‘ก้าวไกล’ ขึงเกม ยื้อโหวตนายกฯ ลุ้นศาลรีเซต โอกาส ‘พิธา’
"...การเดินหมากของ ‘ก้าวไกล’ หลังจากนี้ อาจมิใช่ในฐานะ ‘มิตร’ อีกต่อไปแล้ว แต่เป็นการ ‘เอาคืน’ บางพรรคที่ต้องการผลักไส ‘ก้าวไกล’ ในฐานะพรรคชนะการเลือกตั้งอันดับ 1 ไปเป็น ‘ฝ่ายค้าน’ นั่นเอง..."
เกมชิงเก้าอี้นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 มีแววว่าจะถูกทอดออกไปเรื่อย ๆ
หลังจากเมื่อ 19 ก.ค. 2566 ที่ประชุมร่วมรัฐสภา มีมติเสียงข้างมาก 395 เสียง เห็นว่าไม่สามารถเสนอชื่อ ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เพื่อโหวตนายกฯได้ เนื่องจากเห็นว่าเป็นการยื่น ‘ญัตติ’ ซ้ำ ขัดกับข้อบังคับประชุมรัฐสภา ข้อที่ 41
ส่งผลให้ ‘บวรศักดิ์ อุวรรณโณ’ อดีตประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กมธ.ร่างรัฐธรรมนูญ) ปี 2558 ถึงกับโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ชี้ช่องว่า ควรยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อตีความประเด็นนี้ เพราะเห็นว่า การเสนอชื่อบุคคลเพื่อโหวตนายกฯ เป็นวาระตามรัฐธรรมนูญ มิใช่ญัตติในสภา และข้อบังคับที่ประชุมรัฐสภา ไม่สามารถใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญได้
ท่ามกลางการเดินเกมโดดเดี่ยว ‘ก้าวไกล’ หลังจากยอมถอยเปิดทางให้พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ ได้ส่งเทียบเชิญ 4 พรรคขั้วเดิม ได้แก่ พรรคภูมิใจไทย พรรคพลังประชารัฐ พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนากล้า มาหารือ ฉากหน้าอ้างหารือแก้ไขทางออกวิกฤติของประเทศ แต่หลังฉากรู้กันอยู่แล้วว่า เป็นขันหมากสู่ขอเพื่อฟอร์มทีมตั้งรัฐบาล
แม้ว่า ‘ก้าวไกล’ จะพยายามใช้คะแนน ‘ความน่าสงสาร’ เดินกลเกมผ่านโลกออนไลน์ กับกลยุทธ์ ‘ด้านกว่า’ ขอเกาะเกี่ยวโดยอ้าง MOU 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล เห็นได้จากท่าทีของบรรดาแกนนำพรรคส้ม
เช่น ‘พิธา’ ปราศรัยบนเวทีชายหาดจอมเทียน จ.ชลบุรี ตอนหนึ่งเปรียบ 8 พรรคร่วมเสมือนเรือ หากรั่ว ต้องช่วยกันซ่อม ไม่ใช่ถีบเพื่อนลงน้ำ เป็นต้น
ดังนั้น ‘โพรง’ ที่ ‘บวรศักดิ์’ ชี้ช่องจึงเป็นหนทางเดียวที่ ‘ก้าวไกล’ จะสามารถ ‘ยื้อ’ เกมถูกผลักเป็นฝ่ายค้านได้ ส่งผลให้ ปัญญารัตน์ นันทภูษิตานนท์ ส.ส.นนทบุรี หอบรายชื่อ ส.ส.ก้าวไกล อย่างน้อย 16 คน ยื่นเรื่องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ให้ส่งเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยว่า มติที่ประชุมร่วมรัฐสภาที่ไม่เห็นชอบให้เสนอชื่อ ‘พิธา’ ชิงนายกฯ รอบ 2 ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่
เช่นเดียวกับ 2 นักวิชาการ พรชัย เทพปัญญา นักวิชาการอิสระ และบุญส่ง ชเลธร อาจารย์คณะนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 เข้าชื่อต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดในประเด็นเดียวกัน
ล่าสุด 24 ก.ค. ผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นว่าประเด็นดังกล่าวเป็นเรื่องเร่งด่วน และควรพิจารณาให้เสร็จสิ้น เพราะยังมีประเด็นข้อสงสัย จึงมีมติ 2 ประการ
1.ยื่นเรื่องแก่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า มติที่ประชุมร่วมรัฐสภา เมื่อ 19 ก.ค.ที่ไม่เห็นชอบให้มีการเสนอชื่อ ‘พิธา’ เป็นนายกฯรอบ 2 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่
2.ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อกำหนดมาตรการ และวิธีการชั่วคราว ชะลอให้ความเห็นชอบนายกฯ ไว้เป็นการชั่วคราวก่อน ซึ่งจากการพิจารณาดังกล่าว ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หากปล่อยให้คัดเลือกเห็นชอบ บุคคลที่ดำรงตำแหน่งนายกฯ หากดำเนินการต่อไปก่อนมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ อาจก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรง ยากต่อการเยียวยา
เรื่องนี้น่าสนใจ เพราะโดยปกติ ศาลรัฐธรรมนูญจะมีการประชุมประจำสัปดาห์ในวันพุธ โดยสัปดาห์นี้ตรงกับวันที่ 26 ก.ค. ก่อนวันโหวตนายกฯรอบ 3 เพียง 1 วัน ดังนั้นต้องจับตาดูว่า ศาลรัฐธรรมนูญ จะรับคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดินไว้พิจารณาเลยหรือไม่
ขั้นตอนต่อไป มีโอกาสออกได้ 3 หน้าคือ
1.ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้อง
2.ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้อง แต่ไม่มีคำสั่งให้ชะลอการโหวตนายกฯ
3.ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้อง และมีคำสั่งให้มีมาตรการชะลอการโหวตนายกฯ เอาไว้ก่อน
อย่างไรก็ดี แนวโน้มที่หวยจะออกว่า ‘ไม่รับคำร้อง’ เป็นไปได้ยาก เพราะประเด็นนี้เป็นการตีความข้อกฎหมายเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญโดยตรง ดังนั้นโอกาสน่าจะมีแค่ รับคำร้อง แต่ไม่มีคำสั่งใด ๆ กับรับคำร้อง และมีคำสั่งให้ออกมาตรการชะลอการโหวตนายกฯ
การเดินเกมของ ‘พลพรรคสีส้ม’ เช่นนี้ ย่อมวัดใจบรรดา สส. และ สว.ในวันประชุมร่วมรัฐสภา 27 ก.ค.ที่จะนัดโหวตนายกฯรอบ 3 ว่าจะกล้าลงมติเลย หรือจะยอมเลื่อนการโหวตนายกฯออกไปก่อน จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย
ที่แน่ ๆ การเดินหมากของ ‘ก้าวไกล’ หลังจากนี้ อาจมิใช่ในฐานะ ‘มิตร’ อีกต่อไปแล้ว แต่เป็นการ ‘เอาคืน’ บางพรรคที่ต้องการผลักไส ‘ก้าวไกล’ ในฐานะพรรคชนะการเลือกตั้งอันดับ 1 ไปเป็น ‘ฝ่ายค้าน’ นั่นเอง