"ผู้ตรวจการแผ่นดิน" ชี้มติรัฐสภาตีตก "พิธา" ขัดรธน.ม.3-กระทบสิทธิปชช.
"เลขาธิการผู้ตรวจการแผ่นดิน" แจงรายละเอียด มีอำนาจส่งศาลรธน. ตีความมติของรัฐสภา 19ก.ค. ชี้มติรัฐสภาขัดรธน.ม.3 ขวางกระบวนการเลือกนายกฯตามรธน.-กระทบสิทธิปชช.-สมาชิกรัฐสภา
พ.ต.ท. กีรป กฤตธีรานนท์ เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ชี้แจงถึงกรณีการส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ให้วินิจฉัยการกระทำของรัฐสภา เมื่อ 19 กรกฏาคม นั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ และขอให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งรัฐสภาหยุดการโหวตนายกฯ ไปจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัย ซึ่งถูก สว. วิจารณ์ว่าไม่ใช่หน้าที่และอำนาจของผู้ตรวจการแผ่นดิน
โดยคำชี้แจงดังกล่าวมีรายละเอียด ดังนี้ ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 และกฎหมายประกอบกำหนดให้ผู้ตรวจการแผ่นดินวินิจฉัยและเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ กรณีที่บุคคลถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญคุ้มครอง จากการกระทำของหน่วยงานของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือหน่วยงานซึ่งใช้อำนาจรัฐ ซึ่งการละเมิดนั้นเป็นผลจากบทบัญญัติแห่งกฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ
สำหรับกรณีของสมาชิกรัฐสภาและประชาชนยื่นเรื่องขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 213 ว่ามติของรัฐสภาเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2566 ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของผู้ร้องเรียน นอกจากนี้ในคำร้องเรียนได้มีคำขอให้ศาลรัฐธรรมนูญกำหนดมาตรการชั่วคราว โดยขอให้มีคำสั่งชะลอการให้ความเห็นชอบบุคคลเพื่อแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีไว้ก่อน จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีการวินิจฉัย
ทั้งนี้ ผู้ตรวจการแผ่นดินได้ประชุมร่วมกันเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2566 วินิจฉัยว่าคำร้องดังกล่าว เข้าองค์ประกอบ เงื่อนไข และหลักเกณฑ์ ในการเสนอคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ คือ ผู้ร้องเรียนเป็นบุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพโดยตรง และได้รับหรืออาจจะได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย และมีการกระทำที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพที่เกิดจากหน่วยงานของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือหน่วยงานที่ใช้อำนาจรัฐ
"กรณีดังกล่าวเป็นการร้องเรียนการกระทำของรัฐสภา ที่ได้มติตีความว่า การเสนอชื่อบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีให้รัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบในรอบที่2 เป็นญัตติทั่วไป ต้องห้ามนำเสนอญัตติซ้ำอีก นั้น เป็นมติที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ เมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่า รัฐสภาถือเป็น หน่วยงานซึ่งใช้อำนาจรัฐ หากการกระทำของรัฐสภาละเมิดสิทธิเสรีภาพ ย่อมถูกตรวจสอบได้โดยศาลรัฐธรรมนูญ"
"มติตีความของรัฐสภาที่เกิดขึ้น มีผลเป็นการนำข้อบังคับการประชุมทำให้กระบวนการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรคสอง ดังนั้นเมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงคำร้องเรียน ประกอบกับหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญพ.ศ. 2561 จึงเห็นว่าเข้าองค์ประกอบและหลักเกณฑ์ที่ผู้ตรวจการแผ่นดินจะเสนอคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเพื่อให้เป็นที่ยุติ"
คำชี้แจงของ พ.ต.ท. กีรป ระบุด้วยว่า ผู้ร้องเรียนส่วนหนึ่งเป็นประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง และได้ใช้สิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง เป็นการแสดงเจตจำนงที่จะได้บุคคลตามบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองไปดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หากมติตีความดังกล่าวของรัฐสภาขัดต่อรัฐธรรมนูญ ย่อมก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อสิทธิประชาชน และผลของการกระทำที่เป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของรัฐสภายังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง จึงกระทบต่อความมั่นคงแห่งสิทธิเสรีภาพของผู้ร้องเรียนรวมถึงประชาชนทั่วไป และอาจสร้างแนวบรรทัดฐานที่ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญได้ หากไม่มีการยุติการเลือกนายกรัฐมนตรีไว้ก่อน ย่อมเล็งเห็นได้ว่าจะก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงที่ยากแก่การแก้ไขเยียวยาต่อสิทธิของผู้ร้องเรียน
"ในผู้ร้องเรียนซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยมีสิทธิและหน้าที่โดยตรงในการเห็นชอบแต่งตั้งบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรี หากมติตีความของรัฐสภาข้างต้นขัดต่อรัฐธรรมนูญย่อมก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อสิทธิและหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญของผู้ร้องเรียน ทำให้ผู้ร้องเรียนลงคะแนนเห็นชอบบุคคลตามบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้เพียงครั้งเดียวในสมัยประชุมเดียวกัน และผลของการกระทำที่เป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพ ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง หากรัฐสภาลงมติให้ความเห็นชอบบุคคลใดเป็นนายกรัฐมนตรีก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย แต่ต่อมาภายหลังแม้ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยว่าการกระทำของรัฐสภาขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ แต่ผู้ร้องเรียนก็ไม่อาจจะใช้สิทธิลงคะแนนเลือกบุคคลที่ได้เคยเสนอชื่อต่อรัฐสภาได้อีกต่อไป ดังนั้น จะก่อให้เกิดความเสียหายเช่นเดียวกัน"
เมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่ามีเหตุอันมีน้ำหนักรับฟังได้ มีเหตุผลสนับสนุนเพียงพอ และเป็นคำขอ ที่อยู่ในหลักเกณฑ์และเงื่อนไข และเห็นพ้องกับคำร้องเรียนที่จะขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณามีคำสั่งให้รัฐสภาชะลอการดำเนินการเกี่ยวกับการเสนอชื่อบุคคลให้รัฐสภาเห็นชอบเพื่อแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีไว้ก่อนจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญมีข้อวินิจฉัยในเรื่องนี้ออกมา ซึ่งก็เป็นดุลยพินิจของศาลรัฐธรรมนูญที่จะพิจารณาตามความเหมาะสมกับข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ต่อไป.