‘วันนอร์’ ยกรัฐธรรมนูญ 40 ‘ปิดสวิตช์ ส.ว.’ รอพ้นวาระ
"กรุงเทพธุรกิจ" บุกห้องทำงาน "อ.วันนอร์" เพื่อเปิดใจถึงการทำหน้าที่ประมุขนิติบัญญัติ ประเด็นร้อนที่ถูกหยิบฉวยช่วงนี้ หนีไม่พ้นการแก้ รธน.ม.272 ที่ มุม อ.วันนอร์ เห็นต่างจาก "พรรคก้าวไกล"
ตำแหน่งประมุขฝ่ายนิติบัญญัติกับหลากหลายด่านที่ท้าทายในเบื้องหน้า โดยเฉพาะกลเกมสภา การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี คนที่30 ที่กำลังดำเนินอยู่ ณ เวลานี้ ถึงที่สุดแล้วไม่นายกฯจะเป็นใครจะใช่ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าและแคนดิเดตนายกฯพรรคก้าวไกลหรือไม่ อีกไม่นานจะได้รู้กัน
“กรุงเทพธุรกิจ” มีโอกาสบุกห้องทำงาน ‘วันนอร์’ “วันมูหะมัดนอร์ มะทา” ประธานสภาผู้แทน คนที่27 ของสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่26 เปิดใจถึงการทำงานในบทบาท “ประมุขนิติบัญญัติ”
“วันมูหะมัดนอร์” หรือ “อ.วันนอร์” เปิดเผยว่า เป็นตำแหน่งที่ได้รับ ทั้งที่คิดว่าจะไม่ขอรับตำแหน่งใด ยกเว้น “ส.ส.” หลังการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม เพราะต้องการเปิดทางให้ นักการเมืองรุ่นน้อง-นักการเมืองรุ่นใหม่ ในพรรคประชาชาติ มีโอกาสได้ทำงานในตำแหน่งสำคัญ แต่ด้วยเพราะเหตุจำเป็นทางสถานการณ์ทางการเมือง เพื่อให้การจัดตั้งรัฐบาล ของ 8 พรรครร่วมรัฐบาล เดินต่อไปได้
หากย้อนความไปเล็กน้อย ตำแหน่งประธานสภาฯ นี้กลายเป็นประเด็นคุกรุ่น ระหว่าง2พรรคแกนนำรัฐบาล คือ พรรคก้าวไกล และ พรรคเพื่อไทย ที่ต้องการตำแหน่งนี้ โดยชู “วาระทางการเมือง” ของแต่ละฝ่าย โดยไม่มีทีท่าว่า 2พรรคนี้จะลดลาวาศอกให้แก่กัน
ดังนั้นเพื่อยุติข้อขัดแย้ง ที่ถูกคนภายนอกมองว่า “กระทบกับการจัดตั้งรัฐบาล” แน่นอน ต้องหา “คนกลาง” มายุติปัญหา ซึ่ง “อ.วันนอร์” ฐานะนักการเมืองอาวุโส ที่ พรรคก้าวเพื่อไทยและพรรคเพื่อไทย ยอมรับนับถือ เป็น ผู้ที่ถูกเลือก
และเมื่อ 8 พรรค ยอมเสนอชื่อ “วันมูหะมัดนอร์” หัวหน้าพรรคฝั่งว่าที่ร่วมรัฐบาล ลำดับ3 ให้เป็น ประธานสภาฯ ไม่ผิดจากความคาดหมาย ที่ 10พรรคคู่แข่ง แสดงความยอมรับ โดยไม่เสนอชื่อ “บุคคลอื่น” ชิงตำแหน่งประมุขนิติบัญญัติ
ทว่าในประเด็นการปฏิบัติหน้าที่ ประธานสภาฯ หรือเป็น “ประธานรัฐสภา” ยังมีด่านสำคัญที่รอการพิสูจน์ความเก๋าของ “วันนอร์” ฐานะผู้นั่งประธานสภาฯ รอบที่สอง โดยเฉพาะประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ที่ล่าสุด “ส.ส.ก้าวไกล” เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 เพื่อตัดอำนาจ ส.ว. ร่วมโหวตนายกฯ เมื่อ 14 กรกฏาคม ที่มีวาระ “เอาคืน” ส.ว. ที่ “ไม่เห็นด้วย” กับการเสนอชื่อ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ให้เป็นนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 272
โดยก่อนที่ “ส.ส.ก้าวไกล” จะเคลื่อนหมากนี้ “อ.วันนอร์” ได้เปิดใจกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ไม่ใช่ เจาะจงแก้ไขมาตรา 272 แต่คือ การยึดการแก้ไขทั้งฉบับ ผ่านกลไกของ “สภาร่างรัฐธรรมนูญ” (ส.ส.ร.)
