ปิดฉาก รัฐบาล 8 พรรค ? ก้าวไกล 'พ่าย' แต่ 'ไม่แพ้'
"...4 ก.ค.ดีเดย์วันโหวตประธานสภาฯ อาจต้องลุ้นฉากสำคัญ “ก้าวไกล”จะตัดสินใจในจังหวะแรก หรือรอจังหวะสอง หลังโหวตนายกฯ เพื่อปิดฉากรัฐบาล 8 พรรค แล้วเริ่มฉากใหม่ในบทผู้นำฝ่ายค้านและฝ่ายแค้น เพื่อรอวันกลับมาผงาด..."
ศึกชิงเก้าอี้ประธานสภาผู้แทนราษฎร เข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้าย นับถอยหลังอีกไม่ถึง 5 วันจะมีการเปิดประชุมรัฐสภาครั้งแรก ในวันที่ 3 ก.ค.2566 เพื่อให้ ส.ส.ที่ได้รับการรับรองผลเลือกตั้ง มากล่าวคำปฏิญาณ หลังจากนั้น 4 ก.ค.ถึงคิวโหวตเลือก ‘ประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ’
แต่การเจรจาทั้งทางแจ้ง-ทางลับระหว่าง ‘ก้าวไกล’ และ ‘เพื่อไทย’ ยังไม่มีทีท่าจะได้ข้อยุติ เพราะต่างฝ่ายต่างโชว์จุดยืน ต้องการเก้าอี้ตัวนี้ไว้เป็นของพรรคตัวเอง โดยอ้างสารพัดเหตุผล เพื่อยึดบัลลังก์ ‘ประมุขสภาล่าง’ เอาไว้ให้ได้
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นตอนนี้คือ ‘เพื่อไทย’ กำลังรุกกินแดน ‘ก้าวไกล’ เสียจนแต้ม
เพราะบรรดาแกนนำพรรคก้าวไกล ก็ยัง ‘กลืนไม่เข้า คายไม่ออก’ กับ ‘เพื่อไทย’ ที่จู่ๆ เปลี่ยนท่าทีเป็นแข็งกร้าว ยืนกรานเก้าอี้ประธานสภาฯ อย่างชัดเจน ในสูตร 14 +1 คือรัฐมนตรี 14 คน พ่วงเก้าอี้ประธานสภาฯ
อย่างไรก็ดี ใน‘วงเจรจาลับ’รอบใหม่ เมื่อ 28 มิ.ย.ที่ผ่านมา แม้‘ก้าวไกล’จะยอมถอยทุกทาง เพื่อรักษาโควตาประธานสภาฯเอาไว้ แม้แต่เก้าอี้นายกฯ ของ‘พิธา’ที่แกนนำสีส้มเชื่อว่าคงผลักดันให้ฝ่าด่าน ส.ว.ยาก ก็ยอมเปิดช่อง ยกให้‘เพื่อไทย’เสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ ได้
แต่ท่าทีของ‘เพื่อไทย’ยังคงยืนยันคำเดิม ถึงขนาดยอมทิ้งเก้าอี้รัฐมนตรีไปเพิ่มให้กับพรรคก้าวไกลด้วยซ้ำ ในสูตรใหม่คือ 15+1 เป็นรัฐมนตรี 15 คน และนายกฯ ส่วนเพื่อไทย เหลือ 13+1 คือรัฐมนตรี 13 คน และประธานสภาฯ
กระทั่งการเจรจาในวันที่ 29 มิ.ย. สุดท้ายก็ไม่ลงตัว และมีการให้ข่าวออกมาแล้วว่า จะไม่มีการหารือกับ ‘ก้าวไกล’ อีกในวันเดดไลน์ 30 มิ.ย. และจะไม่มีกิจกรรมขึ้นรถแห่ร่วมกันระหว่าง ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ และ ‘แพทองธาร ชินวัตร’ แคนดิเดตนายกฯเพื่อไทย ในวันที่ 1 ก.ค. ที่ จ.ขอนแก่น เกิดขึ้น
