เมื่อ "แฟลชม็อบ" พร้อมคัมแบค Respect my vote ลงทุกถนน?
"การชุมนุมในปัจจุบันเปลี่ยนไป คนจำนวนมากไม่ได้ยึดติดกับแกนนำ หรือองค์กร ขอให้มีคนนัด จังหวะ วัน ว. เวลา น. คนก็พร้อมออกมา
ภายหลังหน่วยงานความมั่นคง พบความเคลื่อนไหวของมวลชนที่มีบทบาทสำคัญชุมนุมต่อต้านรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในปี 2563 และ ปี 2564 นัดหมายแสดงเชิงสัญลักษณ์ในวันโหวตเลือกนายกฯ 13 ก.ค. เรียกร้องให้ ส.ส.-ส.ว. ทำตามเจตจำนงค์ประชาชน สนับสนุน "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็น นายกรัฐมนตรี
ประเดิมด้วย การรวมตัวกัน 14 กลุ่ม บริเวณหน้ารัฐสภา ประกอบด้วย กลุ่มแฟนคลับพรรคก้าวไกล (ด้อมส้ม) นำโดย นภัสสร บุญรีย์ กลุ่มทะลุฟ้า นำโดย จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม นำโดย กัลยกร สุนทรพฤกษ์ กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย นำโดย สมยศ พฤกษาเกษมสุข กลุ่มเครือข่ายแรงงาน นำโดย ธนพร วิจันทร์
คณะก้าวหน้า นำโดย พรรณิกา วาณิช
กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย นำโดย กรกช แสงเย็นพันธ์ กลุ่ม iLaw นำโดย ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ กลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอก นำโดย ชุมาพร แต่งเกลี้ยง กลุ่มทะลุวัง นำโดย ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ กลุ่มโมกหลวงริมน้ำ นำโดย โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง กลุ่มการ์ด We Volunteer นำโดย ธนากร มูลถวิล กลุ่มเพื่อนกัญปฏิวัติ นำโดย จิรภาส กอรัมย์ กลุ่มล่องนภา นำโดยมาริสา เพศยนาวิน
ควบคู่กับการจัดแคมเปญ ชวนติด# Respect my vote ของ ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือ มายด์ เปิดพื้นที่ให้ชาวโซเชียลมีเดียที่ไม่สะดวกเดินทางมาหน้ารัฐสภา ส่งสัญญาณ ไปยัง ส.ว. แสดงให้เห็นถึงพลังและความเป็นเอกภาพของมวลชน หากผลโหวตนายกฯ ไม่ตรงตามเจตจำนงค์ประชาชน พร้อมยกระดับเป็น "แฟลชม็อบ" ดาวกระจายไปยังพื้นที่สำคัญของ กทม. และ ต่างจังหวัดพร้อมเพียงกัน
ด้าน อานนท์ นำภา แกนนำกลุ่มราษฎร กล่าวยอมรับว่า มีบางส่วนใน 14 กลุ่ม ที่ประกาศรวมตัวหน้ารัฐสภา บางส่วนยังไม่ประกาศชัดเจน เช่น กลุ่มธรรมศาสตร์และการชุมนุม กลุ่มวีโว่ คณะก้าวหน้า แต่เชื่อว่าทั้ง 14กลุ่ม ยังเป็นส่วนน้อยที่จะไปชุมนุมหน้ารัฐสภา และคนจำนวนมากที่ไป ไม่ได้สังกัดกลุ่มเหล่านี้ แต่เป็นมวลชนอิสระเป็นออร์แกนนิกมากกว่า เป็นลักษณะต่างคนต่างไป
"การชุมนุมในปัจจุบันเปลี่ยนไป คนจำนวนมากไม่ได้ยึดติดกับแกนนำ หรือองค์กรเท่าไหร่ ขอให้มีคนนัด จังหวะ วัน ว. เวลา น. คนก็พร้อมออก สิ่งที่ต้องระวังมาก ถ้าผลโหวตออกมาแล้วไม่ได้ คิดว่าคืนนั้นทั้งคืนในโซเชี่ยลมีเดียดุเดือดแน่ คิดว่าม็อบที่สนับสนุนฝ่ายประชาธิปไตยก็จะผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดอีกครั้งเหมือนปี 2563 โดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัดที่มีมหาวิทยาลัย
คิดว่าจุดแตกหักกำลังใกล้เข้ามาถึง ซึ่งไม่ใช่จุดแตกหักที่เป็นฟางเส้นสุดท้ายด้วย แต่กลัวว่าจะเป็นน้ำผึ้งหยดเดียวมากกว่า ที่คนมองว่าบ้านเมืองไม่มีอนาคต จำเป็นต้องออกมาเรียกร้องและชุมนุมแบบถอยไม่ได้ เพราะเส้น และ ผนังที่เราใช้พิงจะไม่มีอีกแล้ว" นายอานนท์ กล่าว
ในขณะที่ หน่วยงานความมั่นคง บูรณาการทำงานร่วมกันทั้ง "ทหาร-ตำรวจ" ยึดนโยบาย "ไร้อาวุธ ยืดหยุ่น ไม่ปะทะ" เน้น ทำความเข้าใจกับมวลชนให้ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ เพราะมองว่าการแสดงออก ถือเป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน และปล่อยให้ฝ่ายการเมืองดำเนินไปตามกระบวนการ
แต่กระนั้น เพื่อความสงบเรียบร้อย และให้การโหวตเลือกนายกฯลุล่วงไปด้วยดี พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง ผบช.น. ออกคำสั่งประกาศห้ามชุมนุมในรัศมีไม่เกิน 50 เมตร ตั้งแต่11 ก.ค. 2566 เวลา 0.6.00 ถึง วันที่ 15 ก.ค. เวลา 24.00 น. พื้นที่รอบรัฐสภา และปิดการจราจรถนนทหารทั้งเส้น
โดยมอบหมายให้ พล.ต.ต.รุ่งโรจน์ ฐากูรปุณยสิริ รองผบช.น. เป็น ผู้บัญชาการเหตุการณ์ พร้อมเปิดศูนย์ปฏิบัติการกองบัญชาการตำรวจนครบาล หรือ ศปก.น.(รัฐสภา) จัดกำลังตำรวจ 15 กองร้อย ดูแลสถานการณ์
ร่วมกับประสานหน่วยงานเกี่ยวข้อง อาทิ เจ้าหน้าที่ตำรวจจราจร แพทย์ พยายาบาล
ส่วน พล.ต.ต. โชคชัย งามวงศ์ รอง ผบช.น. ดูแลพื้นที่บริเวณทำเนียบรัฐบาลและพื้นที่ใกล้เคียงโดยรอบ
“ยืนยันว่า ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจมีความพร้อมทุกด้านในการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยและอำนวยความสะดวกด้านการจราจรบริเวณดังกล่าว เพื่อให้การกระประชุมรัฐสภาเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และดูแลความปลอดภัยสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) รวมถึงประชาชนที่จะมาติดตามการประชุมและให้กำลังใจบริเวณดังกล่าว ส่วนด้านการข่าวยังไม่มีสิ่งบ่งชี้ว่าจะมีเหตุความรุนแรงเกิดขึ้นแต่อย่างใด ซึ่งทางเจ้าหน้าที่จะมีการประเมินสถานการณ์วันต่อวัน” พล.ต.ต.รุ่งโรจน์ กล่าว
นอกจากนี้ ในส่วน พล.ต.ต.โชคชัย งามวงศ์ รองผู้บังคับการตำรวจนครบาล ในฐานะกำกับดูแลงานฝ่ายความมั่นคง ได้สั่งการให้ กองบังคับการตำรวจนครบาล 1-9 (บก.น.1-9 ) กำหนดจุดเสี่ยง พื้นที่เฝ้าระวัง จุดระดมพล เพื่อเตรียมแผนรองรับ กรณีเกิดความวุ่นวาย ทำลายสถานที่ราชการ สถานที่สำคัญ เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ เช่น พ่นสี
อีกทั้งได้จัดสถานที่ควบคุมเฉพาะชั่วคราว ได้แก่ สน.ทุ่งสองห้อง, สน.ฉลองกรุง, สน.จรเข้น้อย ไว้ควบคุม "กลุ่มฮาร์ดคอ" ที่ไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ. ชุมนุมสาธารณะและกฎหมายเกี่ยวข้อง โดยมอบหมายให้ พ.ต.อ.วิชัย แดงประดับ รอง ผบก.สส.บช.น. เป็นนายตำรวจผู้ประสานการปฏิบัติ
ขณะที่ 3 เหล่าทัพ ได้เตรียมกำลังทหาร ไว้สนับสนุนไว้ในที่ตั้ง โดยเบื้องต้นให้เป็นหน้าที่ของตำรวจ ส่วนการหยิบมาตราการใดๆมาบังคับใช้ ให้คำนึงสถานการณ์หน้างาน และพฤติกรรมของผู้ชุมนุม เพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อย โดยใช้ กองพันทหารม้าที่ 4 กองพลที่ 1 รักษาพระองค์ เป็น กองบัญชาการติดตามสถานการณ์
แม้หน่วยงานความมั่นคง จะให้นโยบาย "ตำรวจ-ทหาร" ปฏิบัติหน้าที่ยึดความยืดหยุ่น หลีกเลี่ยงการปะทะ แต่ก็พร้อมงัดมาตรการต่างๆมาบังคับใช้ หากการชุมนุมพัฒนาไปในรูปแบบต่างๆ หรือ ยกระดับความรุนแรง ดังนั้นสถานการณ์ต่อจากนี้น่าจับตายิ่งนัก