กกต.รับสอบหุ้น itv ‘พิธา’ ซับซ้อน เล็งส่งศาล รธน.ชี้ขาด ไม่รอโหวตนายกฯ
เลขา กกต.รับขั้นตอนสอบหุ้น itv ‘พิธา’ ค่อนข้างซับซ้อน เป็นอำนาจกรรมการไต่สวนฯ จะเชิญมาแจงหรือไม่ เล็งประกอบ 2 สำนวนคดีอาญา-สิ้นสภาพขาดคุณสมบัติ เผยรับหลักฐานจาก ส.ว. เล็งส่งศาล รธน.ชี้ขาด
เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 2566 ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสอบคดีหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) หรือหุ้น itv ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ว่า เรื่องนี้มีความซับซ้อน โดยเฉพาะตัวกฎหมาย เนื่องจากมีพื้นฐานมาจากคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัคร ส.ส แต่เมื่อมาปรับใช้กับเหตุการณ์สามารถดำเนินการได้หลายวิธี
เงื่อนไขแรกห้วงเวลาก่อนการเลือกตั้ง ตามกระบวนการจะต้องส่งให้ศาลฎีกาพิจารณา โดยจะเชิญผู้สมัครมาชี้แจงหรือไม่มาชี้แจงก็ได้ ซึ่งมี 37 คดีที่ศาลได้วินิจฉัยแล้ว
เงื่อนไขที่ 2 หลังการเลือกตั้ง กรณีที่เห็นว่าผู้สมัครมีคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามจะดำเนินการตามมาตรา 151 พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. 2561 เป็นคดีอาญา ต้องแจ้งผู้ถูกกล่าวหาเข้ามาชี้แจง โดยการดำเนินการจะต้องดูเอกสารหลักฐานอย่างครบถ้วนปราศจากข้อสงสัย แล้วดูเจตนาประกอบด้วย
เงื่อนไขหลังประกาศรับรองผลการเลือกตั้งวิธีการคือ ตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีนี้จะเชิญผู้ที่มีลักษณะต้องห้ามการเป็น ส.ส.มาชี้แจงหรือไม่ก็ได้ หาก กกต.มีหลักฐานหรือเห็นเป็นความปรากฏ ในชั้นนี้ผู้ที่สามารถวินิจฉัยได้คือศาลรัฐธรรมนูญไม่ใช่ กกต.
เมื่อถามว่ามีกระแสข่าวว่า กกต.จะเชิญนายพิธา เข้ามาชี้แจงข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร นายแสวง กล่าวว่า ยืนยันว่าเป็นอำนาจของคณะกรรมการสืบสวนไต่สวน ซึ่งยังไม่รายงานรายละเอียดการดำเนินการตรวจสอบให้กกต.พิจารณา จนกว่าจะสืบสวนเสร็จ ระหว่างนี้กกต.และสำนักงานฯ ไม่สามารถเข้าไปก้าวก่ายและแทรกแซงการทำงานของคณะกรรมการสืบสวนได้ อย่างไรก็ตามกรรมการสืบสวนมีกรอบการพิจารณา 20 วัน ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 3 ก.ค.หากพิจารณาไม่เสร็จสามารถยื่นขอขยายเวลาดำเนินการอีก 15 วัน ผ่านเลขาธิการกกต. เบื้องต้นยังไม่เห็นว่ามีการยื่นหนังสือขอขยายเวลาเข้ามา
นายแสวง กล่าวอีกว่า ถ้าดำเนินการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 ซึ่งเป็นการตรวจสอบข้อเท็จจริงจะเชิญหรือไม่เชิญมาก็ได้ หากมีหลักฐานเพียงพอที่จะยื่นศาลรัฐธรรมนูญ แต่สิ่งสำคัญ กกต.ต้องเห็นก่อนว่า มีข้อมูลเพียงพอเพื่อส่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา อาจใช้ข้อมูลจากคณะกรรมการสืบสวนไต่สวนก็ได้ หรืออาจตั้งคณะกรรมการเข้ามาดูเรื่องนี้โดยเฉพาะก็ได้ แต่ให้แยกว่าเป็นการตรวจสอบข้อเท็จจริงไม่ใช่การแจ้งข้อกล่าวหา
“เบื้องต้นขณะนี้มีผู้มายื่นร้องให้ กกต.ดำเนินการตามมาตรา 82 แล้วดังนั้นต้องขึ้นอยู่กับที่ประชุม กกต.ว่าจะใช้วิธีการดำเนินการอย่างไร เพราะเป็นการตรวจสอบข้อเท็จจริงซึ่งจะแตกต่างจากระเบียบสืบสวนไต่สวน ส่วนจะต้องยื่นให้ศาลพิจารณาก่อนการโหวตนายกฯนั้น ไม่เกี่ยวกับประเด็นที่ กกต.ที่จะต้องมาพิจารณา ที่ผ่านมา กกต.ทำทุกอย่างตามกรอบเวลาที่ควรจะเป็นอยู่แล้ว” นายแสวง กล่าว
เมื่อถามว่านายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พัฒนาการเมือง และการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา เข้าหารือเข้ามอบหลักฐานกับ กกต.กรณีนายพิธา เมื่อ 28 มิ.ย.ได้มีการพูดคุยในเรื่องนี้อย่างไรบ้าง นายแสวง กล่าวว่า ท่านไม่ได้มาตามเรื่องพิธา แต่ท่านพูดเรื่องการเมือง การเลือกตั้งเกิดปัญหาต้องการการสนับสนุนอย่างไรบ้าง และได้นำหลักฐานประกอบคดีหุ้นนายพิธามามอบให้ หลังจากนี้สำนักงาน กกต.จะนำหลักฐานไปประกอบการพิจารณาคดีทั้งกรณีรู้อยู่แล้วว่าไม่มีคุณสมบัติแต่ยังลงสมัครรับเลือกตั้ง ตามมาตรา 151 พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. 2561 และรัฐธรรมนูญมาตรา 82 กรณีสงสัยคุณสมบัติของ ส.ส.จะต้องมีการเข้าชื่อส่งศาลรัฐธรรมนูญ
เมื่อถามว่า กรณีนายพิธา กกต.สามารถดำเนินการกรณี “ความปรากฏต่อกกต.” ได้หรือไม่ นายแสวง กล่าวว่า ไม่ต้องมีความปรากฏเลย โช๊ะเลย แต่ต้องมีหลักฐาน กกต.ไม่ใช่ผู้ตัดสิน โดยก่อนเลือกตั้งจะต้องส่งให้ศาลฎีกา ถ้าไม่ได้รับการเลือกตั้งก็อยู่ในชั้นศาล ส่วนได้รับเลือกตั้งแล้ว ก็ต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญ เป็นต้น เหมือน กกต.เป็นคนฟ้องว่าข้อมูลเพียงพอให้ฟ้องหรือไม่ ไม่ต้องเชิญมาให้ข้อมูล ซึ่งก็เหมือนกับกรณีส่งศาลฎีกาพิจารณากรณี 37 ผู้สมัคร ส.ส. นั้นกกต.เห็นแล้วก็ส่งศาลฎีกา โดยไม่ได้เชิญใครมาชี้แจง แต่กรณีดำเนินคดีอาญาตามมาตรา 151 เป็นระเบียบสืบสวนหากมีการกล่าวหาก็ต้องเชิญผู้ถูกกล่าวหามาชี้แจง