แก้เอ็มโอยู ปลดชื่อ ‘พิธา’ เติมพรรคที่ 9 สลัดก้าวไกล?

แก้เอ็มโอยู ปลดชื่อ ‘พิธา’  เติมพรรคที่ 9 สลัดก้าวไกล?

เอกภาพ 8 พรรค ที่ไม่ได้เหนี่ยวรั้งก้าวไกล ดังนั้น การขยับเกมแก้ไขเอ็มโอยูของเพื่อไทย จึงเป็นสัญญาณพร้อมสลัด"ก้าวไกล"อย่างชัดเจน 

เกมโหวตนายกฯ รอบ3 ยื้อออกไปอีกอย่างน้อย 1 สัปดาห์ ภายหลัง “วันนอร์” วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ขอเลื่อนนัดหมายการประชุมออกไปโดยไม่มีกำหนด

โดยอ้างเหตุ “ผู้ตรวจการแผ่นดิน” ส่งคำร้องให้ “ศาลรัฐธรรมนูญ” วินิจฉัยข้อบังคับการประชุมรัฐสภาข้อที่ 41 ซึ่งขั้วตรงข้ามสกัดไม่ให้ชื่อ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล เข้าสู่การโหวตนายกรัฐมนตรีรอบ 2 ทำให้พรรคเพื่อไทย พอมีเวลาเช็ตเกมการเมืองใหม่ ไม่ต้องเร่งรีบปิดจ๊อบตามกำหนดวันโหวต 27 ก.ค.

มีกระแสข่าวว่า “นายใหญ่” ซึ่งพำนักอยู่ที่เกาะฮ่องกง เป็นคนกดปุ่มสั่งการให้พรรคเพื่อไทย เลื่อนการประชุม 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลไปก่อน อ้างเหตุผลไม่มีความคืบหน้าในการหาเสียงโหวตเพิ่มเติมให้ “ขั้ว 312 เสียง”

ทั้งที่ก่อนหน้านี้ “ชลน่าน ศรีแก้ว” หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ส่งสัญญาณชัดเจนว่า การประชุม 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล จะนำเสนอเงื่อนไขของ 5 พรรคการเมือง ประกอบด้วย ภูมิใจไทย พลังประชารัฐ รวมไทยสร้างชาติ ชาติไทยพัฒนา และชาติพัฒนากล้า รวมถึง สว. ซึ่งมีเงื่อนไขตรงกันว่า จะไม่โหวตให้พรรคก้าวไกล และไม่ร่วมงานกับพรรคที่มีนโยบายแก้ ม.112

เมื่อ “นายใหญ่” ส่งสัญญาณ “ลูกพรรค” จึงต้องเลื่อนประชุม 8 พรรค เซ็ตเกมให้เข้าทาง “วันนอร์” มีเหตุให้ต้องยกเลิกการประชุมวิป 3 ฝ่าย และเลื่อนการประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อโหวตนายกรัฐมนตรี

ก่อนหน้านี้ “ทักษิณ-เพื่อไทย” เร่งเกมนัดคุย 5 พรรค เร่งเกมประชุม 8 พรรค เพื่อให้ทันโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี แต่เมื่อเกมเร่งก็โดนกระแสต่อต้านจากกรณีที่ “กลุ่มทะลุวัง” บุกสาดแป้งที่ทำการพรรคเพื่อไทย แถมยังมีแรงบวกจาก “ม็อบบก.ลายจุด” จัดชุมนุมแยกอโศก ทำให้ “ทักษิณ-เพื่อไทย” ขอใส่เกียร์ถอยก่อนเชื้อม็อบจะจุดติด

เกมของพรรคเพื่อไทย ให้โฟกัสไปที่การแก้ไขบันทึกข้อตกลง หรือ เอ็มโอยู ที่พรรคก้าวไกลจับมืออีก 7 พรรคร่วมกันร่างไว้ เมื่อสถานการณ์เปลี่ยน เพื่อไทยพลิกมาอยู่ในฐานะแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ก็จำเป็นที่ต้องมีการแก้ไขรายละเอียด โดยเฉพาะทิศทางนโยบายรัฐบาล

“ประเสริฐ จันทรรวงทอง” เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ยอมรับว่า ต้องปรับเอ็มโอยูในการร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เพราะในข้อ 1 ของเอ็มโอยูยังระบุว่าสนับสนุน นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งขณะนี้โอกาสเป็นไปไม่ได้แล้ว

จับตาภาย 1-2 วันนี้ เพื่อไทยเตรียมนัด 8 พรรคหารือ เพื่อแก้ไขเนื้อหาเอ็มโอยูฉบับ 2 ซึ่งเพื่อไทยจะมีเงื่อนไขเพิ่มเติม โดยเฉพาะการติดต่อพรรคการเมืองอื่นให้เข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาล เนื่องจากเสียงของขั้ว 312 ยังไม่พอที่จะโหวตผ่านนายกฯ และยากเหลือเกินที่จะเติมเสียงได้เกิน 375

นอกจากนี้ อาจมีการหารือกันระหว่าง “เพื่อไทย” กับ “ก้าวไกล” เพื่อร่วมกันสรุปเงื่อนไข ม.112 ที่เป็นประเด็นปัญหา ทำให้ สส.-สว. ใช้กล่าวอ้างไม่โหวตให้ “พิธา-ก้าวไกล” ซึ่งต้องวัดใจพรรคก้าวไกล จะแก้เกมกลับอย่างไร

ขณะเดียวกัน “ประเสริฐ” ยืนยันว่า “การดำเนินการของพรรคเพื่อไทย ทำตามมติของ 8 พรรคร่วม ไม่มีการตกลงที่จะขอเข้าร่วมรัฐบาล ไม่มีการต่อรองตำแหน่งเก้าอี้รัฐมนตรี เพียงแต่เป็นการประเมินสถานการณ์ทางการเมืองร่วมกัน”

“พรรคเพื่อไทยไม่ได้ยืมมือเพื่อนผลักก้าวไกล เพราะพรรคร่วม 8 ก็ยังมีการพูดและทำงานรวมกันอยู่ ขณะที่การพูดคุยกับพรรคขั้วรัฐบาลเดิมนั้น พรรคเพื่อไทยได้ประกาศต่อสาธารณะทุกครั้ง ถือว่ารับรู้แล้ว”

ทว่าคำกล่าวอ้างของ พ่อบ้านเพื่อไทย ไม่ได้ทำให้ความหวาดระแวงของ “ก้าวไกล-ด้อมส้ม” ลดน้อยถอยลง เพราะต่างฝ่ายต่างระแวงเกมหลังฉากที่พยายามขับเคลื่อนกันอยู่

ท่าทีของ “พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส” หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ส่งสัญญาณให้พรรคก้าวไกลเสียสละ เปิดทางให้พรรคเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาล โดยมีอิสระในการเจรจากับ สส.-สว.

จังหวะเคลื่อนของ “เชาวฤทธิ์ ขจรพงศ์กีรติ” หัวหน้าพรรคพลังสังคมใหม่ สนับสนุนให้พรรคเพื่อไทยแก้ไขเอ็มโอยู พร้อมทั้งเปิดทางให้เจรจาพรรคการเมืองอื่นเพิ่มเติม

เอกภาพ 8 พรรค ที่ไม่ได้เหนี่ยวรั้งก้าวไกล ดังนั้น การขยับเกมแก้ไขเอ็มโอยูของเพื่อไทย จึงเป็นสัญญาณพร้อมสลัด"ก้าวไกล"อย่างชัดเจน