"สภาชุดดำ” ครอบงำสิทธิ ? “ก๊วนตัวตึง” บล็อกโหวต “พิธา”
ปรากฎการณ์ “สภาสูง” ที่ฉายภาพความขัดแย้ง ปม "โหวตนายกฯ" คือ สิ่งสะท้อนถึงอำนาจ "ครอบงำสิทธิ" ที่ไม่ต่างกับยุคทมิฬในวุฒิสภา
การเมืองในสภาฯ ยามนี้ นอกจากต้องจับตาการโหวตนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 ในวันนี้ (13 ก.ค.) แล้ว สิ่งที่สะท้อนพลาดไม่ได้คือ ความแตกแยกใน “สภาสูง”
ต้องยอมรับว่า “ส.ว.” ขั้วอนุรักษนิยม-ขั้วอำนาจเก่า ประกาศเป็นแกนนำคุมเกมเสียง ส.ว.ทั้งหมดในการลงมติว่าจะเห็นชอบ หรือไม่เห็นชอบ ให้ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ที่ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลเตรียมเสนอต่อรัฐสภาหรือไม่
แม้ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” จะประกาศวางมือทางการเมือง เพื่อลดกระแสด้านลบ ที่ว่า “ตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย” แข่งกับกลุ่ม 8 พรรค แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ไม่ช่วย “ลดโทน” ความทมิฬในสภาสูงแม้แต่น้อย
อย่างที่ทราบกันดีว่า “ส.ว.” ล้วนมีอิสระที่จะใช้เอกสิทธิ์ตามดุลยพินิจในการออกเสียง แต่ที่ผ่านมาไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะการลงมติหรือการพิจารณาเรื่องใดนั้น ต้อง“รอฟังมติ” ที่ถูกชี้ขาด มาจาก “กลุ่มที่มีอำนาจนำ-ผู้คุมเกม”
การลงมติโหวตนายกฯ รอบนี้ก็เช่นกัน ที่มีข่าวลือหนาหูในวุฒิสภาว่า ใครก็ตามที่แสดงท่าทีจะสนับสนุน “พิธา” ทั้งในที่แจ้ง ตามที่ประกาศในสาธารณะ หรือตาม “คำสั่ง” จากหลังบ้านนาย จะถูก “ก๊วนตัวตึง” เข้าไปซักถามทันทีว่า “จะโหวตให้พิธา เช่นนั้นจริงหรือไม่” จนคนที่ถูกตั้งคำถามอึดอัด
บางรายที่ยืนยันเจตจำนงโหวตแคนดิเดตนายกฯ โดยยึดหลักการเสียงข้างมากของสภาผู้แทนราษฎร จะถูก “บีบ” และไม่ยอมรับเข้าร่วมกิจกรรม หรือถูกลอยแพทันที
ตัวอย่างหนึ่ง จากกรณีที่ “อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล” แกนนำก้าวไกล หิ้วกระเช้าพบ “บิ๊กจิ๋ว-พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ” และได้รับคำอวยพรให้ตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ ในรายละเอียดแล้ว พบว่า “ส.ว.สายบิ๊กจิ๋ว” นั่งอยู่ในวุฒิสภา 2 คน
และต้นสัปดาห์ในก่อนประชุมวุฒิสภา ในห้องอาหารของ ส.ว. พบว่า “2 ส.ว.สายบิ๊กจิ๋ว” ถูกตั้งคำถามว่าจะ “สนับสนุนคนของก้าวไกล” ให้เป็นนายกฯ จริงหรือไม่
