เปิด "แผนเฝ้าระวัง" รับโหวตนายกฯ เข้ม จุดเสี่ยง กทม.-ศาลากลางจังหวัด
การโหวต "นายกฯ"รอบแรก 13 ก.ค. ยังต้องประเมินสถานการณ์วันต่อวัน ส่วน "ตำรวจ-ทหาร" เตรียมกำลังรับมือ พร้อมกำหนด 3 สถานที่คุมขังพิเศษ หลังพบความเคลื่อนไหวมวลชน
หาก "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" แคนดิเดตนายก ของพรรคก้าวไกล ไม่เปลี่ยนจุดยืน ประเด็นแก้ไขหรือยกเลิกมาตรา 112 สมาชิกวุฒิสภา(ส.ว) โดยเฉพาะ ส.ว.ฝั่งทหาร ได้หารือเป็นการภายในและมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันไม่ยกมือโหวตให้เป็น "นายกรัฐมนตรี" แน่นอน
เพราะมีบรรทัดฐาน จากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ต่อ10 ข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่ ม.ธรรมศาสตร์รังสิต ของ อานนท์ นำภา ภาณุพงศ์ จาดนอก หรือ ไมค์ ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือ รุ้ง และเครือข่าย เป็น ว่าเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคหนึ่ง และมีคำสั่งให้เลิกการกระทำ
" 1 ใน 10 ข้อมีเรื่องยกเลิกมาตรา 112 ทุกคนไปโฟกัสกันที่ การแก้รัฐธรรมนูญ และการผลักดันกฎหมายดังกล่าวของพรรคก้าวไกล เข้าสภา แต่ความจริงแล้ว มันมีบันทัดฐานมาแล้ว ว่าการแก้ไขหรือยกเลิก ม.112 ทำไม่ได้ ศาลตัดสินไปแล้ว ส.ว.ที่ไหนจะยกมือให้ หากไม่เปลี่ยนจุดยืน" แหล่งข่าว ส.ว.สายทหาร ระบุ
ส่วน "พิธา" ยังคงเดินสายขอบคุณประชาชนในพื้นที่หลายจังหวัด ท่ามกลางถูกจับตาเป็นการปลุก "ม็อบ" ก่อนถึงวันโหวตนายกฯ ควบคู่ไปกับย้ำจุดยืนเดินหน้าแก้ ม.112 ตามนโยบายที่ได้หาเสียงไว้ และเชื่อมั่นว่าจะสามารถชี้แจงทำความเข้าใจกับ ส.ว.ถึงเหตุผลและความจำเป็นได้
"เป็นเงื่อนไขที่อ่อนลงเรื่อยๆ เมื่อได้ฟังคำชี้แจง และคำอธิบายถึงเหตุผล ส.ว.หลายท่านจะเริ่มเข้าใจ เบาใจมากขึ้น ยืนยันจะเดินหน้าการแก้ไขมาตรา 112 ตามที่หาเสียงไว้กับประชาชน เพราะสัญญากับประชาชนไว้ ยังไงก็ต้องทำ " นายพิธา ระบุ
สำหรับความเคลื่อนไหว "ด้อมส้ม" มีการจัดแคมเปญ Respect my vote จากแนวร่วมจากหลายกลุ่มด้วยกัน กดดันทำหน้าที่ ส.ว.ให้โหวตตามเจตจำนงค์ของประชาชน ไม่นำ ม.112 มาเป็นเงื่อนไข และหากโหวตเลือกนายกฯ ครั้งแรก วันที่ 13 ก.ค. "พิธา" ไม่ผ่านฉลุย จะยกระดับการเคลื่อนไหว
