จับตา ‘ปฏิวัติพลเมือง’ จาก ‘ราษฎร’ ถึง ‘ด้อมส้ม’
"...การขับเคลื่อนพลังสีส้ม ผ่านกระบวนการเลือกตั้ง ส่งผลสะเทือนมหาศาลต่อสังคมไทย และชั่วโมงนี้ คนไทยส่วนใหญ่มีอารมณ์ร่วมที่อยากจะเห็นรัฐบาลแห่งความความหวัง และอยากให้ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี..."
ส่องกล้องมองโซเชียลวันนี้ ก็มีกระแสมวลชน ทั้งฝ่ายหนุนพิธา ฝ่าด่านกลุ่มอนุรักษนิยมเป็นนายกรัฐมนตรี และฝ่ายต่อต้านพิธา และพรรคก้าวไกล ที่มาแรงและเข้มข้นไม่แพ้กัน
วันที่ 8 มิ.ย.2566 สมยศ พฤกษาเกษมสุข แกนนำกลุ่ม 24 มิถุนา ประชาธิปไตย ได้ยกขบวนไปเป่านกหวีดที่สำนักงาน กกต. บริเวณหน้าอาคารรัฐประศาสนภักดี หรืออาคารบี เพื่อเรียกร้องขอให้ กกต.รับรองผลการเลือกตั้งทันที และยุติการขัดขวางประชาธิปไตย
สมยศยังเสนอให้ กกต.ไม่รับคำร้องกรณีพิธา ถือหุ้นไอทีวี เพราะเป็นการใช้รัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย และอาจจะนำไปสู่การออกมาชุมนุมประท้วงกันขนาดใหญ่ได้
สองสัปดาห์ก่อนหน้านี้ ได้เกิดการเผชิญหน้ากัน ระหว่างฝ่ายเสรีนิยมก้าวหน้า กับฝ่ายอนุรักษนิยม ผ่านตัวแทนอย่าง อานนท์ นำภา แกนนำกลุ่มราษฎร ที่พูดถึงม็อบออร์แกนิก ดูจงใจจะดับเครื่องชนข้อเสนอรัฐบาลแห่งชาติ ของ ส.ว.จเด็จ อินสว่าง
จเด็จ อินสว่าง ชี้ให้เห็นการเมืองถึงทางตันแน่ เพราะ สว.ส่วนใหญ่จะไม่โหวตหนุน พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี หลังจากนั้น บ้านเมืองจะมีความวุ่นวาย มีม็อบลงถนน จึงหาทางออกให้บ้านเมือง
อานนท์ นำภา ได้โพสต์เฟซบุ๊กว่า ‘ครั้งนี้พวกกูไม่ยอม’ และตามมาด้วยการอธิบายเรื่องการลงสู่ท้องถนนของมวลชนอีกครั้ง หากกลุ่ม ส.ว.สายอนุรักษนิยม สกัดไม่ให้พิธาเป็นนายกฯ
ถ้าจำกันได้ หลังการยุบพรรคอนาคตใหม่ ได้เกิดแฟลชม็อบทั่วประเทศ เป็นการลุกฮือของคน Gen Z ในรั้วมหาวิทยาลัย แล้วก็กลายเป็นม็อบไล่ประยุทธ์ และยกระดับทะลุเพดาน
ตอนนั้น มีทั้งม็อบที่มีแกนนำอย่างกลุ่มราษฎร และกลุ่มเยาวชนปลดแอก และม็อบที่ไม่มีแกนนำ หรือม็อบออร์แกนิก(Organic Mob)
ย้อนไปเมื่อ 17 ต.ค.2563 ได้มีการชุมนุมของคนรุ่น Gen Z ที่ห้าแยกลาดพร้าว อุดมสุข วงเวียนใหญ่ ประเภทใกล้ที่ไหน ไปที่นั่น นี่เป็นจุดเริ่มต้นของม็อบออร์แกนิก ไม่มีรถปราศรัย ทุกคนเป็นแกนนำ รวมตัวกันทำกิจกรรม ก่อนจะแยกย้ายเดินทางกลับ
หลายคนมองว่า ม็อบออร์แกนิก ที่ไม่มีแกนนำมีความสุ่มเสี่ยงที่เป็นอนาธิปไตย เหมือนม็อบฮ่องกง และช่วงปี 2565 ก็เกิดม็อบทะลุแก๊ซที่สามเหลี่ยมดินแดง
ช่วงที่เริ่มมีแฟลชม็อบ ต้านการยุบพรรคอนาคตใหม่ ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ได้โพสต์เฟซบุ๊คว่าด้วยเรื่อง ห้วงเวลาปฏิวัติ (Revolutionary Moment)
“การปฏิวัติจะบังเกิดได้ในห้วงเวลาประวัติศาสตร์ที่ประชาชนจำนวนมหาศาลเกิดความรู้สึกนึกคิดร่วมกันในสองมิติ ได้แก่ มิติแห่งความโกรธแค้น และมิติแห่งความหวัง”
อย่างไรก็ตาม การชุมนุมของเยาวชนคนรุ่นใหม่ มักจบลงด้วยการจับกุมแกนนำ และการต่อสู้บนท้องถนน ก็เปลี่ยนไปสู่การใช้สื่อใหม่ทำสงครามความคิด
ปฏิเสธไม่ได้ว่า การเคลื่อนไหวในรัฐสภาของพรรคก้าวไกล ก็เป็นส่วนหนึ่งของขบวน การต่อสู้ของประชาชน และได้นำมาซึ่งการแสดงพลังต่อต้านอำนาจเก่า การเมืองเก่าในคูหาเลือกตั้ง เมื่อ 14 พ.ค.2566
