บทเรียน "เหลี่ยมการเมือง" "ประธานสภา" ก้าวไกลแพ้ไม่ได้
"เหลี่ยมการเมือง" เดิมพัน "ก้าวไกล" ชิง "ประธานสภา" ฝ่าเกม "หักดิบ" มิตรแท้-มิตรเทียม สู่บัลลังก์ "ประมุขนิติบัญญัติ คนที่ 32"
“ซิเนริโอการเมือง” เวลานี้มีการจับตาไปที่การรับรองผลส.ส.ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ที่คาดว่าจะเริ่มรับรอง ส.ส.ล็อตแรกในสัปดาห์นี้
พลิกดูบทบัญญัติมาตรา 127 แห่งร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.)ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ระบุว่า ผลการเลือกตั้ง เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม และมีจํานวนไม่น้อยกว่าร้อยละเก้าสิบห้าของเขตเลือกตั้งทั้งหมด ซึ่งคณะกรรมการต้องตรวจสอบเบื้องต้นและประกาศผลการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จโดยเร็ว แต่ต้องไม่ช้ากว่า หกสิบวันนับแต่วันเลือกตั้ง
สิ่งที่จะเกิดขึ้นใน “ซิเนริโอ” ถัดไปคือ ศึกชิง “ประธานสภาผู้แทนราษฎร” ซึ่งจะต้องเกิดขึ้นภายใน 15 วัน โดยนับจากวันที่ กกต.รับรองผล ส.ส. ตามที่ระบุในมาตรา 121 วรรคหนึ่ง แห่งรัฐธรรมนูญ
ล่าสุด มีการส่งสัญญาณมาจาก “ประเสริฐ จันทรรวงทอง” เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ออกมาพูดถึงโควตา “ประธาน-รองประธานสภา” ที่ยึดหลักการพรรคอันดับหนึ่งจะทำหน้าที่ที่ประธานสภาฯ ส่วนตำแหน่งรองประธานสภาฯ สองตำแหน่งนั้น เนื่องจากพรรคอันดับหนึ่งและอันดับสอง มีจำนวนใกล้เคียงกัน "รองประธาน" ทั้งสองควรเป็นของพรรคลำดับที่สอง
ไม่ต่างจากฝั่ง “พรรคก้าวไกล” ล่าสุดมีรายงานว่า จากการพูดคุยของทางแกนนำทั้งพรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล มีแนวโน้มดีขึ้น มั่นใจว่าจะไม่มีความขัดแย้ง
“พรรคก้าวไกล” ยังย้ำถึงความจำเป็นต้องนั่งเก้าอี้ประธานสภา โดยยืนยันว่า เพื่อผลักดันวาระทั้ง 3 ข้อตามนโยบายของพรรค คือผลักดันกฎหมายหาเสียงไว้อย่างน้อย 45 ฉบับผลักดันให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย ผลักดันหลักการรัฐสภาโปร่งใสและประชาชนมีส่วนร่วม และไม่มีเหตุอื่น
ฉะนั้น ต้องจับตาไปที่ชื่อบุคคลที่จะมาทำหน้าที่ “ประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ” คนที่ 32 ที่จะถือเป็น “หมากการเมือง” ตัวสำคัญในการคุมบัลลังก์ฝ่ายนิติบัญญัติว่าจะเป็นผู้ใด
นอกเหนือจากตำแหน่งประมุขฝ่ายบริหาร คือตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี” ซึ่ง“พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” แคนดิเดตนายกฯค่ายส้ม ในฐานะพรรคลำดับ 1 จะต้องไปลุ้นที่อีกหลายโค้งอันตรายที่จะเกิดขึ้นในหนทางเบื้องหน้าแล้ว
ตำแหน่ง “ประธานสภาฯ” ถือเป็นอีกหนึ่งหมากตัวสำคัญใ น "เกมชิงอำนาจ" และเป็นเดิมพันสำคัญที่พรรคก้าวไกลจะ “แพ้ไม่ได้”