การถามกัน “ซึ่งหน้า” ในที่สาธารณะนั้น โดยปกติแล้วเป็นวิสัยที่ “นักการเมืองที่มีวุฒิภาวะ” เขาไม่ทำกัน ทว่าด้วยความที่ปฏิเสธได้ยาก ในเวลานั้น ทำให้ 2 ส.ว.เลี่ยงเผชิญหน้า และให้คำตอบว่า “ไม่เกิดขึ้นจริง”
นอกจากนั้น ในฝั่ง ส.ว.ที่ยืนยันจุดยืนโหวตนายกฯ ด้วยหลักการเสียงข้างมาก ไม่เปลี่ยนแปลง ทั้ง มณเฑียร บุญตัน,วุฒิพันธุ์ วิชัยรัตน์ ,นพ.อำพล จินดาวัฒนะ, ทรงเดช เสมอคำ ,ประภาศรี สุฉันทบุตร ,สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธ์, พิศาล มาณวพัฒน์, พีระศักดิ์ พอจิต ,วันชัย สอนศิริ , ดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม
ส่วนหนึ่งถูกสังคมวุฒิสภา “แอนตี้” และ “กดดันอย่างหนัก” โดยหลักคิดที่ว่า “ใครเห็นต่างไม่ใช่พวก”
จนล่าสุด “ส.ว.ที่โดนกดดัน” ทนไม่ไหว ต้องโพสต์ผ่านไลน์กลุ่ม ส.ว. ว่า
“ดิฉันสุดจะไม่สบายใจว่า ส.ว.เป็นอะไรกันมากมายขนาดนี้ อายุเราก็มาก ไม่นานจะตายจากกันแล้ว จะรังแกกันเองทำไม”
พร้อมทั้งเรียกร้องความเป็นสุภาพบุรุษและสุภาพสตรีจากเพื่อน ส.ว.ชุดนี้ทุกคน “เป็นเวลาที่ต้องตัดสินใจ เพื่ออนาคตของประเทศ ประชาธิปไตยเป็นเรื่องของความแตกต่าง แต่พวกเราไม่ควรแตกแยก แม้ตัวเองถูกนินทา หรือแสดงกิริยามารยาทไม่ดี ได้แต่อดทน และยืนหยัดในสิ่งที่ตัวเองเป็น แม้จะมีการเสนอ “กล้วย”ให้ ไม่เลือก พร้อมเสนอตำแหน่งหลังจากจบ ส.ว.ไปแล้ว ทุกเรื่องเกิดขึ้นกับตัวเอง ด้วยการดูหมิ่นเหยียดหยาม ถูกละเมิดสิทธิ์ ที่ถูกกระทำจากสุภาพบุรุษและสุภาพสตรีด้วยกัน”
แม้ข้อความอินไซด์ จะไม่ระบุชื่อว่า ใครคือต้นโพสต์ แต่จากการไล่เรียงชื่อ ส.ว. ทั้ง 10 คนที่จะโหวต “พิธา” นั้น พออนุมานได้ว่า น่าจะเป็น “ประภาศรี สุฉันทบุตร” เพราะเป็น ส.ว.สตรีคนเดียว ที่ยืนหยัดในเสียงโหวตของตัวเองตามหลักการเคารพเสียงข้างมากจากตัวแทนประชาชน
โดยประเด็นนี้ สอดรับกับ “ชัยธวัช ตุลาธน” เลขาธิการก้าวไกล ที่เปิดเผยก่อน “ไลน์ ส.ว.หลุด” ว่า ส.ว.ที่คาดว่าจะสนับสนุน “พิธา” ถูกกดดัน แบล็กเมล์ รวมถึงเสนอผลประโยชน์ให้ต่างๆ นานา
แม้จะไม่มีหลักฐาน แต่สิ่งที่ “ประภาศรี” โพสต์ตัดพ้อผ่านไลน์กลุ่ม ส.ว. พอจะชี้ให้เห็นความจริงที่เกิดขึ้นว่า ในภาวะที่เกมชิงอำนาจระหว่าง “ขั้วใหม่” และ “ขั้วเก่า” ที่ยังไม่อาจสรุปชัดเจนว่าฝ่ายใดจะได้ชัยชนะ ก็ปรากฏภาพของ “สภาชุดดำ” ที่พยายามครอบงำ มีอิทธิพลเหนือการตัดสินใจใดๆ ทั้งปวง
ปรากฏการณ์ใน “สภาสูง” ที่ถูกขยายภาพความขัดแย้งปมโหวตนายกฯ ปฏิเสธได้ยากว่า คือความแตกแยกทางการเมืองที่ปรากฏชัดเจนอย่างที่สุด ใน “กลุ่มอนุรักษ์“ และใน ”ขั้วอำนาจนิยม” แม้จะมีที่มาจากต้นน้ำสายเดียวกัน.