การเมืองจะดีเมื่อประชาชนฉลาดและเข้มแข็ง | วิทยากร เชียงกูล

การเมืองจะดีเมื่อประชาชนฉลาดและเข้มแข็ง | วิทยากร เชียงกูล

เรื่องการเมืองมีความหมายกว้างกว่าแค่การเลือกตั้ง ส.ส. ทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ สังคมของประชาชนกลุ่มต่างๆ และกับภาครัฐบาล

ล้วนเป็นเรื่องการเมืองที่ประชาชนกลุ่มต่างๆ ต้องต่อรอง หาทางเข้าไปดูแล, ควบคุมการบริหารจัดการทรัพยากรที่เป็นของประชาชน ทั้งงบประมาณแผ่นดิน ที่ดิน ป่าไม้ แร่ธาตุ คลื่นความถี่ ฯลฯ ให้โปร่งใสเกิดประโยชน์สูงสุดต่อภาคประชาชน

ประชาชนไทยยังตื่นตัวทางการเมืองและมีการจัดตั้งองค์กรน้อย เช่น สหภาพแรงงาน กลุ่มเกษตรกร กลุ่มอาชีพต่างๆ ยังไม่เข้มแข็ง พรรคที่มาจากแรงงานและชาวนาชาวไร่เป็นพรรคเล็กมากที่ไม่ได้ ส.ส.เลย และไม่มีพรรคก้าวหน้าฝ่ายซ้ายที่แท้ มีแต่พรรคจารีตนิยมและเสรีนิยมทางเศรษฐกิจ 

คนที่มีการศึกษา มีความรู้ ความสามารถด้านการบริหารจำนวนหนึ่งมองว่า การเมืองเป็นเรื่องการใช้เล่ห์เหลี่ยมที่น่าเบื่อกว่าจะอยากเข้าไปร่วมวงแข่งขันด้วย

แต่อย่างที่ เพลโต นักปราชญ์ชาวเอเธนส์ยุคโบราณเคยกล่าวไว้ว่า “คนที่คิดว่าตนเองฉลาดเกินกว่าที่จะไปข้องเกี่ยวกับเรื่องการเมือง มันจะลงเอยด้วยการอยู่ภายใต้การปกครองของคนที่โง่กว่า”

ประชาชนทุกคนในฐานะพลเมืองที่ต้องเสียภาษี (ทั้งทางตรงและทางอ้อม) ทำตามกฎหมายและทำอะไรหลายอย่างที่รัฐเป็นผู้กำหนด (เช่น ผู้ชายวัยหนุ่มต้องไปเกณฑ์ทหาร) ทั้งเป็นเจ้าของทรัพย์สมบัติสาธารณะของประเทศร่วมกันด้วย

ดังนั้น เราต่างมีส่วนได้ส่วนเสียในเรื่องการเมืองหรือการบริหารจัดการทรัพยากรของประเทศ ที่ต้องตื่นขึ้นมาติดตามรู้เท่าทันเรื่องการเมือง เพื่อป้องกัน รักษาสิทธิผลประโยชน์ของเราเท่าที่จะทำได้ ถ้าไม่อยากให้คนที่โง่กว่า ขี้โกงกว่า มาปกครองบ้านเมืองของเรา

 

ประชาชนไทยยังต่อรองและมีบทบาททางการเมืองได้น้อย เพราะการศึกษา การรู้เท่าทันทางเศรษฐกิจการเมืองและการรวมกลุ่มกันน้อย ขณะที่รัฐธรรมนูญ กฎหมายอื่นๆ และระบบการเมือง ให้อำนาจคนที่ได้เป็น ส.ส. โดยเฉพาะกลุ่มที่รวมเสียงข้างมากจัดตั้งรัฐบาลได้มากเกินไป

ทำให้การเลือกตั้ง ส.ส.แต่ละครั้งมีการใช้เงินกันมาก ทั้งการโฆษณาประชาสัมพันธ์ การซื้อเสียง ซื้อใจกัน (ด้วยความช่วยเหลือเกื้อกูลต่างๆ) ผ่านหัวคะแนนระบบกำนันผู้ใหญ่บ้าน ผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น เครือญาติ ฯลฯ มากกว่าค่าแผ่นป้ายโฆษณา

การที่คนไทยเข้าใจประชาธิปไตยแคบๆ ว่าคือระบบเลือกตั้ง ทำให้เมื่อเลือกใครไปเป็น ส.ส. เป็นรัฐบาลได้แล้ว ประชาชนก็ไม่ได้คิดจะต่อรองเรื่องนโยบาย เรื่องกฎหมาย เรื่องที่สำคัญต่างๆ อีก บางคนอาจไปขอความช่วยเหลือเรื่องส่วนตัวบางเรื่องจากพวก ส.ส.พวกได้เป็นรัฐบาลได้บ้าง 

แต่จริงๆ แล้วคือ ประชาชนได้น้อย (ขาดทุน) นักการเมืองได้มาก (กำไร) พวกนักการเมืองที่มีตำแหน่งได้ทั้งเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง เบี้ยประชุม การทุจริต สวัสดิการต่างๆ ทั้งยังหาช่องทางทำธุรกิจหาผลประโยชน์จากรัฐ รวมทั้งการทุจริตฉ้อฉลได้มากด้วย

โครงการประชาชนนิยมที่ดูเหมือนประชาชนได้พอสมควรนั้น แท้จริงคือรัฐบาลต้องกู้หนี้มากขึ้น ความหมายคือ ประชาชนต้องแบกรับภาระหนี้มากขึ้นโดยไม่รู้ตัว ประชาชนรุ่นปัจจุบันและลูกหลานรุ่นต่อไปต้องจ่ายภาษีเพิ่มขึ้น เมื่อรัฐต้องทยอยจ่ายคืนหนี้ รวมทั้งดอกเบี้ยมากขึ้นก็เหมือนพัฒนาประเทศได้ลดลง

