'ปิยบุตร' การันตีเสนอชื่อนายกฯไม่ใช่ญัตติ จี้ ปธ.สภาฯ กล้าหาญปิดช่องพิสดาร

'ปิยบุตร' การันตีเสนอชื่อนายกฯไม่ใช่ญัตติ จี้ ปธ.สภาฯ กล้าหาญปิดช่องพิสดาร

‘ปิยบุตร’ สวนชัดทุกประเด็น ยันเสนอบุคคลเป็นนายกฯ ไม่ใช่ญัตติ เรียกร้องประธานรัฐสภากล้าหาญ ปิดช่องตีความพิสดาร ใช้อำนาจข้อบังคับประชุมรัฐสภา ข้อ 41 เปิดทางเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ ซ้ำได้ ไม่เช่นนั้นอาจถูกใช้เป็นอาวุธสลาย 8 พรรค

เมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2566 นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า เฟซบุ๊กไลฟ์เพจ ‘Piyabutr Saengkanokkul - ปิยบุตร แสงกนกกุล’ ถึงกรณีที่ประชุมร่วมรัฐสภา มีมติเสียงข้างมาก ไม่เสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล โดยอ้างญัตติซ้ำ ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อที่ 41 ว่า การเสนอชื่อบุคคลไปดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนั้น ไม่ใช่ญัตติว่า ในภาพรวม สิ่งที่สามารถเข้าไปเป็นวาระการประชุมในสภาได้นั้น ประกอบด้วย 

(1) กระทู้ (Question) มีทั้งกระทู้ถามด้วยวาจา กระทู้ถามที่ต้องตอบเป็นหนังสือ หรือกระทู้สดที่ถามโดยตรงต่อรัฐมนตรี หรือกระทู้ที่ไปถามในห้องย่อย 

(2) ญัตติ (Motion) เช่น ญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลหรือทั้งคณะ ญัตติเสนอร่างพระราชบัญญัติเข้าสู่การพิจารณา ญัตติเสนอแก้รัฐธรรมนูญ

(3) วาระการประชุมที่ว่าด้วยการเสนอชื่อบุคคลไปดำรงตำแหน่ง เช่น นายกรัฐมนตรี ซึ่งปกติจะเป็นการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร แต่ในช่วง 5 ปีแรก รัฐธรรมนูญมาตรา 272 บอกให้ใช้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา ส่วนที่กำหนดให้ที่ประชุมวุฒิสภาทำ เช่น การเสนอชื่อให้ความเห็นชอบตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ตุลาการศาลปกครอง และที่กำหนดให้ใช้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา เช่น การเสนอชื่อรัชทายาทหรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และ (4) การเสนอรายงานขององค์กรต่างๆ ตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อให้ ส.ส. รับทราบและพิจารณาอภิปราย เช่น รายงานงบการเงินรายงานประจำปี

ดังนั้น ยืนยันชัดเจนในทางกฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎหมายรัฐสภา ไม่ว่าจะเปิดตำรากี่เล่ม การเสนอชื่อบุคคลให้สภาให้ความเห็นชอบว่าใครจะเป็นนายกรัฐมนตรีนั้น ไม่ถือว่าเป็นญัตติ เพราะถ้าเป็นญัตติต้องเขียนชัดๆ ว่าเป็นญัตติแต่การเสนอชื่อบุคคลไปดำรงตำแหน่งส่วนใหญ่จะเขียนอยู่ในรัฐธรรมนูญอย่างจำเพาะเจาะจง

เช่น รัฐธรรมนูญมาตรา 159 กำหนดเรื่องการเลือกนายกฯ ให้ที่ประชุม ส.ส. พิจารณา หรือบทเฉพาะกาลมาตรา 272 ที่ให้ใช้เฉพาะ 5 ปีแรกนับแต่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ นอกจากนั้นในข้อบังคับการประชุมรัฐสภา หมวด 9 ว่าด้วยการเสนอชื่อบุคคลดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่ข้อ 136-139 ก็เขียนล้อมาจากรัฐธรรมนูญมาตรา 272 เป็นการเขียนแยกไว้ต่างหาก ออกจากหมวดที่ 2 ว่าด้วยการเสนอญัตติ

