"มานิตย์" ชี้ "ศาลรธน." รับคำร้องผู้ตรวจฯ การเมืองอันตราย แนะรัฐสภาถอนมติ
"นักนิติศาสตร์ จุฬาฯ" ประเมิน ศาลรธน. ออกได้2แนว ปมคำร้องผู้ตรวจฯ ชี้หากรับและสั่งหยุดเลือกนายกฯ ระวังอันตราย แนะ "รัฐสภา" ลงมติเพิกถอนมติตัวเอง 19ก.ค.
นายมานิตย์ จุมปา นักวิชาการคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ The Key ไขการเมืองเรื่องใกล้ตัว ของสถาบันพระปกเกล้า เรื่อง ปลดล็อกกลเกมการเมืองอย่างไรให้เดินหน้าต่อ ต่อประเด็นที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน ยื่นเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยการประชุมรัฐสภา เมื่อ 19 กรกฏาคม ที่มีมติห้ามเสนอชื่อบุคคลให้โหวตเป็นนายกฯ ซ้ำรอบ2 นั้นขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยเชื่อว่าในสัปดาห์หน้าศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาว่าจะรับหรือไม่รับคำร้องดังกล่าว ทั้งนี้ในกรณีดังกล่าวไม่ใช่กรณีวินิจฉัยว่าข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อ41 ขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะเนื้อหาของข้อบังคับนั้นไม่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกติกาสูงสุดที่ไม่ม่สิ่งใดใหญ่กว่านั้น แต่ปัญหาของเรื่องดังกล่าว คือ การใช้ข้อบังคับ ข้อ 41 ของสมาชิกรัฐสภา และมติของรัฐสภาที่ห้ามเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ ซ้ำรอบสอง โดยไม่ดูเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกนายกฯ ที่ไม่ถูกกำหนดว่าห้ามเสนอชื่อซ้ำ
นายมานิตย์ กล่าวด้วยว่า ดังนั้นประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณา ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ประกอบกับวิธีพิจารณาความของศาลรัฐธรรมนูญคือ การลงมติของรัฐสภา ที่ห้ามเสนอชื่อซ้ำนั้นนั้น ละเมิดสิทธิ เสรีภาพของบุคคลหรือไม่ และเป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่
นายมานิตย์ กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาเรื่องนี้ศาลรัฐธรรมนูญไม่เคยมีแนวบรรทัดฐาน หรือคำวินจิฉัยเอาไว้ ในกรณีที่ผู้เสนอคำร้อง ฐานะบุคคลนั้นถูกละเมิดสิทธิ เสรีภาพ จากรัฐโดยตรงหรือไม่ ดังนั้นในแนวทางวินิจฉัยจะออกมา ได้ 2 แนว คือ
1.ไม่รับคำร้อง เพราะเห็นว่าผู้ยื่นคำร้องนั้นไม่ใช่บุคคลที่ถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพ หรือถูกกระทบโดยตรง ดังนั้นหากออกแนวนี้รัฐสภาสามารถดำเนินการเพื่อเลือกนายกฯคนใหม่ได้
และ 2.รับคำร้อง เพราะกระทบสิทธิของสมาชิกรัฐสภา ฐานะผู้เสนอชื่อนายกฯ ที่มติรัฐสภาระบุว่าเสนอได้ครั้งเดียว ทั้งนี้หากรับคำร้องแล้วมีสิทธิที่เป็นอันตรายคือ ตามวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ มาตรา 71 สามารถสั่งบางอย่างหากมีเหตุจำเป็นได้ ซึ่งคล้ายกับมาตรการคุ้มครองชั่วคราว เช่น ไม่ให้รัฐสภาลงมติเลือกนายกฯ จนกว่าศาลมีคำวินจิฉัย เพราะหากรัฐสภาเดินหน้าเลือกจนเรียบร้อย แต่ภายหลังมติศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่าขัดรัฐธรรมนูญ และเสนอชื่อซ้ำได้ จะเป็นปัญหาต่อการเลือกนายกฯ ได้
นายมานิตย์ กล่าวด้วยว่า หากสัปดาห์หน้าศาลรัฐธรรมนูญรับและสั่งให้รัฐสภาชะลอการเลือกนายกฯ วิธีการปลดล็อค คือ รัฐสภาต้องประชุมและทบทวนมติของตนเองเมื่อวันที่ 19 กรกฏาคม คือ ลงมติเพิกถอนมติของรัฐสภา ว่าด้วยห้ามเสนอชื่อซ้ำเพื่อให้ชื่อของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กลับมาเสนอต่อรัฐสภาได้อีกในครั้งถัดๆ ไป ทั้งนี้การกระทำดังกล่าวจะทำให้วัตถุแห่งตัดสินขาดประจักษ์แห่งศาล เพราะได้รับการเยียวยา โดยกรณีดังกล่าวเคยมีรัฐบาลทำมาแล้ว กรณีที่มีผู้ฟ้องต่อศาลแพ่งกรณีที่รัฐออกข้อกำหนดตามกฎหมายซึ่งมีผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพ ซึ่งศาลแพ่งรับไว้พิจารณาและสั่งคุ้มครองชั่วคราว ทำให้รัฐชิงยกเลิกไปก่อน จากนั้นศาลแพ่งจึงจำหน่ายคำร้อง
“หากศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องและสั่งให้หยุดกกระบวนการเสนอชื่อเพื่อเลือกนายกฯใหม่ รัฐสภาสามารถลงมติเพิกถอนมติของตนเองได้ และในการเลือกนายกฯ รอบต่อไป ชื่อนายพิธา จะสามารถเสนอกลับเข้ามาได้อีกรอบ ส่วนจะได้รับความเห็นชอบหรือไม่ สุดแท้แต่” นายมานิตย์ กล่าว
นายมานิตย์ กล่าวด้วยว่า ส่วนที่มีข้อเสนอให้รอการเลือกนายกฯ ไปอีก10 เดือนนั้น ตนมมองว่าไม่สามารถทำได้ เพราะเราไม่สามารถเว้นว่างจากการมีนายกฯ หรือคณะบริหารเพื่อมาดูแลประเทศได้.