'เพื่อไทย'หัก'ก้าวไกล'ตั้งรัฐบาล เดิมเกมเร็วรวม 9 พรรค 312 เสียง สลับขั้ว
“เพื่อไทย”หัก“ก้าวไกล”ตั้งรัฐบาล เดิมเกมเร็วรวม 9 พรรค 312 เสียง สลับขั้ว จับตาฉีกเอ็มโอยูสลายขั้ว 8 พรรค อ้างนโยบายก้าวไกลเดดล็อก
ภายหลังที่รับไม้ต่อจากพรรคก้าวไกล ให้พรรคเพื่อไทย เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล “ทีมเพื่อไทย” ได้เดินเกมอย่างรวดเร็ว เสมือนวางแผนล่วงหน้ามาแล้ว
เกมแรกเดินหมากจัดประชุม 8 พรรคจัดตั้งรัฐบาล วาง 3 แนวทาง รวบรวมเสียงให้ได้ถึงจุดหมาย 375 เสียง เพื่อส่งให้แคนดิเดตของพรรคเพื่อไทย นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 โดยสัญญาลมปากยึด 312 เสียงให้เหนียวแน่นเอาไว้ก่อน
พร้อมวางแนวทางหาเสียงเพิ่มเติม 3 ข้อ ประกอบด้วย
1. จะแสวงหาเสียงสนับสนุนจาก สว. แม้ สว. จะตั้งเงื่อนไขเกี่ยวกับมาตรา 112 หาก สว. ให้ข้อมูลเกี่ยวกับแนวทางลดเงื่อนไข จะได้นำมาหารือกับที่ประชุมทั้ง 8 พรรคร่วมต่อไป
2. หากได้เสียงจาก สว. ไม่พอเพียง ให้สิทธิพรรคเพื่อไทย ไปพูดคุยกับพรรคการเมืองอื่น ตามที่พรรคเพื่อไทย เห็นควร เพื่อให้ได้เสียงสนับสนุน ซึ่งพรรคที่จะไปคุย ให้เป็นเสรีภาพของพรรคเพื่อไทย
3. แนวทางอื่นๆ นอกเหนือจากนี้ ที่ประชุมได้ให้สิทธิพรรคเพื่อไทย พิจารณาดำเนินการ
หลังเก็บฉากแถลง 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล เมื่อวันที่ 21 ก.ค. ได้ไม่กี่ชั่วโมง พรรคเพื่อไทยเดินข้ามแนวทางแรก หงายไพ่แนวทางที่สองทันที ด้วยการนัดหมายเจรจากับ อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย หวังดึง 71 เสียง มาเติมในขั้วเดิม
ทว่าในวันที่ 22 ก.ค. “แกนนำเพื่อไทย” ไม่ได้หยุดอยู่แค่การเปิดโต๊ะคุยกับพรรคภูมิใจไทย แต่ยังเปิดดีลกับ สุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานพรรคชาติพัฒนากล้า ที่มี 2 เสียง
คิวถัดมา เปิดพรรคต้อนรับคู่อริเก่า พรรครวมไทยสร้างชาติ ที่มี 36 เสียง นำโดย พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรค แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะประกาศวางมือทางการเมือง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ารวมไทยสร้างชาติ เป็นพรรคที่ พล.อ.ประยุทธ์ ปลุกปั้นเพื่อไปต่อในตำแหน่งนายกฯ แต่กลับได้ สส. น้อยเกินไปจนไปต่อไม่ได้
ต่อด้วยวันที่ 23 ก.ค.พรรคเพื่อไทยยังเปิดบ้านรอบสอง ต้อนรับ วราวุธ ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ที่มี 10 เสียง ก่อนจะมาปิดท้ายที่พรรคพลังประชารัฐ นำโดย สันติ พร้อมพัฒน์ เลขาธิการพรรค ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา ที่นำขบวนมาเจรจากับพรรคเพื่อไทย
