"เครือข่ายปชช." ขอ "3พรรค" ร่วมผ่าทางตัน โหวต "พิธา" เป็นนายกฯ
ครป. พร้อมเครือข่ายปชช. ออกแถลงการณ์ให้ "ส.ว." ทำหน้าที่โหวตนายกฯ-ขอ "ชทพ.-ปชป.-ภท." ร่วมผ่าทางตันการเมือง-หยุดวงจรสืบทอดอำนาจ หนุน "ก้าวไกล" เป็นรัฐบาล
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เครือข่ายภาคประชาชน นำโดย คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) , ขบวนการการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-Move), สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) , เครือข่ายคนเดือนตุลา และภาคประชาชน ร่วมแถลงเรียกร้องให้ ส.ว.โหวตนายกฯ ตามเสียงข้างมากของประชาชน ในวันที่ 19 กรกฏาคม นี้
โดยนายเมธา มาสขาว เลขาธิการ ครป. กล่าวว่า หลังจากที่ เมื่อวันที่ 13 กรกฏาคม ต่อการประชุมรัฐสภาเพื่อโหวตนายกฯ พบว่าส.ว.ส่วนใหญ่โหวตไม่เห็นชอบ และงดออกเสียง ทำให้รัฐสภาไม่สามารถเลือกนายกฯ ตามเสียงข้างมากได้ ถือเป็นความผิดหวัง ต่อการทำหน้าที่ของส.ว. เพราะถือเป็นการแสดงความไม่รับชอบต่อสังคมและไม่รับผิดชอบต่อการเปลี่ยนแปลงตามระบอบประชาธิปไตย ไม่รับผิดชอบต่อระบอบรัฐสภา
"ผมไม่อยากประณาม ส.ว.มาก เนื่องจากมีโอกาสโหวตนายกฯ อีกครั้งในวันที่ 19 กรกฏาคมนี้ จึงขอเรียกร้องให้ ส.ว.โหวตเห็นชอบตามเสียงข้างมากของสภาฯ อย่างดออกเสียงอีก เพราะหากมติออกมาเป็นแบบเดิม อาจถูกตั้งคำถามว่าวุฒิสภาเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตยหรือไม่ รวมถึงถูกตั้งคำถามว่าส.ว.มีความหมายหรือมีคุณค่าใดอีกหรือไม่ หากจะมีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในอนาคต " นายเมธา กล่าว
เลขาธิการ ครป. กล่าวด้วยว่า ครป. ขอโอกาสจากพรรคการเมือง เพื่อผ่าทางตันการเมืองไทย รวมถึงหยุดวงจรสืบทอดอำนาจ ตนขอพรรคร่วมรัฐบาลเดิมที่ไม่ใช่ตัวแทนของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)โดยตรง ทั้ง พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคภูมิใจไทย และพรรคประชาธิปัตย์ ที่งดออกเสียง นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกฯจากพรรคก้าวไกล เมื่อวันโหวตนายกฯ วันที่ 13 กรกฏาคมอย่างมีนัยสำคัญให้พิจารณาใหม่ เพื่อให้พ้นกำดักที่ต้องอาศัยของส.ว.มาสนับสนุน ขณะที่ประเด็นการแก้ไขมาตรา 112 ที่รัฐสภาถูกวิจารณ์จำนวนมากนั้น ต้องเข้าใจว่าเป็นเรื่องนโยบายของพรรคก้าวไกล ไม่เกี่ยวข้องกับการจัดตั้งรัฐบาล ดังนั้นไม่ใช่เหตุผลที่จะงดออกเสียงหรือโหวตคนของพรรคก้าวไกลเป็นนายกฯ