"วราวุธ" เผย "เสรีพิศุทธ์" ส่งเทียบเชิญร่วมรัฐบาลก้าวไกล-ยังไม่ตอบรับ

"วราวุธ" เผย "เสรีพิศุทธ์" ส่งเทียบเชิญร่วมรัฐบาลก้าวไกล-ยังไม่ตอบรับ

"วราวุธ" ขอหารือส.ส.ชทพ.ก่อนเคาะโหวต นายกฯ จ่อโหวตไม่เหมือนเดิม หากเสนอผิดข้อบังคับรัฐสภา เผย "เสรีพิศุทธ์" ต่อสายส่งเทียบเชิญร่วมรัฐบาลก้าวไกล แต่ยังไม่ให้คำตอบ

นายวราวุธ ศิลปอาชา  ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ให้สัมภาษณ์ว่า ตนได้นัดประชุมส.ส. รวมถึงน.ส.กัญจนา ศิลปอาชา ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรค ชทพ. และนายนิกร จำนง ผู้อำนวยการพรรค เข้าร่วมประชุม เพื่อหารือต่อการลงมติเลือกนายกฯ รอบที่ 2 วันที่ 19 กรกฏาคม เวลา 08.30 น. อย่างไรก็ดีตนตอบไม่ได้ว่า แนวโน้มของพรรคจะงดออกเสียงเหมือนรอบแรกหรือไม่ อย่างไรก็ดีตนมีข้อสังสัยว่าการเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรรคก้าวไกล เป็นนายกฯ รอบแรกผ่านไปแล้ว จะสามารถเสนอรอบสองอีกได้หรือไม่ ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ดังนั้นหากขัดกับแนวทางการทำงานของสภาฯ พรรคไม่เห็นด้วยจะเสนอชื่อซ้ำอีกครั้ง

นายวราวุธ กล่าวถึงความพยายามขอเสียงสนับสนุนโหวตนายกฯ จาก8พรรคร่วม ว่า เมื่อวันที่ 16 กรกฏาคม พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ได้โทรศัพท์มาหาตนและบอกว่ามีการส่งเทียบเชิญมาจากพรรคก้าวไกล อยากจะขอให้พิจารณาในการเข้าร่วมรัฐบาล ซึ่งตนได้บอกไปว่าเรื่องใหญ่เช่นนี้ ตนไม่สามารถตอบรับได้ทันที คงต้องขอนำเข้าหารือในที่ประชุมพรรค และหารือกับ ส.ส.ในพรรคก่อนว่าแนวทางเป็นอย่างไร

ได้ยืนยันไปว่าแนวทางของพรรคชาติไทยพัฒนา คือ ไม่แตะต้องเรื่องการแก้ไขมาตรา 112 และเชิดชู เคารพเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ 

"หากพรรคก้าวไกลไม่ถอยเรื่องแก้มาตรา 112 เราไม่พร้อมจะร่วมงาน ทั้งนี้มีหลายคนสงสัยว่าทำไมพรรคต้องงดออกเสียง  เพราะเราเราให้เกียรติคนที่เลือกพรรคก้าวไกลเข้ามา และเราให้เกียรติพี่น้องประชาชนที่เลือกทั้งพรรคเล็กและพรรคใหญ่ให้เข้าสภา จึงได้งดออกเสียงไป แต่ถ้าจะมีการดำเนินการอะไรที่ไม่ตรงแนวทางปฏิบัติ กฎ ระเบียบ ข้อบังคับรัฐสภา นั่นก็จะเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่จะลงคะแนน" นายวราวุธ กล่าว

เมื่อถามถึงกรณีพรรคก้าวไกลยื่นเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ปิดสวิตซ์ ส.ว. นายวราวุธ กล่าวว่า มาตรา 272 ในประโยคแรกระบุว่า ภายใน 5 ปีหลังจากใช้รัฐธรรมนูญจะให้อำนาจ ส.ว.เลือกนายกฯ นั่นสะท้อนให้เห็นว่าอีกไม่นาน วรรคนี้จะหมดความหมาย ดังนั้น การจะแก้รัฐธรรมนูญในช่วงนี้จะเป็นการสร้างเงื่อนไขใหม่ให้เกิดความซับซ้อนและกินเวลาในการโหวตเลือกนายกฯ

 

"สำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรค  ยึดมั่นนโยบาย ซึ่งคล้ายกับอีกหลายพรรคคือ ให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) มาแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยอาจจะยึดโมเดลของรัฐธรรมนูญปี 40 และเพิ่มเติมปรับปรุงเข้าไปให้เหมาะสมกับบริบทในปัจจุบัน แต่ไม่ว่าจะแก้มาตราใดหรือบทใด หัวใจสำคัญของ ชทพ. ต้องไม่มีการแก้ไขหมวด 1 และหมวด 2 ใดๆ ทั้งสิ้น" นายวราวุธ กล่าว