เกมสองของเพื่อไทย จะเปิดการแสดงด้วยการเชิญ 8 พรรคจัดตั้งรัฐบาล มาร่วมหารือกันครั้ง พร้อมทั้งนำเงื่อนไขในการเจรจากับขั้ว 188 เสียง มาแจ้ง เพื่อร่วมกันตัดสินใจอีกครั้ง
เงื่อนไขบนโต๊ะเจรจา จะต้องมีประเด็นการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งเป็นนโยบายหลักของพรรคก้าวไกล อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ พร้อมทั้งเหตุผลอื่นของขั้ว 188 เสียง ที่ไม่สามารถโหวตให้ขั้ว 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล โดยมีพรรคก้าวไกลเป็นอุปสรรคสำคัญ
เนื่องจากจุดยืนตามหน้าสื่อ จุดยืนวงเจรจาไม่ลับของขั้ว 188 เสียง ต่างเซ็ตกันมาเหมือนกันหมด โดยมีจุดประสงค์สกัดพรรคก้าวไกลให้พ้นทาง
ขณะเดียวกันพรรคเพื่อไทย อยู่ในจุดที่มีความพร้อมพอสมควร ในการสลายขั้ว 312 เสียง มาจับมือกับขั้ว 188 เสียง เพื่อผลักดันแคนดิเดตนายกฯของพรรค ให้ฝ่าด่านในรัฐสภา 375 เสียงไปถึงเก้าอี้ผู้นำรัฐบาล
เพราะหากพรรคเพื่อไทยยังจับมือกับขั้ว 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล จับมือพรรคก้าวไกล ไม่มีทางที่จะมีเสียง สส.-สว. โหวตให้เกิน 376 เสียง อย่างแน่นอน
การจับมือกับขั้ว 188 เสียง จะได้เสียง 250 สว. มาอยู่ด้วยแบบไม่มีเงื่อนไข และไม่ต้องออกแรงเจรจาด้วยตัวเอง
แต่หากไม่สลัดพรรคก้าวไกลทิ้ง ชื่อแคนดิเดตนายกฯ ของเพื่อไทย ไม่ว่าเป็นใครย่อมแพ้โหวตคาสภาฯ ไม่ต่างจาก “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล ที่สำคัญ บรรทัดฐานข้อบังคับ 41 ว่าด้วยญัตติซ้ำ ที่เพิ่งสร้างเอาไว้หมาดๆ รายชื่อแคนดิเดตนายกฯ รายต่อไป จะหมดโอกาสที่จะถูกเสนอชื่อเข้ามาโหวตอีกครั้ง
ดังนั้น ขั้ว 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลเดิม ที่ประกอบด้วย พรรคก้าวไกล 151 เสียง พรรคเพื่อไทย 141 เสียง พรรคประชาชาติ 9 เสียง พรรคไทยสร้างไทย 6 เสียง พรรคเพื่อไทรวมพลัง 2 เสียง พรรคเสรีรวมไทย 1 เสียง พรรคเป็นธรรม 1 เสียง และพรรคพลังสังคมใหม่ 1 เสียง รวม 312 เสียง ย่อมสลายลง
พรรคเพื่อไทยนัดหมายจะแจ้งผลการหารือ “ขั้ว 188 เสียง - สว.” ให้กับขั้ว 8 พรรคจัดตั้งรัฐบาล เพื่อรับทราบความคืบหน้า และเงื่อนไขที่จะหาเสียงเพิ่มเติม
โดยเงื่อนไขหลักของ พรรคภูมิใจไทย พรรคพลังประชารัฐ พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนา และ สว. ไม่เห็นด้วยกับแนวนโยบายของพรรคก้าวไกล ที่ต้องการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และแนวคิดเกี่ยวกับสถาบันฯ
ดังนั้นภายหลังแจ้งผลต่อ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล ต้องจับตาว่าพรรคเพื่อไทย จะมีท่าทีอย่างไร โดย “ชลน่าน” ยืนยันว่าต้องหาเสียงเพิ่มให้ได้เกิน 375 ก่อนที่จะเข้าสู่การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีในวันที่ 27 ก.ค.