ด้วยขวากหนามของ “พิธา” และก้าวไกล ไม่ว่าจะเป็น "แผนเตะสกัด" จากบรรดามิตรเทียม-ศัตรูแท้ ที่จ้องเตะตัดขา สกัดเส้นทางสู่ดวงดาว ของ“พิธา” ในฐานะเบอร์ 1 ตึกไทยคู่ฟ้าทำเนียบรัฐบาลให้สะดุดลงแค่กลางทาง
หากก้าวไกลยังไร้ซึ่งตำแหน่งประมุขฝ่ายนิติบัญญัติอีกหนึ่งตำแหน่ง นั่นย่อมสุ่มเสี่ยงที่จะทำให้ “ค่ายส้ม” ล้มทั้งกระดานเป็นได้
ไม่ต่างจาก “เกมสภาสูง” คือวุฒิสภา อีกหนึ่งหมากในการโหวตนายกฯ ยามนี้ พยายามกล่าวอ้างเงื่อนไขเรื่อง“คุณสมบัติ”ในกรณีการถือครองหุ้นสื่อ ITV เพื่อเป็นเหตุผลในการ“ไม่โหวตให้พิธา” หวังเตะลูกเข้าทางพรรคที่รอเสียบไปโดยปริยาย
ฉะนั้น แผนซ้อนแผนของ “ก้าวไกล” ที่พอจะทำได้เมื่อถึงเวลาโหวตนายกฯ แล้วข้างตนเป็นฝ่ายเสียเปรียบ คือ การเข้าชื่อ 1 ใน 10 หรือ ส.ส.ประมาณ 50 คนส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความ เพื่อประวิงเวลาการ“โหวตเลือกนายกฯ”ให้ยืดออกไป
เกมก็จะวนลูปกลับไปที่ตำแหน่ง“ประมุขนิติบัญญัติ” ที่มีอำนาจในการเรียกประชุม ปิดประชุม หรือส่งศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งพรรคก้าวไกลจะเสียไปไม่ได้เป็นอันขาด
ขณะเดียวกันต้องไม่ลืมว่า ซิเนริโอการเมืองกว่า 1 ทศวรรษที่ผ่านมา หรือ 4 ปีพรรคอนาคตใหม่ ส่งต่อสู่พรรคก้าวไกล “ค่ายส้ม” ได้เรียนรู้ถึงบทเรียนสำคัญ หากไร้ซึ่งอำนาจคุมเกมฝ่ายนิติบัญญัติ นั่นย่อมสะเทือนไปถึงหลายนโยบายของพรรค ที่จะต้องสะดุดหยุดลงไปด้วย
โดยเฉพาะ "ฟาสต์แทร็ก" กฎหมาย 45 ฉบับ ครอบคุลม 8 ด้าน ซึ่งเป็นเสมือนสัญญาประชาคม ที่พรรคก้าวไกลใช้หาเสียงจนได้คะแนนถล่มทลาย และจะทำทันทีที่เปิดสภาฯ
ประกอบด้วยด้านการเมือง 11 ฉบับ สิทธิเสรีภาพ 8 ฉบับ การบริการสาธารณะ 4 ฉบับ วางกรอบสำเร็จใน 100 วัน ปฏิรูปการบริหารราชการ 6 ฉบับ ปฏิรูปที่ดิน 8 ฉบับ เศรษฐกิจ 4 ฉบับ วางกรอบภายใน 1 ปี และสิ่งแวดล้อม 2 ฉบับ แรงงาน 2 ฉบับ วางกรอบ 1 สมัยหรือภายใน 4 ปี
ตามขั้นตอนของรัฐธรรมนูญภายใน 60 วัน นับจากวันเรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรก ครม.ต้องพิจารณาร่างกฎหมายเพื่อยืนยัน และร้องขอให้รัฐสภาพิจารณาต่อเนื่องตามขั้นตอน เพื่อขอมติเสียงข้างมากให้เดินหน้าต่อ
หากเป็นร่างกฎหมายที่ผ่านการพิจารณาของ กมธ. แต่ กมธ.ชุดเก่าหมดอายุลง ในขั้นตอนต้องตั้ง กมธ.ใหม่มาพิจารณา หากร่างกฎหมายที่ยังไม่ผ่านวาระรับหลักการ สามารถเดินตามกระบวนการพิจารณา “วาระรับหลักการได้”
ฉะนั้นเมื่อก้าวไกลมีกลไกของ ครม.อยู่ในมือแล้ว อีกหนึ่งอำนาจที่ต้องมีคือ อำนาจนิติบัญญัติ
โดยเฉพาะ“บ่วงร้อน” อย่างประเด็นการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา112 หรือมาตรา116 ซึ่งถูกบรรจุเป็น 1 ใน 8 กฎหมายสิทธิเสรีภาพ แต่กลับไม่ปรากฎอยู่ในบันทึกข้อตกลง(เอ็มโอยู) 8พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล ด้วยเหตุผลไม่ต้องการให้กระทบกับการจัดตั้งรัฐบาล
