ย้อนเส้นทางการเมือง สาเหตุ 'บิ๊กป้อม' พล.อ.ประวิตร หัวหน้า พปชร.ลาออก

ย้อนเส้นทางการเมือง สาเหตุ 'บิ๊กป้อม' พล.อ.ประวิตร หัวหน้า พปชร.ลาออก

ย้อนเส้นทางการเมือง ตำแหน่งหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐของ 'บิ๊กป้อม' พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ซึ่งล่าสุดวันนี้ ได้เขียนจดหมายแจ้งที่ประชุมขอลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค ก่อนที่ประชุมเสนอชื่อใหม่อีกครั้ง

ย้อนเส้นทางการเมือง ตำแหน่งหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ของ 'บิ๊กป้อม' พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ซึ่งล่าสุดวันนี้ (29 ก.ค.2566) ได้เขียนจดหมายแจ้งที่ประชุมขอลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคแล้ว ก่อนที่ประชุมพรรคเสนอชื่อใหม่อีกครั้ง

ประวัติ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี 

ด้านการศึกษา 

  • พ.ศ. 2540 วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร รุ่นที่ 40
  • พ.ศ. 2521 หลักสูตรหลักประจำ ชุดที่ 56 โรงเรียนเสนาธิการทหารบก
  • พ.ศ. 2512 โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่นที่ 17
  • พ.ศ. 2508 โรงเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 6
  • พ.ศ. 2505 โรงเรียนเซนต์คาเบรียล

ประสบการณ์การทำงาน 

  • พ.ศ. 2557 รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
  • พ.ศ. 2551 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
  • พ.ศ. 2547 ผู้บัญชาการทหารบก
  • พ.ศ. 2546 ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก
  • พ.ศ. 2545 แม่ทัพภาคที่ 1
  • พ.ศ. 2544 ผู้ช่วยเสนาธิการทหารบก ฝ่ายยุทธการ
  • พ.ศ. 2541 แม่ทัพน้อยที่ 1
  • พ.ศ. 2539 ผู้บัญชาการกรมทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ฯ
  • พ.ศ. 2532 ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 12 รักษาพระองค์ฯ

เส้นทางสู่พรรคพลังประชารัฐ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

ในวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ.2563 พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ได้จัดการประชุมใหญ่สามัญประจำปี โดยครั้งนั้นมีการแต่งตั้งกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ได้รับการเลือกเป็นหัวหน้าพรรค

ต่อมาปลายปี พ.ศ. 2565 เกิดความขัดแย้งระหว่าง พล.อ.ประวิตร และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในพรรคพลังประชารัฐ ไม่นานหลังจากนั้นพรรคมีการปรับภาพลักษณ์ของ พล.อ.ประวิตร ให้เป็นนายทหารประชาธิปไตย เข้าถึงได้กับทุกกลุ่ม

จากนั้นเดือนมกราคม 2566 พลเอกประยุทธ์ ได้สมัครเป็นสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติ ขณะเดียวกัน พลเอกประวิตร กล่าวว่าพร้อมจะเป็นนายกรัฐมนตรี และระบุว่าตนยังมีความสัมพันธ์อันดีกับพลเอกประยุทธ์และพลเอกอนุพงษ์ในฐานะพี่น้อง แม้จะมีความเห็นทางการเมืองที่ต่างกันก็ตาม

เดือนมีนาคม พ.ศ. 2566 พลเอกประวิตร ได้พบกับภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือมายด์ หนึ่งในแกนนำกลุ่มราษฎร เขากล่าวกับเธอว่าจะไม่มีรัฐประหารเกิดขึ้นอีก เดือนถัดมาเขาสมัครเป็น สส. ระบบบัญชีรายชื่อลำดับที่หนึ่ง และเป็นบุคคลที่ได้รับเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีไทยเพียงคนเดียวของพรรคพลังประชารัฐ

ในการเลือกตั้งเดือนพฤษภาคม 2566 เมื่อวันที่ 14 พ.ค.2566 ที่ผ่านมา เขาได้รับเลือกเป็น สส. สมัยแรก และเป็น สส. แบบบัญชีรายชื่อคนเดียวของพรรค พปชร.

ส่วนในการโหวตนายกฯ รอบแรกเมื่อวันที่ 13 ก.ค.2566 ที่ผ่านมา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เข้าร่วมประชุมสภาฯ ในฐานะ สส. แบบบัญชีรายชื่อคนเดียวของพรรค พปชร. ซึ่ง บิ๊กป้อม ลงมติ "ไม่เห็นชอบ" ให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของไทย 

ล่าสุด วันนี้ (29 ก.ค.2566) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ได้เขียนจดหมายแจ้งที่ประชุมขอลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ซึ่งการลาออกของ บิ๊กป้อม ส่งผลให้คณะกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ ทั้งหมด 16 คน ต้องพ้นจากวาระทันทีด้วย

อย่างไรก็ตาม ในการประชุมวาระการเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ พรรคพลังประชารัฐ ปรากฏว่า นายอรรถกร ศิริลัทธยากร สส.ฉะเชิงเทรา ได้เสนอชื่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ โดยที่มีการเสนอชื่อเพียงชื่อเดียวเท่านั้นโดยไม่มีใครเสนอชื่ออื่นแข่งขัน

ส่วนตำแหน่งเลขาธิการพรรคได้มีการเสนอชื่อ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า สส.พะเยา ให้ดำรงตำแหน่งเพียงชื่อเดียวเช่นกัน ขณะที่นายสันติ พร้อมพัฒน์ ได้ขยับขึ้นไปเป็นรองหัวหน้าพรรค

ด้าน วาสนา นาน่วม ผู้สื่อข่าวสายทหาร ได้โพสต์เฟซบุ๊กประเด็น "พล.อ.ประวิตร ลาออก" โดยระบุว่า "ลาออก ตามธรรมเนียม!! “บิ๊กป้อม” เผย ลาออกหัวหน้าพรรค พปชร. เปิดทางเลือกกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ที่จะมีการประชุมกันวันนี้ แต่จะได้กลับมาเป็นหัวหน้าพรรค อีกหรือไม่ขึ้นอยู่กับสมาชิกพรรคจะเลือกเข้ามา แต่ก็พร้อมทำงานให้พรรคต่อไป

ส่วนการร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทยที่มีเงื่อนไขไม่มี 2 ลุงนั้น บิ๊กป้อม บอกไม่รู้ๆรอดูเองแล้วกัน"

 

 

ข้อมูลอ้างอิงจาก

พรรคพลังประชารัฐ

wikipedia

Wassana Nanuam