี

 

\"หุ้นITV\" กำหนดชะตา (ว่าที่) \"นายกฯพิธา\" ไปไม่ถึง??

ทั้งนี้ “อ.เจษฎ์” มองว่าปมปัญหาการถือครองหุ้นสื่อฯ ที่ อาจทำให้ “พิธา” ไปไม่ถึง เก้าอี้นายกฯ  ไม่ได้ทำให้ “การเมืองติดเดดล็อค” เพราะยังมีทางออกอื่น โดยเฉพาะ ตัวเลือกที่จะเสนอชื่อ “แคนดิเดตนายกฯ” ต่อรัฐสภาของพรรคร่วมรัฐบาล คนอื่น เช่น พรรคเพื่อไทย ที่เสนอชื่อ 3 คน  ดังนั้น แม้แคนดิเดตนายกฯ ของก้าวไกล จะไม่สามารถถูกเสนอชื่อได้ ยังมีทางไป  แต่ขึ้นอยู่กับว่า “พรรคก้าวไกล” จะยอม “ถอดสลักปัญหา” ที่เกิดจากตัวเอง แล้วให้กระบวนการจัดตั้งรัฐบาล โหวตนายกฯ เดินหน้า หรือจะเลือกให้ “มวลชนก้าวไกล” ออกมาประท้วง ซึ่งเท่ากับว่า “ต้องชน” กับพรรคเพื่อไทย

ขณะที่ การ “ขาย หรือ โอน” หุ้นของ “พิธา” ในช่วงนี้  “อ.เจษฎ์” ตั้งคำถามด้วยว่า 1.เหตุผลที่ขายเพราะชัดเจนใช่หรือไม่ว่าขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ และ 2.ถือหุ้นไว้ เพราะมองว่าไอทีวี ไม่ได้ทำสื่อแล้ว ดังนั้นตนเองไม่ทำผิดรัฐธรรมนูญ จะปล่อยหุ้นออกไปทำไม

 

“การที่คุณพิธาไม่ตอบข้อซักถามของสื่อมวลชน เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน เรื่องการขายหุ้นไปหรือยังนั้น ผมมมองว่าไม่มีสิ่งที่เป็นลบกับคุณพิธา แต่จะทำให้เกิดปมปัญหาที่ต้องระวังสำหรับคนที่จะขึ้นมาเป็นผู้นำประเทศ ส่วนกรณีที่มีความพยายามให้ คดีไอทีวีที่อยู่ในระหว่างชั้นการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด นั้นตัดสินในทำนองที่ว่า ไอทีวีต้องล้มหายตายจาก เพราะเกี่ยวข้องกับคุณพิธา ทั้งที่เคยเชียร์ให้ไอทีวีชนะคดีตามคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง แบบนี้ถือว่าเป็นธรรมหรือไม่” อ.เจษฎ์ กล่าวทิ้งท้าย

\"หุ้นITV\" กำหนดชะตา (ว่าที่) \"นายกฯพิธา\" ไปไม่ถึง??

 

ทางด้าน อ.สมชัย ศรีสุทธิยากร  ประธานยุทธศาสตร์และขับเคลื่อนนโยบายพรรคเสรีรวมมไทย ให้ความเห็นไว้ในมุมมอง นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ จาก ศูนย์วิจัยการเมืองและการพัฒนา มหาวิทยาลัยรังสิต  ในกรณีที่ “ปัญหาคุณสมบัติของ พิธา” ที่จะมีผลกระทบต่อ “การเสนอชื่อให้รัฐสภาโหวตเป็นนายกฯ” ว่า มองได้ 2 มุม อยู่ที่ว่าใครจะเลือกมองมุมไหน โดยมุมแรก คือ คุณพิธาไม่ผิด และไม่มีผลกระทบใดต่อการเสนอชื่อให้รัฐสภาโหวต เพราะ  การนับคุณสมบัตินายกฯ นับจาก “การเสนอชื่อ” ดังนั้น เมื่อไม่ถือหุ้นอยู่แล้ว จึงถือว่า “ไปต่อได้”

 

\"หุ้นITV\" กำหนดชะตา (ว่าที่) \"นายกฯพิธา\" ไปไม่ถึง??

ทว่าอีกมุมมอง “อ.สมัย” ระบุว่า “อาจจะผิด” เพราะคุณสมบัติห้ามถือหุ้นสื่อฯ นั้นถูกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ หลายมาตราและครอบคลุมทั้ง การยื่นใบสมัครลงรับเลือกตั้งเป็นส.ส., การยินยอมให้พรรคการเมืองเสนอชื่อเป็น “แคนดิเดตนายกฯ” ซึ่งทั้งหมดนั้น ได้ยื่นต่อ “กกต.” ตั้งแต่วันที่ 4 เมษายน

 

โดยในมุมมมองที่สองของ “อ.สมชัย” นั้นประเมินว่า อาจเป็นประเด็นที่นำไปสู่ข้อถกเถียง ในช่วง “โหวตพิธาเป็นนายกฯ” ได้ และอาจนำไปสู่การยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ภายหลัง

 

 

“ช่วงนี้ ต้องจับตาการทำงานของ กกต. ว่าจะมีการพิจารณาอย่างไร  แต่แม้ กกต.จะปล่อยไป ทว่าในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญให้สิทธิส.ส. หรือ ส.ว. เข้าชื่อร่วมกัน 1 ใน 10 เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ส.ส.คนใดขาดคุณสมบัติหรือไม่  ตามมาตรา 82 ของรัฐธรรมนูญ” อ.สมชัย กล่าว

 

หากให้ประเมินสถานการณ์ทางการเมืองหลังจากนี้ “อ.สมชัย” ประเมินว่าหากเกิดกรณีที่ “พิธา” ไม่ได้ไปต่ออาจทำให้ มวลชน ไม่พอใจ และเกิดการประท้วงได้ แต่ตนอยากให้มีสติ และมองว่าจะทำอย่างไรให้ชัยชนะของฝั่งประชาธิปไตยเดินทางต่อไปได้ แต่หากใช้ความรุนแรง ก็อาจจะเข้าทางอีกฝ่ายได้ และอาจนไปสู่การปฏิวัติ รัฐประหารได้

 

 

เมื่อตั้งคำถามว่า ประเด็นถือหุ้นสื่อฯ เท่ากับว่า “ก้าวไกล” สะดุดขาตัวเองใช่หรือไม่ “อ.สมชัย” มองว่า “อาจจะใช่" แต่ไม่ทราบว่า เป็นเพราะไม่ได้คุย หรือ ถอดบทเรียนจาก อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ”หรือไม่ และหาก มีคำชี้ขาด “พิธา” ถือหุ้นสื่อฯ ออกมาต้องจับตาด้วยว่า จะมีคดีที่ไปสู่ศาลอาญาหรือไม่.