มติรัฐสภา ข้างมาก 395 เสียง ปิดสวิตช์ "พิธา"

มติรัฐสภา ข้างมาก 395 เสียง ปิดสวิตช์ "พิธา"

"รัฐสภา" ลงมติข้างมาก ไม่เห็นชอบ เสนอชื่อ "พิธา" โหวตเป็นนายกฯ รอบสอง 395 คนต่อ 317 เสียง "ชูศักดิ์" เตือนสร้างบรรทัดฐานที่ไม่ดีต่อการเมืองไทย

ผู้สื่อข่าวรายงานถึงการประชุมรัฐสภา วาระพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคล ซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 272  ซึ่งมีผู้เสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล เพียงชื่อเดียว ให้รัฐสภาพิจารณา และมีส.ส.รับรอง 299 คนครบตามจำนวนที่กำหนด

 

ทั้งนี้ในการพิจารณาดังกล่าวไม่สามารถลงมติตามขั้นตอนได้ เนื่องจากที่ประชุมได้พิจารณาข้อหารือ ตามที่นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี พรรครวมไทยสร้างชาติ เสนอประเด็นให้พิจารณาเพื่อโต้แย้งการเสนอชื่อนายพิธา ให้รัฐสภาโหวตนายกฯ รอบสอง เพราะมองว่าการชื่อของนายพิธานั้นเข้าข่ายเป็นญัตติที่รัฐสภาตีตกไปแล้ว หลังจากการประชุมรัฐสภา เมื่อ 13 กรกฎาคม นั้น นายพิธาไม่ได้เสียงเห็นชอบให้เป็นนายกฯ ดังนั้นกรณีเสนอชื่ออีกครั้ง ถือว่าขัดกับข้อบังคับการประชุมรัฐสภาข้อ 41  อย่างไรก็ดีตนยืนยันว่าชื่อของนายพิธาไม่ได้เสียสิทธิต่อการเสนอชื่อให้เป็นนายกฯ แต่ต้องเกิดขึ้นในสมัยประชุมครั้งถัดไป

มติรัฐสภา ข้างมาก 395 เสียง ปิดสวิตช์ \"พิธา\"

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าที่ประชุมได้ใช้เวลาถกเถียงกันอย่างดุเดือดเข้มข้น ระหว่าง พรรคขั้วรัฐบาลเดิม กับ 8 พรรคร่วมรัฐบาล รวมถึงฝั่งส.ว. ซึ่งยกเหตุผลและข้อบังคับ รวมถึงรัฐธรรมนูญว่าด้วยการโหวตนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 สนับสนุนเหตุผลของฝั่งตนเอง ทั้งนี้พรรคก้าวไกล ยืนยันว่าการเสนอชื่อบุคคลให้ความเห็นชอบเป็นนายกฯ นั้น เป็นเรื่องที่เสนอให้พิจารณา ไม่ใช่การเสนอญัตติตามที่บัญญัติไว้ในข้อบังคับการประชุม

ทั้งนี้การอภิปรายช่วงหนึ่ง นายชูศักดิ์ ศิรินิล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย  อภิปรายว่า ตนขอให้หัวหน้าพรรคการเมืองระลึกด้วยว่า การพิจารณาตามข้อหารือนั้นอาจสร้างบรรทัดฐานที่ไม่ดีของอนาคตการเมืองไทย ทั้งนี้การเลือกนายกฯ ตามบทเฉพาะกาล มาตรา 272 นั้น มีโอกาสใช้เป็นครั้งสุดท้ายก่อนจะครบ 5 ปี ทั้งนี้รัฐธรรมนูญ ยังมีผลบังคับใช้ และการเลือกนายกฯ​ ต้องปฏิบัติตามมาตรา 159 โดยให้สภาฯ เลือกแคนดิเดตนายกฯ จากบัญชีของพรรคการเมือง  ดังนั้นในอนาคตหากเกิดกรณีที่พรรคการเมืองที่ได้รับเลือกตั้งไม่พอใจ เพราะจัดสรรปันส่วนไม่ลงตัว และที่ประชุมสภา ไม่รับข้อเสนอของพรรคเสียงข้างมากที่เสนอบุคคลเป็นนายกฯ คนที่จะเป็นแคนดิเดตนายกฯ อาจตกม้าตาย เพราะที่ประชุมโหวตไม่ได้ และหากยึดบรรทัดฐานที่ระบุว่าเสนอชื่อซ้ำไม่ได้อาจจะสร้างบรรทัดฐานที่ไม่ดีในอนาคต

 

“ด้วยความเคารพอย่าให้บรรทัดฐานการเมือง ต่อประเด็นลงมติเลือกนายกฯ เป็นบรรทัดฐานที่ไม่ดีต่อไปในอนาคต  ผมเห็นว่าบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 159 มาตรา 272 และข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อ 136 เป็นบทบัญญัติเฉพาะว่าด้วยการเลือกนายกฯ ดังนั้นจะนำเรื่องข้อบังคับที่เป็นญัตติ ซึ่งเป็นบททั่วไปมาบังคับไม่ได้ ทั้งนี้ไม่มีอะไรห้ามที่จะเสนอ ตรงกันข้ามการพิจารณานั้นต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ” นายชูศักดิ์ อภิปราย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าที่ประชุมได้ใช้เวลาถกเถียงและอภิปรายในเหตุผลที่สนับสนุนความเห็นของฝั่งตนเอง ซึ่งใช้เวลานานกว่า 8 ชั่วโมง และเมื่อเวลา 16.55  น. นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา กล่าวว่าขอให้ที่ประชุมลงมติ ว่า การเสนอชื่อนายพิธาให้รัฐสภาโหวตเป็นนายกฯ อีกรอบขัดกับข้อบังคับการประชุมข้อ41 หรือไม่ โดยผลการลงมติ พบว่า  เสียงข้างมาก 395 เสียง ต่อ 317 เสียง งดออกเสียง 8 เสียงไม่ลงคะแนน1  คือไม่เสนอชื่อนายพิธาซ้ำได้ในสมัยประชุมนี้

 

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์