คดีหุ้น ‘ศักดิ์สยาม’ เดินต่อ! ศาล รธน.สั่งคนเกี่ยวข้องส่งหลักฐานเพิ่ม
ศาลรัฐธรรมนูญไฟเขียวคดีหุ้นรับเหมาฯ หจก.บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น กล่าวหา ‘ศักดิ์สยาม’ ให้บุคคลที่เกี่ยวข้อง ส่งเอกสารหลักฐานเพิ่มเติม เพื่อประโยชน์แห่งการพิจารณาคดี
เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. 2566 ศาลรัฐธรรมนูญ มีการประชุมพิจารณาคดีที่อยู่ในความสนใจของประชาชน โดยคดีที่น่าสนใจ เรื่องพิจารณาที่ 8/2566 กรณี ส.ส.จำนวน 54 คน เข้าชื่อยื่นคำร้องต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้ร้อง ว่า นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม และเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย ผู้ถูกร้อง ยังคงไว้ซึ่งหุ้นส่วนและยังคงเป็นผู้ถือหุ้นและเจ้าของ หจก.บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น อย่างแท้จริง จะทำให้ผู้ถูกร้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการหุ้นหรือกิจการของ หจก. เป็นการกระทำอันเป็นการต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 187 ประกอบ พ.ร.บ.การจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ. 2543 มาตรา 4 (1) เป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) หรือไม่
ผู้ร้องจึงส่งคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 และศาลรัฐธรรมนมูญ พิจารณาข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องแล้ว มีคำสั่งรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย และสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 3 มี.ค. 2566 จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยนั้น
วันนี้ ศาลรัฐธรรมนูญอภิปรายเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยแล้วเห็นว่า เพื่อประโยชน์แห่งการพิจารณา ให้บุคคลที่เกี่ยวข้องจัดส่งเอกสารหลักฐานเพิ่มเติมต่อศาลรัฐธรรมนูญ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีดังกล่าว เมื่อวันที่ 3 มี.ค. 2566 ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องแล้วเห็นว่า กรณีเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 วรรคหนึ่ง และ พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 7 (9) ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ให้รับคำร้องไว้วินิจฉัย และให้นายศักดิ์สยาม (ผู้ถูกร้อง) ชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำร้อง
ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณากรณีให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรี จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามเอกสารคำร้องและเอกสารประกอบคำร้อง ปรากฏเหตุอันควรสงสัยว่าผู้ถูกร้องมีกรณีตามที่ถูกร้อง จึงมีมติเป็นเอกฉันท์สั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 3 มี.ค. 2566 จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัย แจ้งให้คู่กรณีและนายกรัฐมนตรีทราบ
ต่อมาเมื่อวันที่ 19 มี.ค. 2566 นายศักดิ์สยาม ได้ส่งคำขอเลื่อนเข้าชี้แจงแก่ศาลรัฐธรรมนูญ และศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายเวลาการยื่นเอกสารคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา เนื่องจากเอกสารสำคัญจำนวนมาก ต้องได้รับการรับรองจากบุคคล และนิติบุคคลภายนอก โดยในขณะนี้ ทีมกฎหมายอยู่ระหว่างขอข้อมูลมาประกอบคำชี้แจง