จับตาขัดแย้งเลือก ประธานสภา เปิดขั้นตอน-คนถูกเสนอชื่อต้องแสดงวิสัยทัศน์
จับตาเลือก ประธานสภา คนใหม่ วันที่ 4 ก.ค.นี้ จะเรียบร้อย ราบรื่นหรือไม่ พร้อม เปิดขั้นตอนการเลือกประธานสภา ตามข้อบังคับ สภาฯกำหนด ผู้ถูกเสนอชื่อต้องกล่าวแสดงวิสัยทัศน์กับที่ประชุม
ผู้สื่อข่าวรางานว่าภายหลังจากที่สภาผู้แทนราษฎรชุดใหม่ ที่ผ่านการเลือกตั้ง เมื่อ 14 พฤษภาคม และได้รับการรับรองจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แล้ว ในวันที่ 4 กรกฏาคม สำนักงานเลขาธิการสภาฯ ได้ออกหนังสือเชิญ ประชุมสภาฯ เป็นนัดแรก โดยมีวาระสำคัญ คือ ให้ ส.ส.กล่าวคำปฏิญาณตน ก่อนเข้ารับหน้าที่ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 115 จากนั้น คือการเลือกบุคคลให้ดำรงตำแหน่ง ประธานสภา และรองประธานสภาผู้แทนราษฎร
เปิดขั้นตอนการเลือกประธานสภา
ทั้งนี้ใน ขั้นตอนการเลือกประธานสภา ตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2562 กำหนด ไว้ว่า
1.การเลือกประธานสภาฯ และรองประธานสภาฯ ครั้งแรก ให้เลขาธิการเชิญ ส.ส.ที่อาวุโสสูงสุด ซึ่งในครั้งนี้ คือ พล.ต.ต.วิโรจน์ เปาอินทร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในวัย 89 ปี ให้เป็นประธานชั่วคราวของที่ประชุม
2.ให้ส.ส.เสนอชื่อ ส.ส.ที่จะให้ดำรงตำแหน่งประธานสภาฯ ต่อที่ประชุม และให้มีผู้รับรองไม่น้อยกว่า 20 คน
3. ส.ส.ที่ถูกเสนอชื่อ ต้องแสดงวิสัยทัศน์ในการดำรงตำแหน่งต่อที่ประชุมภายในระยะเวลาที่ประธานกำหนด โดยไม่มีการอภิปราย
4. กรณีที่เสนอชื่อเพียงผู้เดียว ให้ถือว่าผู้ถูกเสนอชื่อนั้นเป็นผู้ได้รับเลือก แต่หากมีการเสนอหลายชื่อ ให้ออกกเสียงลงคะแนนเป็นการลับ
5.ในขั้นตอนออกเสียงลงคะแนนลับ ตามข้อบังคับการประชุมกำหนดให้ใช้วิธีลงคะแนนในคูหา และตั้งกรรมการ จำนวน 6 คน เพื่อแจกบัตรและควบคุมการหย่อนบัตรลงคะแนน และตรวจนับ , การเรียกชื่อส.ส.เพื่อรับบัตรออกเสียง จะเป็นไปตามลำดับอักษร พร้อมกับส.ส.ต้องลงลายมือชื่อเป็นหลักฐานในการรับบัตรและซองใส่บัตรจากกรรมการ, ต่อด้วยเมื่อรับบัตรออกเสียงแล้ว ให้ลงคะแนนในคูหา ด้วยการเขียนชื่อบุคคลที่ต้องการเลือกให้เป็นประธานสภาฯ เพียงชื่อเดียว ต่อด้วยนำบัตรออกเสียงใส่ซองหย่อนในหีบบัตรลงคะแนน
6. เมื่อประธานกล่าวปิดการลงคะแนนลับแล้ว ส.ส.จะใช้สิทธิลงคะแนนไม่ได้อีก จากนั้นคือการตรวจนับ และประกาศผล
โดยผู้ที่จะได้รับเลือกเป็นประธานสภาฯ ให้ถือเสียงข้างมากของผู้มาลงคะแนน
สำหรับ รองประธานสภา นั้น จะมีจำนวนกี่คนขึ้นอยู่กับข้อเสนอและข้อตกลงในที่ประชุมสภาฯ ทั้งนี้ที่ผ่านมาจะถูกเสนอให้มี จำนวน 2 คน โดยขั้นตอนการการเลือกตั้ง จะใช้แนวทางเดียวกันกับการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร กรณีที่มีรองประธานสภาฯ 2 คน ให้เลือกรองประธานสภาฯ คนที่หนึ่งก่อน
ทั้งนี้เมื่อเลือกประธานสภาฯและรองประธานสภาฯได้แล้ว ให้เลขาธิการมีหนังสือแจ้งไปยังนายกรัฐมนตรีโดยเร็ว เพื่อนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในการเลือกประธานสภาฯ และรองประธานสภาฯ เมื่อปี 2562 พบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในระหว่างการประชุมที่สำคัญ ทั้ง กรณีการเสนอญัตติขอเลื่อนการเลือกประธานและรองประธานสภาฯ เนื่องจาก พรรคแกนนำรัฐบาล ในขณะนั้น คือ พรรคพลังประชารัฐ ที่มีความไม่ลงตัวกับตำแหน่งดังกล่าว ทำให้ต้องใช้เวลาอภิปรายอย่างยาวนาน จนต้องใช้มติตัดสิน ซึ่งเสียงข้างมาก ตัดสินใจเดินหน้าต่อ
ขณะเดียวกันในข้อบังคับประชุมสภาฯ ที่กำหนดให้ ผู้ถูกเสนอชื่อต้องแสดงวิสัยทัศน์ ปรากฎกว่าไม่ได้รับการรับฟังและยินยอมจากประธานชั่วคราวในที่ประชุมขณะนั้น
ดังนั้นต้องจับตาว่า การเลือกประธานสภาฯ และรองประธานสภาฯที่ยังมีประเด็นขัดแย้งระหว่างพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล จะทำให้การประชุมสภาฯ นัดแรกราบรื่น เรียบร้อย หรือมีเหตุที่ต้องทำให้เกิดความขัดแย้ง ที่หลายฝ่ายประเมินว่าอาจจะให้ ส.ส.ฟรีโหวตเลือกประธานสภาฯ.