เมื่อขั้ว 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ทำให้บันทึกข้อตกลง (เอ็มโอยู) ต้องโดนฉีกไปโดยปริยาย
มาถึงจุดนี้ แม้จะต้องวัดใจ “พิธา-ก้าวไกล” จะเดินต่ออย่างไร จะประกาศถอนตัวเองตามเกมเพื่อไทยหรือไม่ หรือจะดึงเกมต่อด้วยการยืนยันการผูกกับเพื่อไทย หวังดิสเครดิตการเมือง แต่ในที่สุดก้าวไกลก็จะจบลงที่ถูกลอยแพ
ถึงเวลานี้ต้องยอมรับว่า พรรคเพื่อไทยครองความได้เปรียบทางการเมือง เมื่อได้สิทธิขาดในการจัดตั้งรัฐบาลเอาไว้ในมือ แม้จะมีกระแสต่อต้าน แต่มั่นใจว่าอยู่ได้ไม่นาน
โดยขั้วใหม่ที่จะร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลเพื่อไทย มีเสียงรวมกันเท่าเดิม 312 ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย 141 เสียง พรรคภูมิใจไทย 71 เสียง พรรคพลังประชารัฐ 40 เสียง พรรครวมไทยสร้างชาติ 36 เสียง พรรคชาติไทยพัฒนา 10 เสียง พรรคประชาชาติ 9 เสียง พรรคชาติพัฒนากล้า 2 เสียง พรรคเพื่อไทยรวมพลัง 2 เสียง และพรรคเสรีรวมไทย 1 เสียง
ฉากหน้าที่พรรคเพื่อไทย ส่งเทียบเชิญให้ขั้ว 188 เสียง ไปหารือใช้เวลาเพียงน้อยนิดในการอธิบายปมข้อติดขัดในการโหวตให้ขั้ว 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล แต่ใช้เวลาส่วนใหญ่ในการพูดคุยเรื่องราวในอดีต มีการเคลียร์ใจกันพอสมควร ก่อนที่จะมาแถลงข่าวร่วมกัน
สำหรับการจัดสรรเก้าอี้รัฐมนตรี ยังไม่มีการพูดคุยในวงหารือ แต่มีกระแสข่าวว่า “บิ๊กเนม” หลังฉากจัดสรรปันส่วนกันเกือบเสร็จร้อยเปอร์เซ็นต์แล้ว รอเพียงแค่โหวตชื่อนายกฯของเพื่อไทย ให้ผ่านในที่ประชุมร่วมรัฐสภา ทุกอย่างจะขับเคลื่อนได้ทันที
ถึงเวลาที่ “เพื่อไทย” ผนึกกำลังกับ “ขั้วอนุรักษนิยม” บีบ “ก้าวไกล” ให้ถอยไปเป็นฝ่ายค้าน สานฝัน “นายใหญ่” กลับประเทศไทยอย่างปลอดภัย ไม่ต้องกังวลว่าจะมี “มือมืด-มือที่มองไม่เห็น” มาหลอก มาลวง อีกต่อไป
ด้าน “พิธา” ประกาศชัดเจนไม่ยอมลงจากเรือ จะขอพ่วงกับพรรคเพื่อไทยต่อไป หวังอยู่ร่วมขั้วจัดตั้งรัฐบาลต่อ ส่งสัญญาณสู้ไม่ยอมถอยไปเป็น “ฝ่ายค้าน” ง่ายๆ เดินเกมปลุกขวัญมวลชนให้เกิดความฮึกเหิม
อย่างไรก็ตาม “พิธา” ขอรอผลการหารือ-หาเสียงของพรรคเพื่อไทย ที่จะมาเติม 312 เสียง ให้ขั้ว 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล ได้จัดตั้งรัฐบาลในฝัน จะมีโอกาสมากน้อยเพียงใด โดยนัดหมายประชุม 8 พรรคในวันที่ 26 ก.ค.
ดังนั้นช็อตต่อไปของ “พิธา-ก้าวไกล” น่าจับตามอง เพราะหากพรรคเพื่อไทย เดินเกมเขี่ยทิ้ง อาจจะมีปฏิกิริยาตอบโต้ ดิสเครดิต “เพื่อไทย-ขั้ว 188 เสียง” ทันทีเช่นกัน