แม้ว่า ‘ก้าวไกล’ จะพยายามฉายภาพความกลมเกลียวสามัคคีระหว่างพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลมาโดยตลอด ล่าสุดคือวันที่ 29 มิ.ย.ที่ผ่านมา ‘ศิริกัญญา ตันสกุล’ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของพรรค โพสต์ภาพประชุมร่วมกันหวานชื่น ระหว่างแกนนำเพื่อไทย นำโดย ‘อุ๊งอิ๊ง’ แพทองธาร ‘เสี่ยนิด’ เศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกฯของพรรค ‘หมอมิ้ง’ นพ.พรหมมินทร์ เลิศสุริยเดช ประธานคณะกรรมการเศรษฐกิจของพรรค ร่วมกับแกนนำพรรคก้าวไกล ที่มีตัวเอง พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ รองหัวหน้าพรรค วรภพ วิริยะโรจน์ คณะทำงานทีมเศรษฐกิจของพรรค เป็นต้น
สุดท้ายเมื่อ ‘เพื่อไทย’ ยังคงยืนกรานคำเดิม จึงน่าจะนำไปสู่การ ‘ฟรีโหวต’ ชิงประธานสภาฯ ในวันที่ 4 ก.ค. แน่นอนว่าฝ่าย ‘ก้าวไกล’ คงยอมรับสภาพความพ่ายแพ้ในวันดังกล่าว
ฉากต่อไปของ ‘ก้าวไกล’ จะทำอย่างไรกับสถานการณ์ที่ถูกบีบ จนถอยสุดซอย แบบนี้
1.ยอมลดเพดาน จับมือกับ‘เพื่อไทย’จัดตั้งรัฐบาลต่อ ตามแนวทางผลักดัน ‘พิธา’ เป็นนายกฯ แม้สุดท้ายอาจฝ่าด่าน ส.ว.ไปไม่ได้ ต้องยอมให้ ‘เพื่อไทย’ เสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ แทน แต่ยังพร้อมล่มหัวจมท้ายเป็นรัฐมนตรี เพื่อผลักดันนโยบายเท่าที่ทำได้ แต่อาจต้องพับเก็บนโยบายสำคัญ เช่น การแก้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นต้น แต่แนวทางนี้เป็นไปได้ค่อนข้างยาก เพราะ ‘แกนนำพรรค’ ประเมินแล้วอาจทำให้เสียรังวัด ในฐานะพรรคชนะเลือกตั้งอันดับ 1
2.ถอนทัพกลับพื้นที่เดิมคือ เป็น“ฝ่ายค้าน” ทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาลใหม่ โดยแนวทางนี้ แกนนำของก้าวไกล เคยประเมินเผื่อเหลือเผื่อขาดไว้แล้ว เพราะการเปลี่ยนแปลงประเทศไม่อาจทำได้โดยง่าย แต่ต้องใช้เวลา ‘ปักธงความคิด’
ดังนั้นด้วยอิทธิฤทธิ์ ‘การตลาดการเมือง’ ของพรรคที่สร้างกระแสได้ดี มีไวรัลปล่อยออกมาจำนวนมาก สร้างความเชื่อให้กับเด็กและเยาวชน คอยฟูกฟัก ‘ด้อมส้ม’ รอการเลือกตั้งครั้งใหม่ ก้าวไกลน่าจะมีโอกาสได้จำนวน ส.ส.มากกว่าเดิม และจัดตั้งรัฐบาลด้วยเงื่อนไขน้อยกว่านี้
4 ก.ค.ดีเดย์วันโหวตประธานสภาฯ อาจต้องลุ้นฉากสำคัญ “ก้าวไกล”จะตัดสินใจในจังหวะแรก หรือรอจังหวะสอง หลังโหวตนายกฯ เพื่อปิดฉากรัฐบาล 8 พรรค แล้วเริ่มฉากใหม่ในบทผู้นำฝ่ายค้านและฝ่ายแค้น เพื่อรอวันกลับมาผงาด