เป็นเช่นนี้ก็ไม่ต่างอะไรกับการโดดเดี่ยวพรรคก้าวไกลให้ต้องเดินหน้าเรื่องนี้โดยลำพัง ยิ่งไปกว่านั้น "ก้าวไกล" เองก็มีบทเรียนการเมืองมาหลายยุคหลายสมัย ทั้งยุครัฐบาลประยุทธ์ ที่มี “ชวน หลีกภัย”เป็นประธานสภา
ครั้งนั้นก้าวไกลเสนอชุดกฎหมายคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออกและสิทธิในกระบวนการยุติธรรมของประชาชน จำนวน 5 ฉบับ โดยประเด็นการแก้ไขมาตรา 112 ถูกบรรจุอยู่ในกฎหมายร่างที่ 1คือ ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ในส่วนที่สอง
แต่กลับถูกตีตกโดยทีมกฎหมายสภา ตั้งแต่ยังไม่ได้บรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระด้วยเหตุผล “มีบทบัญญัติอาจขัด หรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 6”
ยิ่งไปกว่านั้น ย้อนกลับไปในยุครัฐบาลพรรคเพื่อไทยมี“ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร”เป็นนายกฯ และมี “ขุนค้อน” สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ เป็นประธานสภา ช่วงต้นรัฐบาลเมื่อวันที่ 29 พ.ค.2555 ได้มีความพยายามจากภาควิชาการหัวก้าวหน้า ที่เรียกตนเองว่าเป็น คณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112(ครก.112) เสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่...) พ.ศ ... (แก้ไขมาตรา 112 ตามข้อเสนอคณะนิติราษฎร์) ไปยื่นต่อรัฐสภา
แต่เวลาต่อมา“สมศักดิ์”ในฐานะประธานสภา กลับวินิจฉัยว่า ข้อเสนอนี้เป็นการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ ไม่ใช่กฎหมายตามรัฐธรรมนูญหมวด 3 ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพของประชาชน ประชาชนจึงไม่มีสิทธิเข้าชื่อกันเพื่อเสนอกฎหมาย จึงมีคำสั่งไม่รับร่างกฎหมายฉบับนี้ไว้พิจารณา
ด้วย “ดีลลับ-ดีลลึก” ที่เกิดขึ้นเวลานั้น มิหนำซ้ำเวลานี้ พรรคก้าวไกลยังจับมือพรรคเพื่อไทยร่วมรัฐบาลด้วยแล้ว หากพรรคก้าวไกลยังขืนปล่อยตำแหน่งประธานสภาให้เพื่อไทย ก็มิวายจะเจอแผนเตะสกัดซ้ำสองขึ้นอีกจนได้
ทั้งหมดทั้งมวลคือคำตอบว่า เหตุใดก้าวไกลจำเป็นต้องรักษาบัลลังก์ “ประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ” เพื่อสกัดเล่ห์เหลี่ยมการเมืองที่อาจทำให้พรรคต้องพ่ายยกกระดาน!
ฉากหน้ายามนี้แม้ “ก้าวไกล-เพื่อไทย” จะดูเหมือนว่ารักกันหวานชื่นหลัง คุยเรื่อง“สินสอด” ลงตัว รอให้ถึงวันหมั้น-วันแต่ง ทว่ากลเกมจริงๆยังต้องไปลุ้นกันวันโหวต
ยิ่งยามนี้เริ่มมีข่าวคราวยักย้ายถ่ายเทส.ส. โดยใช้ “ไพบูลย์โมเดล” ยุบรวมบรรดา “ซุ้มการเมือง” ด้วยแล้วหากเป็นเช่นนั้นจริงเกมโหวตในสภาก็มีโอกาส “แหกโค้ง” ได้ทุกเมื่อ
ในอดีตก็มีให้เห็นกันนักต่อหนัก หลายต่อหลายเรื่องส.ส.ลุกขึ้นเสนอแบบ “หักดิบ” กันกลางสภาก็เคยมีมาแล้ว!