ไทม์ไลน์ “ดีลรัฐบาล” สะบั้น ”เกมหลายหน้า” จุดเปลี่ยน
“บิ๊กเนม” บางคน หวังพลิกเกมให้ “เพื่อไทย” เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล จึงจำเป็นต้องยึดเก้าอี้ “ประธานสภาฯ” ให้ได้เสียก่อน เพื่อต่อยอดไปสู่เก้าอี้ “นายกรัฐมนตรี” จากแคนดิเดตของ “เพื่อไทย”
ศึกชิงเก้าอี้ “ประธานสภาฯ” ระหว่างพรรคก้าวไกล (ก.ก.) กับพรรคเพื่อไทย (พท.) ฟาดฟันกันมาหนึ่งเดือนกว่า ต่างฝ่ายต่างช่วงชิงความได้เปรียบ แต่เมื่อทอดเวลาเคลียร์กันไม่ได้ ต่างฝ่ายจึงต่างเจ็บแค้นกันเอง
ปม “ประธานสภาฯ” เป็นช็อตต่อเนื่อง หลังการลงนามบันทึกความตกลง (เอ็มโอยู) เมื่อวันที่ 22 พ.ค. ของ “8 พรรคจัดตั้งรัฐบาล” เนื่องจากในเอ็มโอยูไม่มีข้อตกลงในการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดย “ก้าวไกล” ยอมถอย และจะใช้ช่องทางสภาฯในการผลักดันแก้ไข ม. 112 ด้วยตัวเอง
คล้อยหลังลงนามเอ็มโอยูเพียง 1 วัน ในวันที่ 23 พ.ค. “ปิยบุตร แสงกนกกุล” แกนนำคณะก้าวหน้า แม้จะเป็นเพียงผู้ช่วยหาเสียงพรรคก้าวไกล แต่หลักคิด-แนวคิดของ “ปิยบุตร” มีอิทธิพลต่อการขับเคลื่อน “ก้าวไกล” อย่างมาก
“ปิยบุตร” ระบุว่า "ประธานสภาผู้แทนราษฎร ตำแหน่งที่พรรคก้าวไกลเสียไปไม่ได้เป็นอันขาด...พรรคก้าวไกลจะต้องถอยจนถึงเมื่อไร ต้องยินยอมถึงขนาดไหน เพื่อให้ทุกพรรคพอใจและตั้งรัฐบาลได้? และไปต่อได้?”
“กรณีการนิรโทษกรรมในคดีความผิดเกี่ยวกับการแสดงออกทางการเมือง และการแก้ไข ป อาญา มาตรา 112 ซึ่งทั้งสองประเด็นนี้ไม่อยู่ในเอ็มโอยู และไม่อยู่ในวาระร่วมหรือนโยบายของรัฐบาลแน่ๆ พรรคก้าวไกลก็ต้องใช้กลไกสภาในการผลักดัน หากไม่ได้ตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรมา ก็อาจประสบปัญหาอุปสรรคได้”
จากนั้นก้าวไกลขยับต่อ ด้วยการเตรียมเสนอแก้ไขกฎหมาย 45 ฉบับ รวมทั้งมาตรา 112 ซึ่งก้าวไกลใช้เป็นข้ออ้างกับเพื่อไทยในการขอเก้าอี้ประธานสภาฯ
ต่อมา 24 พ.ค. “อดิศร เพียงเกษ” ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ซึ่งห่างหายจากบทบาทหน้าฉากการเมืองไป 17 ปี ได้รับบัญชาจาก “บิ๊กเนมเพื่อไทย” ออกมาตอบโต้ปิยบุตร แบบสวนกลับทันที
“อดิศร” ระบุว่า “นายปิยบุตรถือเป็นผู้ช่วยหาเสียงของพรรคก้าวไกล จะกินรวบทุกตำแหน่ง โดยเข้าใจว่าตัวเองเป็นเสียงข้างมาก ความเป็นจริง 152 เสียง ยังไม่เกินครึ่ง ถ้าอยากได้ทุกตำแหน่ง ต้องทำให้ได้แบบพรรคไทยรักไทย 377 เสียง ที่จะชี้เป็นชี้ตายเอาตำแหน่งไหนก็ได้”
