ชีวิต9ทศวรรษ“วิโรจน์ เปาอินทร์” ประธานสภา(ชั่วคราว)
“ประธานสภาชั่วคราว” เกมเฉพาะกิจ กับความ "เก๋าเกม" ผสาน "ลูกล่อลูกชน" สู้ สารพัดกลเม็ดของบรรดาสมาชิกผู้ทรงเกียรติทั้ง500คน
หลังจากที่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง ส.ส. อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่19มิ.ย. ตามขั้นตอนปฏิบัติแล้ว ส.ส.ที่ได้รับใบรับรองต้องเข้ารายงานตัวต่อสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ตั้งแต่วันที่ 20 มิ.ย.
ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 121 กำหนดให้ ภายใน 15 วัน นับแต่วันประกาศผลเลือกตั้ง ส.ส. ให้เรียกประชุมรัฐสภาเพื่อให้ ส.ส.ได้มาประชุมเป็นครั้งแรก หรือ รัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภา เบื้องต้น จะอยู่ในช่วงวันที่ 19 มิ.ย. - 3 ก.ค.
จากนั้นในขั้นตอนต่อไป คือ การนัดประชุมสภาฯ เพื่อเลือก “ประธานสภา” และรองประธานอีก2คน
ทั้งนี้ตาม ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 ในข้อ 5 ระบุว่า “การเลือกประธานสภาและรองประธานสภาครั้งแรก ให้เลขาธิการเชิญสมาชิกผู้มีอายุสูงสุดซึ่งอยู่ในที่ประชุมเป็นประธานชั่วคราวของที่ประชุม เพื่อให้ที่ประชุมดำเนินการเลือกประธานสภาและรองประธานสภา และเพื่อให้ที่ประชุมดำเนินการในเรื่องอื่นที่จำเป็นจะต้องประชุมปรึกษาในการประชุมครั้งนั้นด้วย
ในการดำเนินการเลือกตามวรรคหนึ่ง ถ้าผู้เป็นประธานชั่วคราวของที่ประชุมได้รับการเสนอชื่อเป็นประธานสภาหรือรองประธานสภา ให้สมาชิกผู้มีอายุสูงสุดในลำดับถัดไปซึ่งอยู่ในที่ประชุมเป็นประธานชั่วคราวของที่ประชุม”
“ข้อ 27 เมื่อไม่มีผู้ปฏิบัติหน้าที่ประธานของที่ประชุม ให้สมาชิกผู้มีอายุสูงสุดซึ่งมาประชุมเป็นประธานชั่วคราวของที่ประชุม เพื่อให้ที่ประชุมดำเนินการเลือกประธานสภาและรองประธานสภาตามข้อ 5 ข้อ 6 และข้อ 7 หรือเพื่อให้ที่ประชุมดำเนินการเลือกประธานเฉพาะคราวสำหรับการประชุมครั้งนั้นในกรณีที่ที่ประชุมต้องประชุมปรึกษาเรื่องอื่น…”
- 9ทศวรรษ “ส.ส.-รมต.” รุ่นเก๋า
เช็คชื่อส.ส.ชุดที่26 ซึ่งเป็นชุดปัจจุบัน พบว่า สมาชิกที่มีอาวุโสสูงสุดคือ พล.ต.ท. วิโรจน์ เปาอินทร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ลำดับที่1 พรรคเพื่อไทย
โดยพล.ต.ท. วิโรจน์ เกิดเมื่อวันที่7 ธ.ค. พ.ศ. 2476 กำลังย่างก้าวเข้าสู่วัย90ปี
พล.ต.ท. วิโรจน์ จบการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ
ตำแหน่งสำคัญ
- เคยเป็นอดีตสารวัตรใหญ่สถานีตำรวจนครบาลสำเหร่
- อดีตส.ส.อ่างทอง สังกัดพรรคประชากรไทย และพรรคชาติไทย
- กรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน ในคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ(รสช.)
นอกจากนี้ พล.ต.ท. วิโรจน์ ยังเคยได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี 2 สมัย คือ
- รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในรัฐบาลของพล.อ.สุจินดา คราประยูร
- รองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลของนายชวน หลีกภัยในปีพ.ศ. 2543
- เส้นทางสู่ขุนพล "พลังประชาชน-เพื่อไทย"
ในการเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2548 พล.ต.ท.โทวิโรจน์ เปาอินทร์ กลับพ่ายการเลือกตั้งให้กับนางสาวเพ็ญชิสา หงษ์อุปถัมภ์ไชย ผู้สมัครหน้าใหม่จากพรรคไทยรักไทย
ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2550 เขาลงสมัคร ส.ส. ในระบบสัดส่วนลำดับที่ 5 ของกลุ่มที่ 7 ในสังกัดพรรคพลังประชาชน แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง
ต่อมาในปีพ.ศ. 2552พล.ต.ท.โทวิโรจน์ได้ร่วมเป็นกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองของรัฐสภา
ต่อมาได้เข้าร่วมงานกับพรรคเพื่อไทยและรับตำแหน่งรองหัวหน้าพรรค
จากนั้นในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2554 ได้ลงสมัคร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 17 ของพรรคเพื่อไทย นอกจากนี้พล.ต.ท.วิโรจน์ ได้ร่วมเป็นกรรมการในคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร โดยดำรงตำแหน่งรองประธานคณะกรรมการคนที่ 4 ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และเป็นประธานคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร
ใน เดือนต.ค.พ.ศ. 2555 ได้รับแต่งตั้งจากกรรมการบริหารพรรคให้ทำหน้าที่รักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทย แทนนายยงยุทธ วิชัยดิษฐที่ลาออกจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 4 ต.ค.พ.ศ. 2555
ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2557 เขาได้สมัครรับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคเพื่อไทย ลำดับที่ 119
การเลือกตั้งเมื่อปี2562 พล.ต.ท.วิโรจน์ ลงสมัครส.ส.บัญชีรายชื่อ ลำดับที่1 แต่ปรากฎว่าพรรคเพื่อไทยมีคะแนนมาเป็นลำดับที่1 ด้วยคะแนน7.4ล้านเสียงเกิดปรากฎการณ์ “โอเวอร์แฮ้งค์” ได้คะแนนเกินคะแนนพึงมีทำให้พรรคเพื่อไทยไม่ได้ส.ส.บัญชีรายชื่อ
ก่อนที่การเลือกตั้งครั้งล่าสุด จะลงสมัครรับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ลำดับที่ 1และได้รับการเลือกตั้ง
- ย้อนรอย62วัดเกมเก๋า “ประธานสภาชั่วคราว”
ทั้งนี้แม้การทำหน้าที่ “ประธานสภาชั่วคราว” จะทำหน้าที่เฉพาะกิจแค่การประชุมครั้งแรกเพื่อเลือกประธานสภาตัวจริง ทว่าด้วย “กลเกม” ในสภาที่เกิดขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมาปฏิเสธไม่ได้ว่า การทำหน้าที่ “ประธานสภาชั่วคราว” ถือเป็นบทบาทที่ต้องจับตา
เพราะหากตัว“ประธานสภาชั่วคราว” ไร้ซึ่งความเก๋าเกม หรือลูกล่อลูกชนในการควบคุมการประชุมแล้ว ก็มิวายที่จะทำให้เกิดเกมป่วน-วัดพลังกันไปมา จนทำให้การประชุมไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้ เปรียบเสมือนครูฝ่ายปกครองที่กำกราบนักเรียนทั้ง500คนไม่อยู่
ย้อนกลับไปในการเลือกตั้งครั้งก่อนหน้า เมื่อปี2562 ครั้งนั้นมี “ปู่ชัย ชิดชอบ” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทยทำหน้าที่เป็นประธานสภาชั่วคราว
ช่วงดังกล่าวได้เกิดความวุ่นวายระหว่างที่ "ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ" ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ซึ่งอยู่ระหว่างหยุดปฏิบัติหน้าที่ส.ส.ระหว่างรอคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญกรณีถือหุ้นสื่อเข้าร่วมประชุมสภา
จนให้ส.ส.ฝั่งรัฐบาลขณะนั้นได้ลุกขึ้นประท้วงการเข้าร่วมประชุมของธนาธร
ก่อนที่เจ้าตัวจะยกมือขึ้นเพื่อขอขึ้นกล่าวลา แต่นายชัย ไม่อนุญาต และแจ้งว่าขณะนี้ ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.ตามคำสั่งศาล
เหตุการณ์ความวุ่นวายได้เกิดขึ้นหลังจากที่ต่างฝ่ายต่างใช้สิทธิประท้วงจนกระทั่งเกิดช็อตประวัติศาสตร์ตามหน้าสื่อมวลชนทั้งไทยและเทศ ซึ่งเป็นภาพที่ธนาธร โค้งคำนับพร้อมลาที่ประชุมระหว่างหยุดปฏิบัติหน้าที่
จากนั้นสภายังเกิดความวุ่นวายขึ้น หลังเข้าสู่ระเบียบวาระการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎรและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร
เมื่อ วีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ได้ยกมือเสนอให้มีการเลื่อนวาระการพิจารณาที่จะเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎรออกไปก่อน ท่ามกลางกระแสการเปิดดีลโควตาประธานที่ไม่ลงตัวทำให้พปชร.ต้องเปิดเกมยื้อออกไป
จนเป็นที่ถกเถียงและทำให้สภาต้องลงมติกันว่า เห็นด้วยหรือไม่ที่จะให้เลื่อนวาระการประชุม ทว่าผลการลงมติปรากฏว่า248ต่อ246 "ไม่เห็นด้วย" ให้มีการเลื่อนวาระ เฉือนกันไปแค่2คะแนน
ผลที่ออกมาสะท้อนเกมชิงเหลี่ยมภายในขั้วเดียวกันทั้งพลังประชารัฐที่เกิดเกมหักหลังกันเองในพรรค หรือ ศึกงัดข้อระหว่าง "พลังประชารัฐ " และ "ประชาธิปัตย์" ที่ยืนคำขาดยืนกราน "ชวน หลีกภัย" ต้องได้เป็นประธานสภา
หลัง ส.ส.พลังประชารัฐ หลายคนเสนอขอแก้คะแนนลงมติ โดยอ้างว่า เข้าใจผิดแต่การประท้วงไม่เป็นผล
กระทั่ง “ประธาน” ต้องตัดบทเข้าสู่ระเบียบวาระในท้ายที่สุด
ฉะนั้นแม้ “ประธานสภาชั่วคราว” จะทำหน้าที่เฉพาะกิจแค่การประชุมนัดแรก แต่ด้วยสารพัดกลเม็ดที่อาจเกิดขึ้นในสภาแล้ว การทำหน้าที่ควบคุมเวทีของประธานชั่วคราวถือเป็นบทบาทที่ต้องจับตาอยู่ไม่น้อย