จับกระแส“ด้อมส้ม”โหวตนายกฯรอบ 4 “บิ๊กป้อม-ทักษิณ”ชนวนม็อบลุกฮือ
การเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ เข้าสู่การโหวตเลือก รอบ 4 สมาชิกรัฐสภา ต้องดำเนินการด้วยความระมัดระวัง รอบคอบ เพื่อให้ได้ “นายกฯ” ที่ประชาชนยอมรับ และลดแรงกระแทกจากสังคม
เริ่มได้เห็นปฏิกิริยาของ “ด้อมส้ม” หลังศาลรัฐธรรมนูญ มีคำสั่ง “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” แคนดิเดตนายกฯ พรรคก้าวไกล หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.ชั่วคราว ตั้งแต่ 19 ก.ค.2566 หลังจากรับคำร้อง กกต.คดีถือหุ้น itv ซึ่งเป็นวันเดียวกับการนัดโหวตนายกฯ รอบ2 ของรัฐสภา
ส่งผลให้บรรยากาศหน้ารัฐสภา วานนี้ (19 ก.ค.) ตึงเครียดขึ้นมาทันที หลังมวลชนประมาณ 150-200 คน นำโดย กลุ่มโมกหลวงริมน้ำ กลุ่มทะลุแก๊ส กลุ่มนักกิจกรรมทางการเมือง และแนวร่วมฯ สนับสนุน “พิธา-ก้าวไกล” กรูเข้ามายังหน้าประตูรัฐสภา ด้วยความไม่พอใจ พร้อมจุดพลุสีส้มเป็นสัญลักษณ์ เรียกร้อง ส.ว.ลาออก ก่อนเคลื่อนขบวนไปยังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน
หน่วยงานความมั่นคงชี้ว่า เป็นเพียงความเคลื่อนไหวนอกรัฐสภา เพื่อกดดันกระบวนการทำงานในรัฐสภา ของ ส.ส.-ส.ว. ให้โหวตเลือก “พิธา” เป็น “นายกฯ” ตามเจตจำนงประชาชน หลังพรรคก้าวไกล ชนะเลือกตั้งเป็นพรรคอันดับ 1 ในช่วงเริ่มต้นเท่านั้น ผ่านจัดกิจกรรมต่างๆ จึงได้เห็นตัวเลขผู้มาร่วมชุมนุมอยู่ระดับหลักร้อย
เริ่มตั้งแต่ช่วงเย็นวันที่ 12 ก.ค.หน้าหอศิลป์ กทม. นำโดย “อานนท์ นำภา” ตัวเลขมวลชนอยู่ที่ประมาณ 300 คน ส่วนจุดต่างๆในต่างจังหวัดอยู่ที่หลักสิบ
วันที่ 13 ก.ค. วันโหวตนายกฯรอบแรกที่บริเวณหน้ารัฐสภา มีมวลชนมาให้กำลังใจตัวเลขประมาณ 400-500 คน ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนมีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป นอกนั้นเป็นพ่อค้าแม่ค้า
วันที่ 16 ก.ค. อานนท์ นำภา จัดกิจกรรมคาร์ม็อบ เรียกร้องให้ ผบ.เหล่าทัพ และ ผบ.ตร.ลาออกจากสมาชิก ส.ว. ใน 3 จุด หน้ากองบัญชาการกองทัพบก กองทัพเรือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีรถจักยานยนต์ ประมาณ 200-250 คัน จำนวนคนร่วมกิจกรรม 400-500 คน ก่อนมารวมตัวที่หอศิลป์ มีมวลชนเพิ่มประมาณ 600-700 คน
หน่วยงานความมั่นคง ย้ำว่า แม้ตัวเลขมวลชนไม่มากนักแต่ไม่ควรประมาท “ด้อมส้ม”เพราะธรรมชาติของคนทำม็อบ เมื่อจำนวนคนไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ต้องกลับมาวิเคราะห์สาเหตุ ควบคู่ไปกับการเลี้ยงม็อบผ่านกิจกรรมต่างๆ และพยายามเข็นประเด็น เงื่อนไข สามารถดึงความรู้สึกประชาชนให้มีส่วนร่วม และออกมาร่วมชุมนุม จากหลักร้อยเป็นหลักพัน หลักหมื่น และเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ เป็นทวีคูณ
สถานการณ์ตอนนี้ ไม่เพียงแต่ “พิธา” ชวดเก้าอี้นายกฯ แต่ “พรรคก้าวไกล” มีแนวโน้มจะถูกดีดออกจากพรรคร่วมรัฐบาล ให้กลายเป็นฝ่ายค้าน ถือเป็นประเด็นต่อเนื่องที่ให้ “ด้อมส้ม” นำไปต่อยอดสร้างเงื่อนไขเรียกความเห็นใจจากคนในสังคม ว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม โดยมี ส.ว.คือตัวปัญหา และถูกกลั่นแกล้งจากขั้วอำนาจเก่า จะสร้างแนวร่วมได้แต่ระดับหนึ่งเท่านั้น
อีกทั้ง “ไฮไลต์” ตอนนี้ไม่ได้อยู่ที่กระบวนการโหวตเลือก “พิธา” อีกแล้ว แต่อยู่ที่การประชุมรัฐสภา โหวตนายกฯ ครั้งที่ 4 มากกว่า ว่าจะได้ “นายกฯ”ถูกใจหรือขัดความรู้สึกของประชาชน และ “นายกฯ”จะมีที่มาอย่างไร ประเด็นสำคัญที่จะเป็นตัวชี้วัดว่า “ม็อบ” จุดติดขยายวงกว้างหรือไม่
ในขณะที่การโหวตนายกฯ ครั้งที่ 3 คาดว่าพรรคเพื่อไทย จะเสนอ “เศรษฐา ทวีสิน” แคนดิเดตนายกฯ แต่มีเงื่อนไข หาก “ก้าวไกล”ยังร่วมรัฐบาล อาจส่งผลให้ ส.ส.ขั้วรัฐบาลเดิม และ ส.ว.ไม่ยกมือโหวตให้ เนื่องจากติดประเด็นแก้ไขมาตรา ม.112 ซึ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพรรคร่วมรัฐบาล และการโหวตนายกฯ รอบ 4
หาก “เพื่อไทย” ตัดสินใจเสนอชื่อแคนดิเดต “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร และปลดล็อกก้าวไกลออกจากสมการรัฐบาล คาดว่าจะได้รับเสียงสนับสนุนท่วมท้นทั้ง ส.ส. และ ส.ว.