สิ้นเสียงของ “อดิศร” สงคราม “ด้อมส้ม” vs “ด้อมแดง” โหมกระหน่ำทันที เปิดวอร์กันในโซเชียลมีเดีย
“ด้อมแดง” แฟนคลับพรรคเพื่อไทย เคลื่อนแรงถึงขั้นยื่นจดเปิดผนึก เมื่อวันที่ 26 พ.ค. ขอให้ “ผู้บริหารพรรคเพื่อไทย” ถอนตัวออกจากพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล เพื่อยุติข้อขัดแย้งที่เกิดขึ้นจากเก้าอี้ประธานสภาฯ แต่ “บิ๊กเพื่อไทย” ออกมาดับไฟเสียก่อน โดยอ้างว่าฝ่ายประชาธิปไตยต้องจับมือกันให้แน่น
จากนั้นในวันที่ 30 พ.ค. ท่ามกลางสถานการณ์คุกรุ่น “ด้อมส้ม-ด้อมแดง” ยังซัดกันไม่เลิก ระหว่างการประชุมหัวหน้า 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล ทุกสายตาจึงจับจ้องไปที่ท่าทีของ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี และ “ชลน่าน ศรีแก้ว” หัวหน้าพรรคเพื่อไทย
โดยภายหลังการประชุม “พิธา-ชลน่าน” และแกนนำ 8 พรรค ช่วยกันดับกระแส ด้วยการโชว์ช็อตหวาน ประกบมือเป็นรูปหัวใจ พร้อมคำมั่นสัญญา จะร่วมจัดตั้งรัฐบาล โดยสนับสนุน “พิธา” นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีให้สำเร็จ
ส่งผลให้กระแสข่าวแย่งชิงเก้าอี้ “ประธานสภาฯ” เงียบหายจากหน้าสื่อไประยะหนึ่ง และกระแสก็หันเหไปยังปมถือหุ้นสื่อไอทีวีของ“พิธา”แทน “ก้าวไกล-เพื่อไทย” จึงพักรบกันชั่วคราว
กระทั่งวันที่ 18 มิ.ย. “ภูมิธรรม เวชยชัย” รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย “ประเสริฐ จันทรรวงทอง” เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ออกมาประสานเสียง “พรรคอันดับหนึ่ง” ควรได้เก้าอี้ “ประธานสภาฯ” ส่วน “เพื่อไทย” ควรได้เก้าอี้ “2 รองประธานสภาฯ”
ทำให้ “ขุนพลก้าวไกล-ด้อมส้ม” ออกมาแสดงความดีใจสัญญาณจาก “ภูมิธรรม-ประเสริฐ” โดยในวันที่ 19 ก.ค. “ชัยธวัช ตุลาธน” เลขาธิการพรรคก้าวไกล ออกมาแถลงข่าวขอบคุณ “เพื่อไทย” ที่ยอมถอยให้เก้าอี้ประธานสภาฯ ให้ก้าวไกล ในฐานะพรรคอันดับหนึ่ง
ในวันเดียวกัน “อดิศร เพียงเกษ”คนเดิม ออกมาเบรก “ภูมิธรรม-ประเสริฐ” โดยยืนยันว่า เก้าอี้ประธานสภาฯต้องเป็นของเพื่อไทยเท่านั้น จะให้ก้าวไกลกินรวบไม่ได้ และแกนนำเพื่อไทย 1-2 คน ตัดสินใจไม่ได้ ต้องมาพูดคุยทำความเข้าใจกับ “ส.ส.เพื่อไทย”
สถานการณ์ภายในเพื่อไทย จึงกลับมาร้อนฉ่า เมื่อบรรดา “ส.ส.” ไม่พอใจท่าทีของ “ทีมเจรจา” ส่งผลให้ “ผู้บริหารพรรค” แก้ปัญหา ด้วยการเปิดพื้นที่ เพื่อให้ส.ส.ได้พูดคุย สะท้อนความเห็น เมื่อ 21 มิ.ย.