เพราะฉะนั้น มี 2 เหตุผล เหตุผลที่หนึ่งคือเรื่องการเสนอชื่อบุคคลไปดำรงตำแหน่งนายกฯ เขียนอยู่ในรัฐธรรมนูญชัดเจน ไม่ใช่เรื่องของญัตติ จะเอาข้อบังคับฯ ข้อที่ 41 มาหักล้างรัฐธรรมนูญไม่ได้ เหตุผลที่สอง คือแม้แต่ในข้อบังคับฯ ก็แยกหมวดชัดเจน นอกจากนี้อีกเหตุผล คือถ้าตีความว่าการเสนอชื่อบุคคลไปดำรงตำแหน่งต่างๆ เป็นญัตติแล้วต่อมาเท่ากับต้องอยู่ภายใต้ข้อบังคับฯ ข้อที่ 41 คือเสนอชื่อซ้ำไม่ได้นั้น จะส่งผลประหลาด เกิดการตีความกฏหมายไปสู่ทางตัน เกิดปัญหาแก่บ้านเมืองทันที

  • เตือนอย่าเล่นการเมืองจนระบบพัง

ไปสู่ทางตันอย่างไร? สมมุติวันนี้มีพรรคก้าวไกลพรรคเดียวที่ได้คะแนนเลือกตั้งถล่มทลายกว่า 300 เสียง ในขณะที่พรรคอื่นได้ ส.ส. ไม่ถึง 25 คน จึงมีเพียงพรรคก้าวไกลที่เสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ ได้ หากเกิดเหตุการณ์แบบนี้ แล้วตีความว่าการเสนอชื่อนายกฯ เป็นญัตติ เท่ากับถ้าแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคก้าวไกลถูก ส.ว. บล็อค ก็จะเสนอชื่อเดิมซ้ำอีกไม่ได้ และไม่สามารถเปลี่ยนชื่อได้ เพราะพรรคอื่นมี ส.ส. ไม่ถึง 25 คน

“ถ้าเกิดเหตุการณ์แบบนี้จะทำอย่างไร ประเทศนี้ก็ไม่ต้องเลือกนายกฯ จนกว่าจะถึงประชุมสมัยหน้าคืออีก 4 เดือนถัดไปอย่างนั้นหรือ ดังนั้น เราต้องระมัดระวัง อย่าเอาวาระการประชุมว่าด้วยการเสนอชื่อบุคคลดำรงตำแหน่ง ไปเป็นญัตติ อย่าเล่นการเมืองกันจนเอาข้อบังคับมาทำลายหลักการ อย่าเล่นการเมืองโดยการตีความพิสดารจนทำให้บ้านเมืองถึงทางตัน ทำให้ระบบมันพัง” ปิยบุตรกล่าว

ปิยบุตร ยังฝากถึง ส.ว. และพันธมิตร 3 พรรคที่ประกอบด้วย พรรคภูมิใจไทย พรรคพลังประชารัฐและพรรครวมไทยสร้างชาติ ว่าไม่จำเป็นต้องเชื่อที่ตนพูด แต่ขอให้ฟังความเห็นทางกฎหมายของนักวิชาการรัฐธรรมนูญจำนวนมากที่ให้ความเห็นสอดคล้องกันทั้งหมดว่าการเสนอชื่อบุคคลไปดำรงตำแหน่งนายกฯ ไม่ใช่ญัตติ เช่น บวรศักดิ์ อุวรรณโณ, วิษณุ เครืองาม, ธงทอง จันทรางศุ, พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย หรือ ธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด

“มันอะไรกันนักกันหนา จะสกัดขัดขวางพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ขัดขวางการโหวตนายกรัฐมนตรีรอบนี้ ต้องลงทุนใช้ทุกสรรพกำลังขนาดนี้เลยหรือ” ปิยบุตรกล่าว

  • ย้อนความสำคัญ ทำไมประธานรัฐสภาต้องเป็นก้าวไกล

ปิยบุตรกล่าวต่อไปว่า จากสิ่งที่เกิดขึ้น จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมตนยืนยันมาตลอดว่าตำแหน่งประธานรัฐสภามีความสำคัญ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่มาตรา 272 ยังใช้บังคับอยู่จนถึงเดือนพฤษภาคมปี 2567 การเลือกนายกฯ ต้องทำในที่ประชุมร่วมรัฐสภาโดยมีประธานรัฐสภาทำหน้าที่เป็นประธานควบคุมการประชุม

