ปิดฉากการเมือง‘3ส.ส.ภูมิใจไทย’ ส่อง‘คดีเสียบบัตร’ของแสลงผู้ทรงเกียรติ
ย้อน "คดีเสียบบัตรแทนกัน" ปมร้อน-ของแสลงส.ส.ผู้ทรงเกียรติ เปิดข้อกฎหมาย-จุดเสี่ยง ปิดฉากการเมือง"ตลอดชีวิต"
เมื่อวันที่31ก.ค. เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่คำพิพากษาฉบับเต็มของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเมื่อวันที่ 27 ก.ค. 2566 ในคดีที่อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ฟ้อง “3ส.ส.พรรคภูมิใจไทย” ได้แก่
ฉลอง เทอดวีระพงศ์ อดีตส.ส. พัทลุง เขต 2 พรรคภูมิใจไทย ภูมิศิษฏ์ คงมี อดีต ส.ส. พัทลุง เขต 1 พรรคภูมิใจไทย และนาที รัชกิจประการ อดีต ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย
ในความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต จากกรณีเสียบบัตรส.ส. แทนกันในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร วาระการลงมติเรียงตามรายมาตรา ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 เมื่อวันที่ 10-11 ม.ค.2563
คดีนี้ศาลฎีกาเเผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำเเหน่งทางการเมือง ไต่สวนพยานหลักฐานเเล้วเห็นว่า มีการกระผิดจึงพิพากษาจำคุก ส.ส. ภูมิใจไทย 3 รายจำคุกคนละ 1 ปี แต่ไต่สวนแล้วมีเหตุให้บรรเทาโทษจึงลดโทษ 1 ใน 4 คงจำคุกคนละ 9 เดือน โดยไม่รอลงอาญาเเละสั่งให้จำเลย “พ้นจากตำแหน่ง” ทางการเมือง พร้อมตัดสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้ง “ตลอดชีวิต”
ก่อนหน้านี้จำเลยทั้ง 3 ยื่นหลักทรัพย์พร้อมคำร้องขอปล่อยชั่วคราว ระหว่างชั้นวินิจฉัยอุทธรณ์ศาลพิจารณา โดยศาลอนุญาตปล่อยชั่วคราวตีราคาประกันคนละ1 ล้านบาท
ทั้งนี้ตาม มาตรา195 วรรคสี่ แห่งรัฐธรรมนูญ ระบุว่า "คําพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดอีาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง ให้อุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองมีคําพิพากษา"
ฉะนั้นหากนับตั้งแต่วันที่18พ.ค.ที่ศาลมีคำพิพากษา เท่ากับว่าขณะนี้ถือเป็นการปิดฉากการเมืองแบบถาวรของ“3ส.ส.ภูมิใจไทย”
ย้อนที่มาที่ไปของเรื่องนี้เกิดขึ้นหลัง "นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ" รองหัวหน้าพรรคและอดีต ส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์(เวลานั้น) ซึ่งเป็นคู่แข่งของ “ส.ส.ฉลอง” ในการเลือกตั้ง2562 มีการแถลงข่าวถึงข้อพิรุธการลงคะแนนให้ความเห็นชอบรายมาตราพ.ร.บ.งบประมาณฯ2563 ของส.ส.ภูมิใจไทย ในวันที่10ม.ค. 2563 ที่พบว่า “ฉลอง” มีการ
การลงมติมาตรา 40 ว่าด้วยงบประมาณสำหรับแผนงานบูรณาการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ
เช่นเดียวกับการลงมติเห็นชอบในวาระที่ 3 และข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญ แต่ ปรากฎภาพถ่ายยืนยัน “ฉลอง” ร่วมงานงานวันเด็กแห่งชาติในจ.พัทลุงในช่วงเวลาดังกล่าว เท่ากับ ช่วงเวลาดังกล่าวเจ้าตัวไม่ได้อยู่ในที่ประชุมแต่กลับปรากฎการลงคะแนน ซึ่งทำให้การลงมติร่างพ.ร.บ.งบประมาณ ตั้งแต่มาตรา 39 เป็นต้นไปย่อมไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เนื่องจากมีการเสียบบัตรแทนกัน
นอกเหนือจากกรณีของ “ฉลอง” ยังมีการเปิดเผย เพิ่มเติมในภายหลังอาทิ สุพัชรี ธรรมเพชร ส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ ที่แถลงข่าว ตั้งข้อสังเกตุ ไปถึงกรณีของ "ภูมิศิษฐ์" ที่ไม่ได้อยู่ในห้องประชุมในช่วงการลงมติ ซึ่งอาจมีการกดบัตรแทนกันเช่นเดียวกัน
