‘ITV’ จากอดีตทีวีเสรีในตำนาน สู่มหากาพย์ ‘หุ้นสื่อ’

‘ITV’ จากอดีตทีวีเสรีในตำนาน สู่มหากาพย์ ‘หุ้นสื่อ’

หลายคนคงคุ้นเคยกับชื่อของสถานีโทรทัศน์ “ITV” ในฐานะสื่อสาธารณะที่ปิดตัวไปแล้ว แต่ในปัจจุบัน ITV ยังคงมีรายได้จากผลตอบแทนการลงทุนอยู่ ทำให้มีคนตั้งคำถามว่า “พิธา” จะเข้าข่ายถือหุ้นสื่อหรือไม่

Key Points:

  • สถานีโทรทัศน์ไอทีวี เป็นสื่อสาธารณะช่องแรกที่เกิดจากการเรียกร้องของประชาชน ที่ต้องการให้มีสื่อหลักนำเสนอข่าวสารที่เป็นกลาง โดยไม่ถูกปิดกั้นจากรัฐบาล
  • ปัญหาใหญ่ที่ทำให้ ITV ต้องยุติกิจการเป็นเพราะถูกยกเลิกสัมปทานจากรัฐบาล เนื่องจากมีการปรับผังรายการทำให้ผิดสัญญา และต้องจ่ายค่าปรับเป็นจำนวนมาก
  • ปัจจุบันแม้ว่า ITV จะไม่ได้ดำเนินกิจการสื่อแล้ว แต่ยังคงมีรายได้จากผลตอบแทนเงินลงทุน ทำให้ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” อาจเข้าข่ายถือหุ้นสื่อแม้ว่าจะระบุว่าเป็นเพียงแค่ผู้จัดการมรดก

ชื่อของ “สถานีโทรทัศน์ไอทีวี” หรือ ITV คือ สถานีโทรทัศน์เสรีที่เปิดตัวในปี 2539 เน้นการนำเสนอรายการและข่าวสารด้วยความเป็นกลาง รวมถึงเน้นสาระความรู้ในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้ประชาชนมีทางเลือกในการรับชมรายการที่ดีและมีคุณภาพ ก่อนจะปิดตัวลงเมื่อปี 2550 จากการที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี หรือ สปน. ยกเลิกสัมปทาน

แม้ว่า “ITV” จะปิดตัวไปเกือบ 30 ปีแล้ว แต่ก็กลับถูกหยิบยกมาพูดถึงอีกครั้งในช่วงนี้ หลังจากการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พ.ค. ที่ผ่านมา ที่ “พรรคก้าวไกล” นำโดย พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ชนะการเลือกตั้ง และอยู่ระหว่างรอการรับรองผลการเลือกตั้งจาก คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. แต่ถูก “เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ” ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ยื่นคำร้องต่อ กกต. ว่า “พิธา” อาจมีลักษณะต้องห้ามในการลงสมัครรับเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) เนื่องจากมีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) จำนวน 42,000 หุ้น

จากประเด็นการถือหุ้นสื่อของพิธา ทำให้ชื่อของ “ITV” กลับมาอยู่ในความสนใจของสังคมอีกครั้ง พร้อมกับการตั้งคำถามว่าหากสถานีโทรทัศน์ปิดตัวไปแล้ว ยังถือว่าพิธาถือ “หุ้นสื่อ” อยู่หรือไม่

แม้ว่าชื่อของ ITV จะค่อยๆ เลือนหายไปตามกาลเวลา แต่ในปัจจุบันหลายคนอาจสงสัยว่า ITV เกิดขึ้นและปิดตัวลงได้อย่างไร “กรุงเทพธุรกิจ” จะพาย้อนเวลาไปรู้จักกับ “สถานีโทรทัศน์เสรี” ถึงประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจ ที่คนรุ่นใหม่อาจไม่เคยรู้ 

