ฉากการเมือง ‘วันนอร์’ ประธานสภา 2 ยุค ทูลเกล้าฯ ‘3 นายกฯ - รธน.40’
44 ปีฉากการเมือง ผู้ชายชื่อ “วันนอร์” บทบาทประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ2ยุค ทั้งการทูลเกล้าฯ รัฐธรรมนูญฉบับ 2540 -รวมถึง3นายกรัฐมนตรี ย่อมเป็นตัวการันตีถึงความโชกโชนทางการเมืองของ "ประธานสภา" วัย79ปีผู้นี้เป็นอย่างดี
ฉันทามติแบบ “ม้วนเดียวจบ” จากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 26 เมื่อวันที่ 4 ก.ค.2566 ทำให้บัลลังก์ผู้นำฝ่ายนิติบัญญัติ 1 ใน 3 เสาหลักอำนาจอธิปไตย ตกเป็นของ ‘วันนอร์’ “วันมูหะมัดนอร์ มะทา” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ แบบไร้คู่แข่ง
ขั้นตอนต่อไป ตามข้อบังคับประชุมสภาข้อที่ 6 ระบุว่า เมื่อเลือกประธานสภาฯ และรองประธานสภาฯได้แล้ว ให้เลขาธิการมีหนังสือแจ้งไปยังนายกรัฐมนตรีโดยเร็ว เพื่อนำความกราบบังคมทูล เพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งต่อไป
พลิก “ฉากการเมือง” ของ “วันมูหะมัดนอร์ มะทา” ประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งจะทำหน้าที่ประธานรัฐสภา ในวัย 79 ปี จะเห็นว่า “อาจารย์วันนอร์” ผู้นี้ เคยอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองในหลายฉากสำคัญ
โดยเข้าสู่วงการเมืองครั้งแรกปี 2522 ในสังกัดพรรคกิจสังคม และยังเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง และแกนนำกลุ่มวาดะห์ ร่วมกับวีระ มุสิกพงศ์ อดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์
ก่อนที่ใน ปี 2531 จะนำกลุ่มวาดะห์ ออกจากพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมกับ "กลุ่ม 10 มกรา" ร่วมกันจัดตั้งพรรคประชาชน
ปี 2532 นำพรรคประชาชนยุบรวมกับพรรคก้าวหน้าพรรคกิจประชาคม และพรรครวมไทย เป็นพรรคเอกภาพ ต่อมาในปี 2535 นำกลุ่มวาดะห์ เข้าร่วมก่อตั้งพรรคความหวังใหม่ กับ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ
ดำรงตำแหน่งผู้นำฝ่ายนิติบัญญัติครั้งแรกในรัฐบาลพรรคความหวังใหม่ ที่มี พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อปี 2539 และยังเป็นประธานประธานสภา ที่เป็นผู้นำร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ซึ่งถูกขนานนามว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน เพราะมีส่วนร่วมจากประชาชนมากที่สุด ขึ้นทูลเกล้าฯ ในฐานะประธานรัฐสภา
กระทั่งเกิดวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ที่เรียกว่า “วิกฤตต้มยำกุ้ง”สถานะทางการเมืองของรัฐบาลพรรคความหวังใหม่ถูกสั่นคลอนอย่างรุนแรง นำมาสู่การประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกฯของ พล.อ.ชวลิต ในเดือน พ.ย.2540
เปลี่ยนผ่านสู่ “รัฐบาลชวน 2” ในปี 2540 ท่ามกลางปรากฏการณ์งูเห่าของ ส.ส. การ “เปลี่ยนขั้ว” ทางการเมืองในขณะนั้น “วันนอร์” ซึ่งยังสังกัดพรรคความหวังใหม่ จึงกลายเป็นประธานสภาที่มาจากพรรคฝ่ายค้าน แต่ยังคงทำหน้าที่ประมุขฝ่ายนิติบัญญัติต่อ
กระทั่งตัดสินใจลาออกเมื่อเดือน มิ.ย.2543 เนื่องจากต้องทำหน้าที่เลขาธิการพรรคความหวังใหม่
หลังจากการยุบรวมพรรคความหวังใหม่ เข้ากับพรรคไทยรักไทย เมื่อเดือน ม.ค.2545 และวันนอร์ ได้รับตำแหน่งเป็นรองหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ก่อนถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี ในคดียุบพรรค แต่ยังคงมีบทบาทให้คำแนะนำ ส.ส.กลุ่มวาดะห์ ซึ่งย้ายจากพรรคไทยรักไทย ไปสังกัดพรรคประชาราช ระยะหนึ่ง
ปลายปี 2550 วันนอร์ ย้ายไปสังกัดพรรคมัชฌิมาธิปไตย และต่อมาย้ายไปสังกัดพรรคพลังประชาชน กระทั่งในปี 2555 หลังจากพ้นถูกตัดสิทธิทางการเมืองได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย
กระทั่งการเลือกตั้งปี 2562 วันนอร์ ได้เข้าร่วมกับพรรคประชาชาติ และเป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรค ต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน
ฉะนั้น นอกเหนือจากการทำหน้าที่ประมุขฝ่ายนิติบัญญัติเป็นครั้งที่ 2 เช่นเดียวกับ “ชวน หลีกภัย”ประธานสภาฯ คนก่อนหน้าแล้ว
ที่ผ่านมา วันนอร์เคยเป็นผู้ทูลเกล้าฯ และผู้รับสนองพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ นายกรัฐมนตรีมาแล้วถึง 2 คน คือ “พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ” ต่อเนื่องไปถึง “ชวน หลีกภัย”
การเลือกนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ที่กำลังจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาอันใกล้นี้ ที่ยังไม่มีความแน่นอน ว่าชื่อนายกรัฐมนตรี จะเป็นใคร จะใช่ชื่อ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล จากพรรคอันดับ 1 หรือไม่
แต่ที่สุดแล้ววันนอร์ ในฐานะประธานรัฐสภา จะเป็นผู้นำรายชื่อนายกฯ คนที่ 30 ขึ้นทูลเกล้าฯ เป็นครั้ง 3 ในการทำหน้าที่ของเขา
“ฉากการเมือง” 44 ปี “วันนอร์” ผู้ผ่านสนามการเมืองมาอย่างโชกโชน ใน พ.ศ.นี้ ยังต้องเผชิญเกมการเมืองที่ขับเคี่ยวดุเดือดไม่แพ้ครั้งไหน