ที่เชื่อว่าจะเป็นโมเดลที่ทำให้เกิดรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุด เหมือนกับช่วงการจัดทำรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ที่ “อ.วันนอร์” มีส่วนร่วมในประวัติศาสตร์ นั่งเป็น “ประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ”
“รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ถูกผลักดันให้แก้ไขได้ ตอนนั้นบรรยากาศมีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย เรียกว่า 50 ต่อ 50 เพราะมีประเด็นเกี่ยวกับองค์กรอิสระ สถาบันนักการเมือง ตอนนั้นผมเป็นประธานรัฐสภา เห็นว่า หากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ผ่าน ต้องมีคนรับผิดชอบ และผมขอรับผิดชอบเอง ด้วยการลาออกจากตำแหน่ง แม้จะมีคัดค้านว่า ไม่เกี่ยวกัน แต่ผมมองว่า เมื่อรัฐบาลยังมีบทกำหนดรับผิดชอบต่อกฎหมายสำคัญหากไม่ผ่านสภาฯ นี่คือรัฐธรรมนูญที่เป็นกติกาสูงสุดของประเทศ หากไม่ผ่าน ผมต้องแสดงความรับผิดชอบ แต่พอผลโหวตออกมา ก็ผ่านมาได้"
"และรัฐธรรมนูญฉบับนั้นได้รับการยกย่องว่าเป็นฉบับประชาชน แม้จะมีข้อบกพร่องบ้างในภายหลัง แต่ถือว่าดีกว่ารัฐธรรมนูญพ.ศ.2550และรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560” อ.วันนอร์ฉายภาพ
สำหรับจุดกำหนดของ “รัฐธรรมนูญ 2540” แน่นอนว่า คือมาจากการเรียกร้องของประชาชน ขณะที่กลไก คือมาจากตัวแทนของประชาชน ผ่านการเลือกตัวแทนของประชาชนแต่ละจังหวัดและให้รัฐสภาลงมติในขั้นตอนสุดท้าย รวม 76 คน ผสมกับนักวิชาการ ที่เชี่ยวชาญหลากหลายด้าน อีก 23 คน
ขณะที่ในปัจจุบัน บริบทของการเมืองไทยเปลี่ยนไป รวมไปถึง กติกาที่กำหนดการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในรัฐธรรมนูญ 2560 ขีดเงื่อนไงไว้ซับซ้อน ทั้ง ต้องได้เสียง เห็นด้วยในวาระรับหลักการจาก ส.ว. ไม่น้อยกว่า 1ใน3 รวมถึงต้องได้เสียงเห็นชอบจากฝ่ายค้าน 20% ในชั้นโหวตวาระสาม
ดังนั้น “อ.วันนอร์” มองเส้นทางแก้รัฐธรรมนูญอีกครั้ง ด้วยสายตาของผู้มากประสบการณ์ว่า จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องรอให้ “ส.ว.ชุดปัจจุบัน” หมดอำนาจไปในช่วงเดือนพฤษภาคม 2567 เสียก่อน หรือประมาณ 10 เดือนไล่หลังจากนี้
“ในระหว่างที่รอ ส.ว.หมดวาระนั้น สามารถดำเนินการตามขั้นตอนเพื่อรอได้ ทั้ง ตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาพิจารณาเพราะที่ผ่านมากว่าที่จะมีการประชุมกันแล้วเสร็จ ต้องอาศัยเวลา ต้องดูรายละเอียดให้รอบคอบ ดูปัญหาอุปสรรค ซึ่งอาจใช้เวลาเป็นปี เมื่อถึงตอนนั้น ส.ว.ปัจจุบันหมดวาระ แล้วต้องเลือกมาใหม่ ตามเงื่อนไขในบทถาวรของรัฐธรรมนูญ เชื่อว่าจะเป็นโอกาส” ประธานรัฐสภา กล่าว
อย่างไรก็ดี “อ.วันนอร์” ยังฝันว่า หากทำรัฐธรรมนูญอีกฉบับหลังจากนี้สำเร็จ จะสามารถบังคับใช้ได้ไปนานๆ แต่ต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของบ้านเมือง การสร้างความตระหนักรู้และหวงแหนประชาธิปไตยที่อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน โดยไม่ยอมให้อำนาจอื่น หมายถึง อำนาจทหาร เข้ามาปฏิวัติและฉีกรัฐธรรมนูญอีก เพราะเชื่อว่าการปฏิวัติรัฐประหารที่เกิดขึ้นแต่ละครั้งหาก ประชาชนแสดงจุดยืนว่าไม่เห็นด้วย หรือ ทำอารยะขัดขืน เชื่อว่าทหารจะไม่ทำ
“ผมเคยคุยกับผู้นำต่างประเทศที่มีกำลังทางทหารมากๆ เหมือนกันว่า ทำไมถึงไม่ใช้การรัฐประหารเพื่อแก้ไขความขัดแย้งในประเทศของเขา ผู้นำเขาตอบมาคำเดียวว่า ประชาชนไม่ยอมรับ เมื่อประชาชนไม่ยอมรับก็ไม่กล้าทำ ดังนั้นในประเทศไทยเอง หากประชาชน แสดงอารยะขัดขืน แบบที่ไม่ผิดกฎหมาย เช่น ไม่ไปทำงานไม่ขายสินค้า ปิดร้าน เชื่อว่าสิ่งเหล่านี้จะทำให้เขาไม่กล้าทำ” อ.วันนอร์ ระบุ
ทั้งนี้ อ.วันนอร์ยังให้ความเห็นเกี่ยวกับการแก้ไข “อำนาจส.ว.” ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ไว้ ซึ่งเป็นการให้ความเห็นก่อนที่ “พรรคก้าวไกล” จะยื่นเรื่องแก้ไข เมื่อ 14 กรกฏาคม ด้วยว่า “เคยเสนอเข้าสู่สภาฯ แล้ว หากรอให้ครบ 5 ปีเขาก็จะพ้นไปตามวาระของรัฐธรรมนูญแล้ว”