  • ITV สถานีโทรทัศน์เสรี จากการเรียกร้องของประชาชน

ย้อนไปเมื่อปี 2539 หรือ 27 ปีก่อน มีสถานีโทรทัศน์ช่องใหม่ถือกำเนิดขึ้นในประเทศไทย ใช้ชื่อว่า “สถานีโทรทัศน์ไอทีวี” หรือ “ITV” ย่อมาจาก Independent Television แปลตรงตัวว่า สถานีโทรทัศน์เสรี ซึ่งเป็นชื่อที่มาจากแนวคิดที่อยากให้คนไทยไม่ถูกปิดกั้นจากข้อมูลข่าวสารต่างๆ มีสื่อที่เสนอข่าวได้อย่างถูกต้องและเป็นกลาง เนื่องจากในยุคสมัยนั้น ช่องโทรทัศน์ส่วนมากอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของภาครัฐ ทำให้การรายงานข่าวหรือการส่งต่อข้อมูลด้วยสื่อหลัก ถูกมองว่าอาจไม่เป็นกลาง ไม่ชอบธรรม และค่อนข้างถูกจำกัด จึงเกิดการเรียกร้องจากประชาชนให้รัฐบาลมีสื่อที่เสรี ไม่อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาล เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์และถูกต้องมากขึ้น จนทำให้เกิดช่อง ITV ขึ้นมาในที่สุด

สถานีโทรทัศน์ ITV ดำเนินกิจการโดย บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ได้รับการอนุมัติให้ดำเนินการสัมปทานสถานีโทรทัศน์ระบบ UHF จำนวน 1 ช่องสถานี จาก สปน. โดยมี “มีชัย วีระไวทยะ” ดูแลการเปิดสัมปทานสถานีในขณะนั้น และมีเงื่อนไขว่า ผู้รับสัมปทานต้องมีผู้ถือหุ้น 10 ราย ซึ่งแต่ละรายต้องมีสัดส่วนหุ้นเท่ากัน นอกจากนี้ต้องแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชน เพื่อป้องกันการผูกขาด และที่สำคัญต้องมีสัดส่วนเนื้อหารายการข่าวและสาระ ไม่ต่ำกว่า 70% และรายการบันเทิงไม่เกิน 30% เพื่อเปิดดำเนินการสถานีโทรทัศน์เสรีและเป็นทีวีเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง

  • จากทีวีเสรี สู่การเข้ามาถือหุ้นสื่อโดยตระกูลชินวัตร

หลังจากการออกอากาศได้ไม่นาน ในปี 2540 ที่อยู่ในช่วง “วิกฤติต้มยำกุ้ง” ซึ่งสร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจของไทยอย่างหนัก ส่งผลให้ไอทีวีขาดทุนอย่างมาก ทำให้รัฐบาลของชวน หลีกภัย มีมติอนุมัติให้แก้ไขสัญญาสัมปทาน เมื่อ 1 ก.พ. 2543 ต่อมาในเดือน พ.ย. ปีเดียวกัน ธนาคารไทยพาณิชย์ดึงกลุ่มชิน คอร์ปอเรชั่น หรือ ชินคอร์ป ซึ่งเป็นหนึ่งในหุ้นของ “ตระกูลชินวัตร” เข้ามาถือหุ้นไอทีวีด้วยวงเงิน 1,600 ล้านบาท ถือเป็นสัดส่วน 39% รวมถึงแปลงหนี้เป็นทุนมีสัดส่วน 55% และมอบสิทธิ์ในการบริหารให้ “ชินคอร์ป”

ต่อมาในปี 2544 ทักษิณ ชินวัตร จากพรรคไทยรักไทย ได้รับการเลือกตั้งเข้าสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จในเดือน ก.พ. หลังจากนั้นในเดือน มี.ค. 2545 “ITV” เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และในปี 2547 ชินคอร์ปยื่นเรื่องต่ออนุญาโตตุลาการ ขอแก้ไขสัญญาและขอลดค่าสัมปทาน เพราะมองว่าสถานีโทรทัศน์ช่องอื่นจ่ายค่าสัมปทานให้รัฐราคาต่ำกว่า เช่น ช่อง 3 จ่ายปีละ 107 ล้านบาท ส่วน ช่อง 7 จ่ายปีละ 187 ล้านบาท แต่ในส่วนของ ITV ต้องจ่ายปีละ 840 ล้านบาท ในตอนนั้นอนุญาโตตุลาการได้มีคำวินิจฉัยให้ลดค่าสัมปทานเหลือ 230 ล้านบาท รวมถึงอนุญาตให้แก้ไขสัดส่วนการออกอากาศ ให้รายการข่าวและรายการบันเทิงมีสัดส่วนเท่ากันที่ 50% แต่จากการแก้ไขสัมปทานดังกล่าว ส่งผลให้ สปน. เป็นฝ่ายเสียผลประโยชน์

  • เพราะอะไร ITV ถึงต้องปิดตัว?

จากคำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการที่ทำให้ สปน. เป็นผู้เสียผลประโยชน์ นำไปสู่การยื่นเรื่องนี้ต่อศาลปกครอง ขอให้เพิกถอนคำสั่งคณะอนุญาโตตุลาการ ทำให้ในปี 2549 “ITV” ต้องกลับไปจ่ายค่าสัมปทานปีละ 840 ล้านบาท และต้องปรับผังรายการกลับมาเป็นสัดส่วน 70 ต่อ 30 เหมือนเดิม นอกจากนี้ยังต้องจ่ายค่าปรับวันละ 100 ล้านบาท  เนื่องจากปรับเปลี่ยนผังรายการโดยไม่เป็นไปตามสัญญา รวมระยะเวลาประมาณ 2 ปี คิดเป็นเงินทั้งสิ้นประมาณ 100,000 ล้านบาท ส่งผลให้หุ้นไอทีวีร่วงหนักถึง 30% ที่สำคัญหากไอทีวีไม่สามารถจ่ายเงินทั้งหมดได้ภายใน 7 มี.ค. 2550 ทางรัฐบาลจำเป็นต้องยกเลิกสัมปทาน ในช่วงเวลานั้นไอทีวีมีรายได้ไม่เพียงพอต่อรายจ่ายทำให้ต้องเลิกกิจการไปในที่สุด

  • สถานะ ITV ในปัจจุบัน และการถือ “หุ้นสื่อ” ของพิธา

หลังจากถูกยกเลิกสัมปทานไปทำให้ ITV จำเป็นต้องยุติการออกอากาศ แต่หากย้อนดูการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทในตอนแรกกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า วันที่ 20 ต.ค. 2541 พบว่า ITV เปิดตัวด้วยทุนจดทะเบียน 7,800 ล้านบาท พร้อมวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินธุรกิจประเภทการเผยแพร่ภาพยนตร์วีดิทัศน์และรายการโทรทัศน์

แม้ว่าปัจจุบัน “ITV” จะไม่ได้ประกอบกิจการเป็นสถานีโทรทัศน์แล้ว แต่จากงบการเงิน ปี 2565 ยังคงมีรายได้อยู่ที่ 20.6 ล้านบาท ซึ่งมาจากผลตอบแทนเงินลงทุน และดอกเบี้ยรับ ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจสื่อ รวมถึงก่อนหน้านี้ในปี 2557 คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ ก.ล.ต. มีมติเพิกถอนหุ้นสามัญของไอทีวีที่เคยทำการซื้อขาย ออกจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยอีกด้วย

ในปัจจุบันผู้ถือหุ้นใหญ่ของ ITV ทั้งหมด 75% คือ “อินทัช” ของ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) โดยมี “สารัชถ์ รัตนาวะดี” เป็นหัวเรือใหญ่ สำหรับในส่วน “หุ้นสื่อ” ของ พิธา ที่กำลังเป็นประเด็นในสังคมนั้น เป็นหุ้นที่อยู่ในกองมรดกที่พิธาเป็นผู้จัดการอยู่ มีจำนวน 42,000 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 0.0035% ของจำนวนหุ้นทั้งหมดของ ITV แต่ก็เรียกได้ว่าเป็น “หุ้นติดลบ” เนื่องจากปัญหาการดำเนินธุรกิจที่ผ่านมาทั้งหมดของ ITV

สุดท้ายแล้วบทสรุปการถือหุ้นสื่อของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล จะเป็นอย่างไร ส่งผลกระทบต่อการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและการจัดตั้งรัฐบาลต่อไปในอนาคตหรือไม่ ยังคงต้องติดตามกันต่อไป แม้ว่า “ITV” จะไม่ได้มีสถานะเป็นสื่อแล้วก็ตาม

 

อ้างอิงข้อมูล : สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์, กรมพัฒนาธุรกิจการค้า, ลงทุนแมน และ ฐานเศรษฐกิจ