น.ส.ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือ มายด์ ระบุว่า หากไม่ผ่านเพราะ ส.ว.คงมีการขยับต่อไป คงไม่ใช่มีแค่พวกเราที่จะทำ ซึ่งมีความเป็นไปได้ คนกรุงเทพฯเลือกพรรคก้าวไกล จะออกมา เหมือนช่วงพฤษภาทมิฬ เรียกว่า ม็อบมือถือ เชื่อว่าจุดติดแน่นอน และจะมีจำนวนมากกว่าปี 2563 ปี 2564 หลายเท่า แต่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ด้วยว่าประชาชนรู้สึกว่าถูกริดรอนอำนาจไปมากน้อยแค่ไหน และจำเป็นต้องออกมาทำอะไร
"ขึ้นอยู่กับว่าประชาชนพร้อมแค่ไหนที่จะออกมาเคลื่อนไหวในระดับใด ซึ่งการมีแนวร่วมเพิ่มขึ้นในทางออนไลน์ก็ทำให้เราได้เห็น ว่ามีคนที่มีแนวคิดเหมือนกัน จำนวนเท่าไหร่ ก็จะประเมินสถานการณ์ได้ และมั่นใจมวลชนไม่ได้อยู่ในโลกออนไลน์แน่นอน" มายด์ ย้ำ
ขณะที่งานด้านการข่าวของตำรวจนครบาล แม้จะไม่มีสัญญาณหรือสิ่งบ่งชี้จะมีภัยคุกคามเกิดขึ้น แต่ทาง พล.ต.ต.โชคชัย งามวงศ์ รองผู้บังคับการตำรวจนครบาล ในฐานะกำกับดูแลงานฝ่ายความมั่นคง ได้สั่งการให้ กองบังคับการตำรวจนครบาล 1-9 (บก.น.1-9 ) กำหนดจุดเสี่ยง พื้นที่เฝ้าระวัง จุดระดมพล เพื่อเตรียมแผนรองรับ กรณีเกิดความวุ่นวาย ทำลายสถานที่ราชการ สถานที่สำคัญ เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ เช่น พ่นสี ก่อกวน ก่อความวุ่นวาย
บก.น.1 รับผิดชอบ 9 สถานี และ 1 กองกำกับการสืบสวน พื้นที่เฝ้าระวัง เช่น ทำเนียบรัฐบาล นางเลิ้ง เขตพระราชฐาน วัดพระแก้ว กระทรวงกลาโหม สนามหลวง อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ลานคนเมือง อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ แยกดินแดน หน้า ร.1 รอ. รัฐสภา แยกเกียกกาย ถนนทหาร
บก.น.2 มีเขตรับผิดชอบ 11 สถานี และ 1 กองกำกับการสืบสวน พื้นที่เฝ้าระวัง เช่น
สนามบินดอนเมือง หลักสี่ ศูนย์ราชการ กกต. ศาลรัฐธรรมนูญ จตุจักร หมอชิต สถานีกลางบางซื่อ 5 แยกลาดพร้าว รัชโยธิน วงเวียนบางเขน
บก.น.4 รับผิดชอบ 8 สถานี และ 1 กองกำกับการสืบสวน พื้นที่เฝ้าระวัง เช่น หน้ามหาวิทยาลัยรามคำแหง โชคชัย 4 ลาดพร้าว
บก.น.5 มีเขตรับผิดชอบ 9 สถานี และ 1 กองกำกับการสืบสวน พื้นที่เฝ้าระวัง เช่น ใต้สถานีบีทีเอสอุดมสุข แยกบางนา สวนลุมพินี
บก.น.6 รับผิดชอบ 8 สถานี และ 1 กองกำกับการสืบสวน พื้นที่เฝ้าระวัง เช่น หน้าหอศิลป์ sky walk เซ็นทรัลเวิลด์ แยกศาลาแดง ศาลพระพรหม แยกปทุมวัน
บก.น.7 มีเขตรับผิดชอบทั้งหมด 11 สถานี และ 1 กองกำกับการสืบสวน พื้นที่เฝ้าระวัง เช่น ศาลาแดง ธรรมศาลา พุทธมณฑลสาย 1-4 วงเวียนใหญ่
บก.น.8 มีเขตรับผิดชอบทั้งหมด 11 สถานี และ 1 กองกำกับการสืบสวน พื้นที่เฝ้าระวัง เช่น วงเวียนใหญ่ ฝั่ง บุปผาราม
นอกจากนี้ ในส่วนต่างจังหวัด กำหนดเฝ้าระวัง ศาลากลางจังหวัดทั่วประเทศ