นอกเหนือจาก ฉลอง,ภูมิศิษฐ์ และนาทีแล้ว เวลาต่อมายังมีการยื่นคำร้องโดยส.ส.ฝ่ายรัฐบาล 90 คน และอีกคำร้องในส่วน84ส.ส.พรรคฝ่ายค้านยื่นต่อ “ชวน หลีกภัย” ประธานรัฐสภาส่งศาลศาลรัฐธรรมนูญ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องวินิจฉัยกรณีการเสียบบัตรในลักษณะเดียวกัน
โดยนอกเหนือ3ส.ส.ภูมิใจไทยแล้วยังมีในส่วนของ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลทั้งในส่วนของส.ส.พลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ รวมอยู่อีกหลายคน
ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การที่ส.สมิได้อยู่ในห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎร แต่ปรากฎว่ามีการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์แสดงตนและลงมติแทน ย่อมมีผลเป็นการออกเสียงลงคะแนนที่ไม่สุจริต ทำให้ผลการลงมติร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ในวันและเวลาดังกล่าวไม่สอดคล้องกับหลักนิติธรรมและไม่ชอบด้วยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ เป็นเหตุให้ร่างพ.ร.บ. ตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ
ผลจากคำวินิจฉัยในครั้งนั้นนำมาสู่การลงมติพ.ร.บ.งบประมาณ2563 ในวาระ 2-3 ใหม่
จากนั้นฝ่ายค้านนำโดย“พรรคเพื่อไทย” จึงมีการนำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเพื่อนำไปยื่นต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้เอาผิด ส.ส.ที่มีพฤติการณ์เสียบบัตรลงคะแนนแทนกัน
กระทั่งป.ป.ช.มีการชี้มูลความผิดและส่งเรื่องไปยังอัยการเพื่อเป็นโจทย์ยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษาในท้ายที่สุด
กรณีการเสียบบัตรแทนกันในรัฐบาลที่ผ่านมาไม่ได้มีแค่เพียง3ส.ส.ภูมิใจไทยแต่เพียงเท่านั้น แต่ยังมีในส่วนของส.ส.คนอื่นๆอีกหลายคนที่รอชี้ขาดในกระบวนการ
อาทิในส่วนของ "ธณิกานต์ พรพงษาโรจน์" อดีตส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ ซึ่งถูกศาลสั่งจำคุก 1ปี โทษคำคุกให้รอลงอาญา ในกรณีเสียบบัตรแทนกันระหว่างร่วมประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25ปีที่ 1ครั้งที่ 14 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) ซึ่งมีการพิจารณาร่างพ.ร.บ.เหรียญราชรุจิ รัชกาลที่ 10 พ.ศ. ...
โดยคดีนี้ "ธณิกานต์" ผู้คัดค้านได้ยื่นคำร้องขอจำหน่ายคดีชั่วคราวจนกว่าคดีอาญาจะถึงที่สุด และขอเลื่อนนัดฟังคำพิพากษาออกไป 6 เดือน จนกว่าศาลคดีอาญาจะพิพากษา โดยศาลฎีกานัดฟังผลคดีอาญาในวันที่ 3 ส.ค.2566
ขณะเดียวกันหากย้อนกลับไปยุครัฐบาลก่อนหน้า ยังมีในส่วนของ "นริศร ทองธิราช" อดีตสส.สกลนคร พรรคเพื่อไทย ซึ่งปรากฎภาพมีการเสียบบัตรแทนกัน เหตุเกิดในช่วงเดือนก.ย.2556 ระหว่างพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ กรณีนี้ศาลสั่งจำคุก 16 เดือน ไม่รอลงอาญา ในฐานะความผิดตามพ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542มาตรา 4, 123/1 พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 4, 172, 192, 198 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91
ทั้งนี้เมื่อเปิด “คุณสมบัติ” ผู้ที่จะเป็นส.ส.ตามที่ระบุไว้ใน มาตรา98 แห่งรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะ(17) เขียนไว้อย่างชัดเจนเกี่ยวกับ “คุณสมบัติต้องห้าม” การเป็นส.ส.ไว้ว่า อยู่ในระหว่าง“ต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง”
สรุปง่ายๆคือถูกตัดสิทธิการเมืองตลอดชีวิตนั่นเอง ฉะนั้นหากคดีถึงที่สุดแล้วบุคคลเหล่านี้มีความผิดก็จะถือว่า“ปิดฉากการเมือง” ในทันที!