จริงๆ แล้ว ประชาชนจึงไม่ได้ติดหนี้บุญคุณ พวกชนชั้นผู้ปกครองต่างหากที่ควรติดหนี้บุญคุณประชาชน เพราะเขาทั้งได้เงินเดือนสูง ทั้งมีอำนาจในการถลุงงบประมาณ พวกนักการเมืองที่ร่ำรวยผิดปกติต่างหากที่ทำบาป

จะปฏิรูปการเมืองให้ดีกว่านี้ได้ ประชาชนต้องเรียกร้องเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ กฎหมายเลือกตั้ง กฎหมายอื่นๆ ให้ประชาชนมีสิทธิ เสรีภาพและโอกาสในการมีงานที่เหมาะสม มีรายได้ที่เป็นธรรม ได้เป็นเจ้าของที่ดิน ทุน ปัจจัยการผลิตทรัพย์สินต่างๆ

การได้รับบริการทางการศึกษา สาธารณสุข สาธารณูปโภค บริการทางสังคมต่างๆ ที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึงเป็นธรรม ที่ยกตัวอย่างมานี้คือสิทธิที่ประชาชนควรได้รับ ไม่ใช่แค่สิทธิในการเลือกตั้งผู้แทนเท่านั้น

คำว่า “โอกาส” นี้สำคัญ เพราะถึงรัฐธรรมนูญกฎหมายต่างๆ จะเขียนไว้สวยว่าประชาชนทุกคนมีสิทธิเสรีภาพที่จะเป็นเจ้าของที่ดิน เจ้าของกิจการต่างๆ สิทธิในการลงทุนค้าขาย สร้างความร่ำรวยได้ แต่ระบบเศรษฐกิจที่เป็นจริงคือระบบทุนนิยมแบบกึ่งผูกขาด ที่คนรวยมีอำนาจ มีโอกาสเอาชนะได้มากกว่าคนจน 

ดังนั้น คนจนไม่ได้มีโอกาสที่จะได้สิทธิเหล่านั้นจริง แค่เขียนไว้สวยๆ ถึงประชาชนบางคนจะไปแข่งขัน เช่น ไปค้าขายได้ แต่ก็จะแพ้ทุนที่ใหญ่กว่า เพราะระบบเศรษฐกิจทุนนิยมกึ่งผูกขาด เป็นแบบมือใครยาวสาวได้สาวเอา คนมือยาวย่อมชนะคนมือสั้นเสมอ ระบบนี้จึงไม่เป็นประชาธิปไตยในแง่เศรษฐกิจ

ประชาชนควรเรียนรู้วิธีเล่นการเมืองให้เก่งกว่าแค่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง คือต้องศึกษา จัดตั้งกลุ่ม องค์กร (สหภาพแรงงาน กลุ่มเกษตรกรต่างๆ กลุ่มสมาคมอาชีพต่างๆ สหกรณ์ ฯลฯ)

เพื่อเรียกร้องผลักดันการปฏิรูปทั้งระบบการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ทั้งระบบ ที่สามารถจะที่ทำให้เกิดการกระจาย แบ่งปัน ทั้งอำนาจทางการเมือง ทรัพย์สิน รายได้ การมีงานทำ การศึกษา การรักษาพยาบาล และบริการทางสังคมอื่นๆ ไปสู่ประชาชนทั้งประเทศอย่างทั่วถึง/เป็นธรรมจริงๆ

 อาจจะเริ่มจากบางเรื่องก่อน เช่น การเรียกร้องให้ชุมชนท้องถิ่น ระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน มีอำนาจในการบริหารจัดการทรัพยากรและการเก็บภาษีการบริหารจัดการด้วยตัวแทนประชาชนในท้องถิ่นเองได้เพิ่มขึ้น แต่ก็ต้องพัฒนาการบริหารท้องถิ่นให้เป็นประชาธิปไตยโปร่งใสพร้อมกันไปด้วย

นโยบาย/โครงการที่มีพรรคการเมืองต่างๆ เสนอ ส่วนใหญ่คือโครงการแจกเงินสวัสดิการแบบเป็นโครงการย่อยเบี้ยหัวแตก ที่ประชาชนไม่ได้ประโยชน์ยั่งยืนจริง

โครงการประชานิยมแบบแจกเงินจะยิ่งทำภาครัฐเป็นหนี้สินมาก ต้องจ่ายคืนเงินต้นและดอกเบี้ยมาก จะมีเงินเหลือพัฒนาประเทศได้ลดลง

คนรุ่นหลานจะยิ่งเดือดร้อนถูกเก็บภาษีมากขึ้นด้วย อาจช่วยให้บางคนมีเงินใช้จ่ายในระยะสั้นได้บ้าง แต่ไม่เพียงพอและไม่ได้แก้ปัญหาได้จริง

 เมื่อประชาชนใช้เงินหมดไปหรือมีหนี้เพิ่มขึ้น คนก็ยังคงมีปัญหาอยู่ต่อไป ประชาชนต้องการปฏิรูปทั้งระบบโครงสร้างแบบก้าวหน้า ที่จะสามารถแก้ปัญหาทั้งระบบได้อย่างครบวงจร

คือต้องกระจายอำนาจทรัพยากร ความรู้ การจัดตั้งองค์กรประชาชน ฯลฯ ช่วยให้ประชาชนช่วยตัวเองเข้มแข็งขึ้นมาได้จริงๆ จึงผลักดันระบบเศรษฐกิจให้พัฒนาได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นธรรม และอย่างยั่งยืนจริง.