" ตำรวจไม่ได้เป็นเครื่องมือแก้ปัญหาการเมือง แต่เป็นเจ้าหน้าที่ต้องคอยดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใดก็ตาม ดังนั้นปัญหาการเมือง เรื่องแนวความคิด ปล่อยให้ เป็นหน้าที่ของฝ่ายการเมือง ในขณะที่ตำรวจ ก็ทำหน้าที่อำนวยความสะดวกดูแลความเรียบร้อย เราทำหน้าที่อยู่ตรงกลาง" แหล่งข่าวตำรวจนครบาล ระบุ
ขณะที่ 3 เหล่าทัพ ได้เตรียมกำลังทหาร ไว้สนับสนุนไว้ในที่ตั้ง โดยเบื้องต้นให้เป็นหน้าที่ของตำรวจ ส่วนการหยิบมาตราการใดๆมาบังคับใช้ ให้คำนึงสถานการณ์หน้างาน และพฤติกรรมของผู้ชุมนุม เพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อย โดยเฉพาะบริเวณหน้ารัฐสภา อำนวยความสะดวกการโหวตนายกฯลุล่วงไปด้วยดี
" ในส่วนของทหารได้พูดคุยกันแล้วทุกเหล่าทัพ ไม่มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น ไม่มีเหตุที่ต้องวิตกกังวล ทหารไม่ออกไปทำอะไร ทหารมีจุดยืน การเมืองต้องแก้ด้วยวิถีการเมือง ไม่อยากให้เอากองทัพไปเกี่ยว" แหล่งข่าวจากกองทัพ ระบุ
สอดคล้องกับก่อนหน้านี้ พล.ต.ต.สมควร พึ่งทรัพย์ รอง ผบช.น. ได้มีหนังสือคำสั่ง ใช้สถานที่ควบคุมของ สน.ทุ่งสองห้อง, สน.ฉลองกรุง, สน.จรเข้น้อย เป็นสถานที่ควบคุมพิเศษเฉพาะคราว ตั้งแต่วันที่ 1 - 31 ก.ค.66 หรือจนกว่าจะเสร็จสิ้นภารกิจ โดยมอบหมายให้ พ.ต.อ.วิชัย แดงประดับ รอง ผบก.สส.บช.น. เป็นนายตำรวจผู้ประสานการปฏิบัติ
สืบเนื่องจากสถานการณ์ด้านการข่าวปรากฎข้อมูลอันน่าเชื่อถือว่า ได้มีกลุ่มผู้ชุมนุมที่มีความเห็นต่างทางการเมืองและกลุ่มแนวร่วมอื่นๆ ได้นัดรวมกลุ่มจัดกิจกรรมชุมนุมภายในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยมีลักษณะใช้ความรุนแรง และไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอาจก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยภายในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร นั้น
และเป็นไปตามมาตรการรักษาความสงบเรียบร้อย กรณีที่มีการจับกุมตัวผู้ต้องหาเป็นจำนวนมากเพื่อให้การดำเนินคดีผู้ต้องหาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งเกิดความปลอดภัย อาจก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย หรือเกิดอันตรายประการอื่น
อย่างไรก็ตาม ในช่วงการโหวตเลือกนายกฯ การประเมินสถานการณ์ต้องพิจารณาวันต่อวัน เช็ค ปฏิกิริยากองเชียร์-กองแช่ง และท่าทีของคนในสังคม หลังได้ตัวนายกฯ ควบคู่กับการปรับแผนรับมือให้เหมาะสม เพื่อให้เกิดการจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี