นิติสงคราม ดับฝัน‘พิธา’ เปิดทาง ‘สูตรพลิกขั้ว’ ?
สารพัด "เกมนิติสงคราม” สกัดเส้นทางสู่ดวงดาวของ“พิธา” ขึ้นแท่นนายกฯ คนที่30 เปิดทางสู่ "สูตรพลิกขั้ว" การเมืองหลังจากนี้อีกด้วย
ในขณะที่ถนนการเมืองกำลังมุ่งหน้าสู่วันประชุมรัฐสภา เพื่อโหวตเลือกนายกฯ ในวันที่ 13 ก.ค. เป็นจังหวะเดียวกันกับที่สารพัดแผน “นิติสงคราม” ถูกปล่อยออกมา หวังสกัดขัดขวางการขึ้นแท่นเบอร์ 1 ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ของ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรค และแคนดิเดตนายกฯ พรรคก้าวไกล
โดยเฉพาะสัญญาณจาก “สภาสูง” อย่างวุฒิสภาทั้ง 250 คนที่จะถือเป็นหมากตัวสำคัญในการโหวตรอบนี้ ล่าสุด ออกมายกธงถึงทิศทางการโหวตที่จะมีขึ้นในอีกไม่กี่วันข้างหน้า โดยเฉพาะกลุ่ม “งดออกเสียง” ที่ว่ากันว่า อาจมากถึง 90%
ขณะเดียวกัน “พรรคก้าวไกล” กำลังฝากความหวังไว้ที่ “ส.ว.กลุ่มพลังเงียบ” ที่ยังไม่ออกมาแสดงตัว โดยหวังว่าผลการลงมติในวันที่ 13 ก.ค.นี้จะเป็นไปในทิศทางบวก
แต่หากจับสัญญาณจากฟากฝั่งสภาสูงยามนี้ นอกเหนือจากการตั้งธง “โหวตคว่ำ” ในรอบแรกแล้ว ยังพยายามงัดสารพัด “เกมนิติสงคราม” หวังเตะสกัด“พิธา”ด้วยเงื่อนไขความชอบด้วยกฎหมาย
ทั้งประเด็น “คุณสมบัติ” ตามรัฐธรรมนูญ ที่ต้องไม่มีลักษณะต้องห้าม โดยกำหนดอยู่ในรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ที่ให้ ส.ส. และ ส.ว. โหวตเลือกนายกฯ โยงไปถึงมาตรา 159 ส.ส. และ ส.ว.ต้องเลือกบุคคลที่มีคุณสมบัติไม่มีลักษณะต้องห้าม คือห้ามถือหุ้นสื่อ
ขณะเดียวกัน จนถึงเวลานี้ยังปัญหาที่ถกเถียงว่า ถึงที่สุดหากวันที่ 13 ก.ค.นี้ “พิธา” ไม่ผ่านด่านรัฐสภา จะสามารถเสนอชื่อซ้ำได้อีกหรือไม่?
ประเด็นนี้ ส.ว.พยายามกล่าวอ้างถึงข้อบังคับการประชุมรัฐสภาข้อ 41 ที่ระบุว่า ญัตติใดที่เสนอที่ประชุมรัฐสภา หากไม่ได้รับความเห็นชอบถือว่าตกไป และห้ามนำญัตติซึ่งมีหลักการเดียวกันขึ้นเสนออีกในสมัยประชุมเดียวกัน เว้นแต่ญัตติที่ประธานรัฐสภาจะอนุญาต เมื่อพิจารณาเห็นว่าเหตุการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไป
กระนั้นหากวันที่ 13 ก.ค.ผลโหวตออกมาแล้วไม่ผ่าน ขณะที่ก้าวไกลยังยืนยันที่จะเสนอชื่อ “พิธา” อีกรอบก็ต้องลุ้นที่ตัว "ประธานรัฐสภา" คือ "วันมูหะมัดนอร์ มะทา" ว่าใช้ “ดุลยพินิจ” อนุญาติให้เสนอชื่อซ้ำ ตามอำนาจที่มีในข้อบังคับ หรือจะปล่อยให้เป็นการลงมติของที่ประชุมรัฐสภาตัดสิน
ยังไม่นับรวมกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมีมติส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคดีถือครองหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน)หรือหุ้น itv ของ พิธา เข้าข่ายมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) พร้อมกับเสนอความเห็นแก่ศาลรัฐธรรมนูญว่า ควรสั่งให้นายพิธาหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.
ขณะที่ ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล ส่งหนังสือคัดค้านส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้วินิจฉัยกรณีดังกล่าวแบบข้ามขั้นตอน
ในคำแถลงเมื่อวันที่12ก.ค. "ชัยธวัช" ตั้งข้อสังเกตกรณีนี้ว่า เป็นการดำเนินการที่รีบเร่ง ไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหามายังคุณพิธา และไม่เปิดโอกาสให้มีการชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา หวังผลไปถึงการโหวตนายกฯที่กำลังจะมีขึ้นในอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้า
ยังไม่นับรวมรวมกรณีศาลรัฐธรรมนูญมีมติให้สอบถามอัยการสูงสุดว่ามีคำสั่ง รับหรือไม่รับดำเนินการตามที่นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ทนายความ ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ว่าการกระทำของ นายพิธา ผู้ถูกร้องที่ 1 และพรรคก้าวไกล ผู้ถูกร้องที่ 2 ที่เสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา เพื่อแก้ไข หรือยกเลิกมาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง และยังคงดำเนินการต่อเนื่องในการใช้สิทธิ และเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง หรือไม่
ต่างๆ เหล่านี้ล้วนเป็น“เกมนิติสงคราม”ที่ถูกปล่อยออกมาหวังสกัดเส้นทางสู่ดวงดาวของ“พิธา” ซ้ำเป็นการเปิดทางไปสู่สูตรพลิกขั้วหลังจากนี้อีกด้วย!