ละครฉากใหญ่ ถูกจัดขึ้นที่โรงแรมเอสซี ปาร์ค โดย “ภูมิธรรม” ชี้แจงขั้นตอนเจรจาเก้าอี้ประธานสภาฯ ยังยึดสูตร 14 รัฐมนตรี + 1 ประธานสภาฯ ซึ่งยื่นข้อเสนอให้ก้าวไกลตั้งแต่แรกเริ่ม ก่อนที่จะวางคิวให้ อดิศร เพียงเกษ โหมโรง ปลุกเร้า “ส.ส.เพื่อไทย” ไม่ยอมยกประธานสภาฯให้ก้าวไกล จนได้รับเสียงปรบมือเกรียวกราว
กระทั่ง 27 มิ.ย. เพื่อไทยจึงนัดประชุม “กรรมการบริหารพรรค” ต่อด้วยประชุม ส.ส.เพื่อหาข้อสรุปเกี่ยวกับตำแหน่งประธานสภาฯ เพื่อไปหารือกับก้าวไกลในวันที่ 28 มิ.ย.
โดยเวลา 17.00 น. (27 มิ.ย.) “ชลน่าน-ภูมิธรรม-ประเสริฐ” ได้ร่วมแถลงมติ “ส.ส.เพื่อไทย” ด้วยการยืนยันข้อตกลงเดิม 14 รัฐมนตรี + 1 ประธานสภาฯ โดยจะไม่ถอย ยกประธานสภาฯให้พรรคก้าวไกล ส่งผลให้ “ด้อมส้ม-ด้อมแดง” เปิดวอร์กันอีกครั้ง
ในเวลาต่อมา 17.30 น. “ก้าวไกล” เปิดเผยชื่อ “หมออ๋อง” ปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก ที่จะสนับสนุนให้นั่งเก้าอี้ประธานสภาฯ”
ต่อมาประมาณเวลา 19.00 น. พรรคเพื่อไทย โพสต์ลงเพจพรรค ยืนยันหลักการตำแหน่ง “ประธานสภาฯ” ยึดหลัก ความรู้ความสามารถ ประสบการณ์ เสมอภาค และเป็นธรรม
คล้อยหลังจากนั้น 2 ชั่วโมง พรรคก้าวไกล ได้โพสต์รูป “ปดิพัทธ์” ลงเพจพรรค โดยระบุว่า ประสิทธิภาพ โปร่งใส ประชาชน รัฐสภาไทย ต้องไม่เหมือนเดิม พร้อมทั้งโชว์วิสัยทัศน์ของ “ปดิพัทธ์” ที่เป็นตัวแทนของ “ก้าวไกล”
ต่อมา 23.00 น. “ภคมน หนุนอนันต์” ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองโฆษกพรรคก้าวไกล แจ้งต่อสื่อมวลชน ขอเลื่อนนัดหารือเก้าอี้ประธานสภาฯ ระหว่างพรรคก้าวไกลกับพรรคเพื่อไทย ในวันที่ 28 มิ.ย.ออกไปก่อนโดยไม่มีกำหนด
จากนั้น ในช่วงเช้าวันที่ 28 มิ.ย. มีกระแสข่าวว่า “ก้าวไกล” ได้ขอเลื่อนวาระการประชุม “8 หัวหน้าพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล” ซึ่งกำหนดเดิม จะมีขึ้นในวันที่ 29 มิ.ย. โดยจะหาข้อสรุปเรื่องเก้าอี้ประธานสภาฯ ซึ่งจะมีการโหวตเลือกกันในวันที่ 4 ก.ค.ให้ได้เสียก่อน
กระทั่งเวลาต่อมาก้าวไกล ได้แจ้งกำหนดการประชุมร่วม 8 พรรคอีกครั้งในวันที่ 2 ก.ค.
ทั้งหมดคือไทม์ไลน์หน้าฉาก ที่ปมร้อนเก้าอี้ “ประธานสภาฯ” กำลังเป็นเงื่อนไข สั่นสะเทือนสถานะ “8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล”
จากนี้ต้องจับตา การเปิดโต๊ะเจรจาหลังฉาก เมื่อ “บิ๊กเนม” บางคน ยังหวังให้ “ก้าวไกล” และ “เพื่อไทย” ต่อกันติด จับมือเดินต่อไปกันให้ได้
ขณะที่ “บิ๊กเนม” บางคน ก็หวังพลิกเกมให้ “เพื่อไทย” เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล จึงจำเป็นต้องยึดเก้าอี้ ประธานสภาฯให้ได้เสียก่อน เพื่อต่อยอดไปสู่เก้าอี้ “นายกรัฐมนตรี” จากแคนดิเดตของ “เพื่อไทย”