“ตำแหน่งประธานรัฐสภาจึงมีความสำคัญ ที่ผมพูดมาตลอดว่าจำเป็นต้องให้ ส.ส. พรรคก้าวไกลเป็นประธานนอกจากเหตุผลเรื่องความชอบธรรมเพราะเป็นพรรคอันดับ 1 อีกเหตุผลคือประธานรัฐสภาจำเป็นต้องควบคุมการประชุม ต้องหยิบรัฐธรรมนูญ หยิบข้อบังคับมาตีความวินิจฉัย ซึ่งเมื่อตีความวินิจฉัย ก็เป็นธรรมดาอยู่เองที่จะมีคนเห็นไม่ตรงกัน แต่ถ้าประธานแข็งแรงมั่นคง อธิบายจากหลักกฎหมาย จากความเห็นของนักวิชาการประกอบเข้าไป ใช้ความกล้าตัดสินใจ วันนี้ก็จบ ไม่ต้องมาโหวตกัน”

นอกจากนี้ เมื่อไปดูความเห็นของฝ่ายกฎหมายสภาผู้แทนราษฎร ก็เห็นเช่นเดียวกันว่าการเสนอชื่อนายกฯ ไม่ใช่ญัตติในขณะที่ฝ่ายกฎหมายของวุฒิสภาเห็นว่าเป็นญัตติ นั่นหมายความว่าประธานรัฐสภามีความเห็นทางกฎหมายสนับสนุนอยู่เยอะแยะ จึงควรใช้อำนาจของตัวเองยืนยันไปว่าการเสนอชื่อบุคคลดำรงตำแหน่งนายกฯ ไม่ใช่ญัตติ ไม่ตกอยู่ภายใต้ข้อบังคับฯ ข้อที่ 41 สามารถโหวตพิธาได้ และถ้าพิธาไม่ผ่าน กระบวนการก็เดินต่อไปในสัปดาห์หน้าเช่นอาจมีการโหวตครั้งที่ 3 พิธาก็ประกาศแล้วว่าจะเปลี่ยนให้เป็นพรรคเพื่อไทย เรื่องมันก็เท่านี้

“ผมถึงยืนยันว่าประธานรัฐสภาสำคัญมากในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการเมืองไทย ผมคาดเดาได้ว่าจะมีการเล่นเกมกันอย่างนี้ มองออกตั้งแต่ต้นว่ามีโอกาสทุกวินาทีที่จะมีการใช้เสียงข้างมากของรัฐสภาลากไป โดยการตีความพิสดารบ้าๆบอๆ ต่อไปนี้ถ้าท่านประธานไม่ยอมกล้าวินิจฉัยเลย พันธมิตรฝ่ายนี้เกือบ 400 เสียง จะผนึกกำลังเปลี่ยนทุกเรื่องได้หมด เปลี่ยนข้อบังคับได้หมด แบบนี้คือเผด็จการรัฐสภาของจริง” เลขาธิการคณะก้าวหน้าย้ำ

  • เรียกร้อง ‘วันนอร์’ ใช้อำนาจข้อบังคับฯ ข้อ 41 ก่อนพันธมิตร 8 พรรคถูกเจาะจนแตก

ปิยบุตรยังเรียกร้องให้ วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ใช้อำนาจตามข้อบังคับฯ ข้อที่ 41 ตอนท้าย ในการยืนยันว่าหากมีประชุมรัฐสภาครั้งต่อไปเพื่อลงคะแนนเลือกนายกฯ ต่อให้มติที่ประชุมที่ผ่านมาบอกว่าเป็นญัตติซ้ำ แต่ประธานรัฐสภาเห็นว่าบรรจุเข้ามาได้ เพราะเหตุการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไป เช่น พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยอาจเจรจาให้มีคะแนนเพิ่มขึ้น หรือ ประภาศรี สุฉันทบุตร ส.ว. ที่โหวตให้พิธาครั้งที่แล้ว ได้รับความนับถือจากประชาชนทั่วประเทศ อาจเป็นเหตุปัจจัยให้ ส.ว. คนอื่นๆ กล้าหาญมากขึ้น

