‘คารม’ ขยี้ ‘พิธา’ ใจระส่ำโดนสอบหุ้นสื่อ ไม่มั่นใจคุณสมบัติจึงโอนให้ทายาท
‘คารม พลพรกลาง’ ย้อนแสบถึงบ้านเก่า ชี้ ‘พิธา’ ใจเต้นระส่ำปมถูก กกต.สอบคดีหุ้นสื่อ ชี้ไม่มั่นใจคุณสมบัติตัวเอง จึงโอนหุ้นให้ทายาท
เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 2566 นายคารม พลพรกลาง ผู้สมัคร ส.ส.พรรคภูมิใจไทย อดีต ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ และพรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กถึงกรณีการถือหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ที่อยู่ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตรวจสอบ ว่า ในฐานะคนเคยถูกตรวจสอบจากศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อครั้งเป็น ส.ส. พรรคอนาคตใหม่ ว่าเป็นส.ส.ที่ถือหุ้นสื่อหรือไม่ และได้ยื่นคำแก้ข้อกล่าวด้วยตนเอง ไม่ได้ให้ทนายที่ไหนทำให้ และไม่ได้ใช้ทนายพรรคอนาคตใหม่ในขณะนั้น สุดท้ายก็ชนะคดี ในศาลรัฐธรรมนูญ เพราะบริษัทฯ ที่มีอยู่นั้นไม่ได้ประกอบธุรกิจด้านสื่อสารมวลชน
วันนี้กลับมาเป็นนักกฎหมาย “ไม่ได้อยากมีแสงอะไร” เพราะอยู่แต่บ้านนอก ความมืดก็ทำให้มีสมาธิดีและมีความสุขตามอัตภาพ “ในฐานะประชาชน” ขอแสดงความคิดเห็นในประเด็นของ” หัวหน้าพรรคก้าวไกล “ว่าคุณสมบัติของคุณพิธาฯ นั้น ขัดต่อรัฐธรรมนูญของคนที่จะเป็น ส.ส. หรือเป็นนายกฯ ว่าห้ามไม่ให้ถือหุ้นสื่อหรือไม่
ข้อกฎหมาย นั้นชัดเจน ส.ส. หรือแคนดิเดตนายกฯ ที่มาจากส.ส.นั้น ถือหุ้นสื่อไม่ได้ เพราะฉะนั้นมีเพียงข้อเท็จจริงเท่านั้น ที่จะต่อสู้กันต่อไปว่า ไอทีวีเป็นสื่อ และประกอบกิจการสื่ออยู่หรือไม่ ส่วนเรื่องถือหุ้นของคุณพิธา น่าจะไม่มีอะไรซับซ้อน
เมื่อไอทีวีเป็นสื่ออยู่แล้วใคร ๆ ก็ทราบดี ประเด็นจึงมีเพียงว่า ไอทีวียังประกอบกิจการอยู่ไหม และกรณีที่ยังฟ้องร้องกันอยู่นั้น มีประเด็นคืออะไร ถ้ามีประเด็นว่าไอทีวียังเป็นสื่อและรัฐบาลปิดไอทีวีไม่ได้ และยังไม่ปิดบริษัท แม้ไปทีวีไม่ได้ออกอากาศ จะถือว่าเป็นบริษัทที่ยังประกอบกิจการสื่ออยู่หรือไม่
ในประเด็นเรื่อง ส.ส. จะถือคุณสมบัติเกี่ยวกับการถือหุ้นสื่อ ขณะลงสมัคร ส.ส. ส่วนคุณสมบัติของคนจะเป็นนายกฯ นั้น จะถือขณะถูกเสนอชื่อเป็นนายกฯ หรือขณะถูกเสนอชื่อเป็นแคนดิเดตนายกฯ อันนี้ก็น่าสนใจ การที่คุณพิธา โอนหุ้นให้ทายาทคนอื่นไปแล้วในขณะนี้นั้น แสดงว่าเขาไม่มั่นใจในเรื่องคุณสมบัติของตนเองขณะลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ว่าจะชนะไหม เกี่ยวกับการถือหุ้นสื่อ
แต่เมื่อมีการโอนหุ้นออกไปแล้วในขณะนี้ จึงอาจพอที่จะเอาไว้สู้ตอนถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี ได้ว่าโอนหุ้นไปแล้ว คุณสมบัติไม่ขัดรัฐธรรมนูญ สามารถดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ ซึ่งไม่นานศาลรัฐธรรมนูญคงวินิจฉัย มีข้อน่าคิดคือสำหรับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้น จะผูกพันทุกองค์กรตามกฎหมาย เอาไว้อ้างเอาไว้ต่อสู้ได้แต่คำพิพากษาศาลฎีกานั้น ไม่ได้ผูกพันองค์กรไหน ผูกพันเฉพาะคู่ความ