"แยม ฐปนีย์- จตุรงค์" ให้ปากคำตำรวจ ปม คลิปประชุมผู้ถือหุ้นITV
"แยม ฐปนีย์- จตุรงค์" อดีตผู้สื่อข่าวไอทีวี นำคลิปประชุมผู้ถือหุ้น เข้าให้ปากคำ ตำรวจทุ่งสองห้อง ตามหมายเรียก ยืนยัน การนำเสนอ เป็นไปตามหน้าที่สื่อมวลชน ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง ยอมรับ อยากกลับไปทำหน้าที่เดิม
25 กรกฎาคม 2566 เวลา 11.00 น. น.ส.ฐปณีย์ เอียดศรีไชย หรือ “แยม ฐปณีย์” พร้อม นายจตุรงค์ สุขเอียด อดีตคนข่าวไอทีวี นำหลักฐานคลิปวิดีโอ เดินทางมาที่ สน.ทุ่งสองห้อง เพื่อเข้า พ.ต.ต.อนุชิต ชาติชูเหลี่ยม สว.(สอบสวน) ตามหมายเรียกในฐานะพยาน กรณีเปิดเผยคลิปบันทึกการประชุมผู้ถือหุ้นITV ซึ่งขัดแย้งกรณี กกต.ยื่นคำร้องขอศาลรัฐธรรมนูญ สั่งนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลและแคนดิเดตนายกรีฐมนตรี ให้พ้นสภาพ ส.ส.เนื่องจากถือหุ้นดังกล่าว
น.ส.ฐปณีย์ กล่าวถึงการเข้าพบพนักงานสอบสวน ครั้งนี้ เป็นไปตามหมายเนียก ที่ทนายรัชพล ศิริสาคร เคยแจ้งความเอาผิดประธานการประชุมผู้ถือหุ้นไอทีวีและนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ในข้อหาแจ้งความเท็จและปลอมแปลงเอกสาร พร้อมนำคลิปที่รายการข่าว 3 มิติ นำเสนอ เรื่อง การประชุมผู้ถือหุ้นไม่ตรงกับเอกสารรายงานการประชุม พนักงานสอบสวน จึงออกหมายเรียก ซึ่งคาดว่า จะสอบถามประเด็นการรายงานข่าวและข้อมูลในคลิปรายงานการประชุม ซึ่งได้จากแหล่งข่าว มีความยาวเพียง 3 นาทีจากการประชุมทั้งหมดร่วมหลายชั่วโมง ส่วนข้อมูลที่เหลือเป็นหน้าที่ของผู้เกี่ยวข้องที่จะสืบค้นมาตรวจสอบเพิ่มเติม
น.ส.ฐปณีย์ กล่าวอีกว่า คลิปมีเนื้อหาเป็นไปตามที่ได้รายงานข่าวไว้ ซึ่งเราได้ตรวจสอบแหล่งที่มาก่อนแล้ว รวมถึงรักษาความปลอดภัยของแหล่งข่าวที่นำข้อมูลมาให้ ยืนยันว่าไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องทางการเมือง เพียงแต่ทำตามหน้าที่ของสื่อ ส่วนตัวก็มีความฝันว่าหากไอทีวีจะกลับมาดำเนินกิจการอีกครั้ง ก็อยากให้กลับมาอย่างที่เคยเป็นและเคยทำงาน ไม่อยากให้ตกเป็นเครื่องมือทางการเมือง
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่มีอะไรมากระทบกับตัวเอง แต่มั่นใจว่าอะไรที่นำเสนอด้วยความรอบคอบถูกต้อง หากจะเกิดอะไรขึ้นก็พร้อมที่จะได้รับการตรวจสอบกลับเช่นกัน
นายจตุรงค์ กล่าวว่า ตนเป็นอดีตประธานสหภาพแรงงานไอทีวี มีส่วนได้ส่วนเสียไอทีวีโดยตรง เมื่อทราบข่าวจึงต้องการทราบถึงข้อเท็จจริง โดย น.ส.ฐปณีย์ ได้ค้นหาที่ตั้งของบริษัทไอทีวีเพื่อสอบถามกับทีมผู้บริหารถึงสภาพความเป็นสื่อของไอทีวี และได้พบกับผู้บริหาร แต่ไม่มีใครที่สามารถให้ข้อมูลได้ ทั้งนี้ มีผู้ที่ให้ข้อมูลการประชุมว่า ข้อเท็จจริงไม่ตรงกับข้อมูลที่ถูกเผยแพร่อย่างไร
นอกจากนี้ ยังพบการทำบัญชีบางส่วนที่ปรากฎ “ว่าจ้างทำสื่อ” ภายหลังไม่ได้ดำเนินกิจการมาแล้ว ดังนั้น เจ้าหน้าที่ต้องสืบค้นต่อว่า ใครเป็นผู้ว่าจ้าง ขณะที่คนส่วนใหญ่ก็ทราบดีว่า พนักงานไอทีวีนับพันถูกเลิกจ้าง พร้อมได้รับเงินชดเชยจากภาครัฐแล้ว ซึ่งนับแต่ถูกเลิกจ้างก็ไม่เคยดำเนินกิจการสื่อเลย เราก็ร่วมต่อสู้จนถึงวันที่ไอทีวีถูกปิด จึงต้องการจะเป็นตัวแทนที่จะหาคำตอบ หากทุกวันนี้ไอทีวียังเป็นสื่อจริงก็ปฏิเสธไม่ได้ แต่ปัจจุบันศาลปกครองสูงสุดยังคงพิจารณาการตัดสินว่า ไอทีวียังคงดำเนินกิจการหรือไม่