“เรียนท่านประธานรัฐสภาด้วยความเคารพ ท่านยังมีโอกาสใช้ช่องทางนี้อยู่ ถ้าท่านใช้ช่องทางนี้ไม่ใช่ประโยชน์ของพรรคก้าวไกลหรือของพิธาแล้ว แต่จะช่วยในการผนึกกำลังของพันธมิตร 8 พรรคในการสนับสนุนแคนดิเดตนายกฯที่มาจากเพื่อไทยในครั้งถัดไปด้วย” ปิยบุตรกล่าว

เลขาธิการคณะก้าวหน้าขยายความเพิ่มเติมว่า เมื่อลองคิดตามอาจเกิดคำถาม เหตุใดวันนี้ ส.ว. และพันธมิตร 3 พรรค จึงต้องเล่นเกมตีความข้อบังคับฯ ข้อที่ 41 ดูผิวเผินคือต้องการสกัดพิธา แต่ถ้ามองอย่างลึกซึ้งต่อไป ตนเชื่อว่าส.ว. และพันธมิตร 3 พรรค รู้อยู่แล้วว่าถ้าปล่อยให้โหวตพิธาครั้งที่ 2 ก็จะคว่ำได้อีก และจะไปสู่การโหวตครั้งที่ 3 ซึ่งเป็นแคนดิเดตของพรรคเพื่อไทย

สมมุติครั้งหน้า พันธมิตร 8 พรรคที่จับมือกันอยู่ เปลี่ยนมาสนับสนุน เศรษฐา ทวีสิน, แพทองธาร ชินวัตร หรือ ชัยเกษมนิติสิริ แล้ว ส.ว. กับพันธมิตร 3 พรรคจับมือกันคว่ำ ด้วยเหตุผลว่าในพันธมิตร 8 พรรคนี้ยังมีพรรคก้าวไกลอยู่ เท่ากับต่อไปจะเสนอชื่อเศรษฐา แพทองธาร หรือชัยเกษม ซ้ำอีกรอบไม่ได้ เพราะบอกว่าเป็นญัตติซ้ำ ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ แคนดิเดตของ 8 พรรคก็ไม่เหลือแล้ว นี่คือเหตุผลที่ ส.ว. และพันธมิตร 3 พรรคผนึกกันแน่น ไม่ว่า 8 พรรคเสนอใครมาก็สวนทุกครั้ง ตราบใดที่ยังมีพรรคก้าวไกลเป็นรัฐบาล

ผลที่ตามมาคือเกิดแรงกดดันไปที่ 8 พรรค ว่าสงสัยจะถึงวันสุดท้ายที่ต้องแยกจากกัน  เพราะไม่อย่างนั้นมันไปต่อไม่ได้ ท่านพอมองเห็นพล็อตเรื่องที่เขาวางไว้หรือไม่ ผมเชื่อว่าผลกระทบของมติการประชุม จะเป็นอาวุธแหลมคมเครื่องมือสำคัญที่เข้าไปเจาะพันธมิตร 8 พรรคให้รั่วหรือแตก เพื่อจะบอกว่ายุติ 8 พรรคเถอะ พวกข้าอันได้แก่ภูมิใจไทย พลังประชารัฐ รวมไทยสร้างชาติ จะได้ขอเข้าไปอยู่ในรัฐบาลด้วย” ปิยบุตร กล่าว

เลขาธิการคณะก้าวหน้า กล่าวว่า อีกแนวทางที่บวรศักดิ์ อุวรรณโณเสนอ คือส่งเรื่องให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน และให้ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ ว่ามติของรัฐสภาดังกล่าวขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ส่วนอีกช่องทางที่ต้องใช้เวลา คือกรณีพรรคก้าวไกลเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญยกเลิกมาตรา 272 ซึ่งต้องลุ้นว่า ส.ว. จะกล้าหาญปิดสวิตช์ตัวเองจริงๆ เสียที หรือเพียงดีแต่พูด ดังนั้น ในการประชุมรัฐสภาครั้งถัดไป การใช้อำนาจของประธานรัฐสภาจึงสำคัญมาก