ชัยชนะของพรรคก้าวไกล และคะแนน 14 ล้านเสียง ก็มาจากการต่อสู้ของคนรุ่นใหม่บนท้องถนนและในออนไลน์ ที่สะสมความไม่พอใจต่อระบบการเมืองเก่า ตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปีนี้
เมื่อเร็วๆนี้ ปิยบุตร แสงกนกกุล อดีตผู้ก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ ได้บอกเล่าผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊คว่า กำลังจะเขียนบันทึกเรื่อง “ปฏิวัติพลเมือง” ว่าด้วยเรื่องกำเนิดพรรคอนาคตใหม่ จนมาถึงพรรคถูกยุบ เกิดการชุมนุมของกลุ่มราษฎร จนมาถึงการชนะเลือกตั้งของพรรคก้าวไกล และสถานการณ์ต่อไปที่พรรคก้าวไกลต้องเผชิญ
ปิยบุตร เล่าว่า “...หากใครได้เคยอ่านบทสัมภาษณ์และข้อเขียนของผมหลายชิ้น คงทราบอยู่บ้างว่า การก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ ไม่ได้คิดอยากตั้งก็ตั้ง หรือเกิดจากความอยากเป็น ส.ส. แต่มันถูกชี้นำด้วยทฤษฎีการเมือง และการประเมินสภาพสังคมไทยทั้งในแง่ประวัติศาสตร์ และทางภาววิสัย”
สมัยที่เริ่มก่อร่างสร้างพรรคอนาคตใหม่ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และเพื่อนรัก ชัยธวัช ตุลาธน เป็นนักปฏิบัติการ ส่วนปิยบุตร เป็นนักทฤษฎีของพรรค
“ผมได้นำเอาความคิดของปรัชญาเมธีในโลกตะวันตกหลายคน เช่น อันโตนิโอ กรัมชี่, เออร์เนสโต้ ลาคลาว, ช็องตาล มูฟฟ์ หรือย้อนกลับไปไกลเสียหน่อยก็คือ เลนิน และทร็อตสกี้ เป็นต้น รวมไปถึงนำเอาแนวทางการก่อตั้งพรรคใหม่ๆในยุโรปและละตินอเมริกา ที่รับอิทธิพลจากทฤษฎีของลาคลาวและมูฟฟ์ มาประยุกต์ใช้”
ผู้ที่ติดตามการเคลื่อนไหวของปิยบุตร จะทราบดีว่า เขามักอ้างถึง อันโตนิโอ กรัมชี นักลัทธิมาร์กซ ชาวอิตาเลียน อยู่บ่อยครั้ง โดยเขาบอกว่า “ความคิดของกรัมชี่ สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการต่อสู้ทางการเมืองในสังคมไทย โดยเฉพาะช่วงยามหัวต่อหัวเลี้ยวเช่นนี้”
โดยเฉพาะแนวคิดที่ว่าด้วยการเอาชนะทางความคิดเหมือนแกนนำพรรคก้าวไกลทำอยู่ ด้วยการเปลี่ยนความคิดคนที่เคยเป็นเสื้อเหลือง หรือ กปปส.ให้มายอมรับแนวทางการเมืองใหม่ของก้าวไกล
ผู้ที่เข้าคูหากาก้าวไกล ไม่ได้มีแค่ Gen X Gen Y Gen Z เท่านั้น หากแต่ยังมีคนวัยเกษียณจำนวนไม่น้อย รวมถึงผู้คนทุกชั้นชน ทั้งในเมืองและในชนบท
“วิธีคิดของกรัมชีมองว่า การยึดอำนาจรัฐด้วยกำลังทางกายภาพเช่น กำลังทหาร มวลมหาประชาชน หรือที่เรียกว่า สงครามขับเคลื่อนพื้นที่ (War of Movement)แค่นั้นไม่สำเร็จหรอก ถ้าคุณไม่ได้เปลี่ยนความคิดคน ดังนั้น กรัมชีจึงบอกว่าต้องทำงานผ่านสงครามทางความคิด (War of Position) ด้วย”
การขับเคลื่อนพลังสีส้ม ผ่านกระบวนการเลือกตั้ง ส่งผลสะเทือนมหาศาลต่อสังคมไทย และชั่วโมงนี้ คนไทยส่วนใหญ่มีอารมณ์ร่วมที่อยากจะเห็นรัฐบาลแห่งความความหวัง และอยากให้ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี
ดังนั้น หากสถานการณ์พลิกผัน พิธาถูกสอย ด้วยคดีหุ้นไอทีวี หรือไม่ผ่านด่าน สว. อารมณ์แห่งความหวัง จะแปรเปลี่ยนเป็นโกรธแค้น อะไรจะเกิดขึ้นบ้าง หลายคนไม่อยากจินตนาการไปถึงวันนั้น