แต่นั่นก็หมายความว่า “อุ๊งอิ๊ง” อาจต้องเผชิญแรงกดดันมหาศาลจาก “ด้อมส้ม” และ การกลับบ้านของ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกฯ ผู้เป็นบิดา ไม่ต่างกับ นายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในอดีต ที่ พยายามเข็น พ.ร.บ.นิรโทษกรรม จนเป็นที่มาวิกฤติการเมือง ขณะเดียวกันคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ มารดา ไม่เห็นด้วย ที่จะให้ลูกสาวคนเล็กขึ้นมาเผชิญสารพัดปัญหา สู้เก็บตัวรอรอบหน้าจะดีกว่า
ดังนั้น การโหวตนายกฯ รอบ 4 ทุกสายตา จึงจับจ้องไปที่ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ แคนดิเดตนายกฯ พรรคพลังประชารัฐ ด้วยนโยบายก้าวข้ามความขัดแย้ง อาจตอบโจทย์ที่สุด กับสายสัมพันธ์เก่าก่อน ที่เคยดูแลคุณหญิงพจมานในช่วงรัฐประหาร และสามารถดูแล“ ทักษิณ” กลับบ้านได้แบบไร้ข้อครหา
อีกทั้งยังมีเสียง ส.ว.ในมือบวกกับเสียง ส.ส.จากพรรคร่วมรัฐบาลชุดใหม่ สามารถฝ่าด่าน 376 เสียง ส่ง “บิ๊กป้อม” นั่งเก้าอี้ นายกฯ ได้แบบสบายๆ ซึ่งแน่นอนว่า ต้องขัดความรู้สึกของประชาชน กลายเป็น ป้อมค่ายรับตำบลกระสุนตก รับแรงกระแทกสาหัสสากรรจ์
กับข้ออ้างเพื่อขัดตาทัพ ผ่าทางตันการเมือง ให้ “บิ๊กป้อม” เป็น “นายกฯ” ในเวลาสั้นๆ เมื่อ ส.ว.ชุดปัจจุบันหมดอายุ ก็พร้อมลาออก
เหตุผลนี้จะเป็นที่ยอมรับของคนในสังคม หรือ จะกลายเป็น เงื่อนไขปลุก “ม็อบ”ลุกลามไปทั่วหัวระแหง
เพราะภาพลักษณ์ของ “บิ๊กป้อม” ก็ไม่ต่างจาก “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ รักษาการ ส่วน “ทักษิณ” ก็ยังมีเชื้อไฟเก่าพร้อมคุกรุ่นได้เสมอ หากการกลับบ้านเข้าสู่กระบวนการรับโทษแบบพิเศษสองมาตรฐาน ค้านสายตาคนในสังคม
ดังนั้นการรับมือ “ด้อมส้ม” ที่ว่ายากแล้ว ก็คงไม่เท่ากับการลุกฮือของประชาชน ทุกสาขาอาชีพ ต่อต้านกระบวนการได้มาซึ่ง “นายกฯ” และการกลับบ้าน “ทักษิณ” แบบไม่ชอบธรรม สิ่งที่ “หน่วยงานความมั่นคง” หวั่นใจที่สุด คือ การนัดหยุดงาน ข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ ร่วมชุมนุม
ส่งผลให้การเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ เข้าสู่การโหวตเลือก รอบ 4 สมาชิกรัฐสภา ต้องดำเนินการด้วยความระมัดระวัง รอบคอบ เพื่อให้ได้ “นายกฯ” ที่ประชาชนยอมรับ และลดแรงกระแทกจากสังคม