พลาดซ้ำ “ผู้นำฝ่ายค้าน” ? รองปธ.สภา แลก “พิธา”
เมื่อ "พรรคก้าวไกล" ถูกผลักออกจากแนวร่วมจัดตั้งรัฐบาล สถานะที่เหลือตอนนี้ หนีไม่พ้น "ฝ่ายค้าน" และ "พิธา" คือ ว่าที่ "ผู้นำฝ่ายค้าน" ทว่าตำแหน่งนี้อาจจะหลุดมืออีก หากไม่คืน "รองปธ.สภาฯ"
ตามแถลงการณ์ “เริ่มต้นใหม่” ของพรรคเพื่อไทยเมื่อ 2 สิงหาคม มีถ้อยแถลงช่วงหนึ่งระบุว่า “พรรคก้าวไกลจะทำหน้าที่เป็นฝ่ายค้าน และยืนยันจะทำงานการเมืองในมิติใหม่ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน”
ย้ำชัดถึงสถานะอดีตพันธมิตร หลังสะบั้น MOU 8 พรรค “ก้าวไกล-เพื่อไทย-ประชาชาติ-ไทยสร้างไทย-เสรีรวมไทย-เป็นธรรม-พลังสังคมใหม่-เพื่อไทรวมพลัง” ที่ลงนามเมื่อ 22 พฤษภาคม 2566
แม้เรื่องนี้ “ชัยธวัช ตุลาธน” เลขาธิการพรรคก้าวไกล จะยังไม่ยืนยันถึง “สถานะ” ของพรรค หลังถูกถอดชื่อออกจาก 8พรรคร่วมรัฐบาล ว่าจะเป็น “พรรคฝ่ายค้าน” ตามที่พรรคเพื่อไทยออกแถลงการณ์หรือไม่ แต่ธงนำของ “ละครการเมือง” ห้วงนี้ วางพล็อตเรื่องให้เป็นเช่นนั้น
เพราะทางที่ “ก้าวไกล” จะพลิกเป็นแกนนำตั้งรัฐบาล หรือได้ตำแหน่งนายกฯ นั้นริบหรี่เต็มทน เนื่องจากเสียงหนุนโหวตนายกฯ ที่ต้องใช้ “สว.” ประกอบนั้น 90% ไม่มีทางเป็นไปได้
ดังนั้น เส้นทางที่ “ก้าวไกล” จะเดินไปตอนนี้ คือการปูทางไปสู่ “พรรคฝ่ายค้าน” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ทั้งนี้ ตามกลไกทำงานของ “สภาผู้แทนราษฎร” ที่มีหน้าที่สำคัญ คือ "ออกกฎหมาย" และ "ตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหาร"
ประเพณีที่ผ่านมาหลายยุค ต้องแบ่ง สส. ในสภาฯ เป็น 2 ฝ่าย คือ “ฝ่ายรัฐบาล” และ “ฝ่ายค้าน”
โดยประเด็นของฝ่ายค้านนั้น ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 106 กำหนดไว้ว่า “หลังจากที่ ครม. เข้าบริหารราชการแผ่นดินแล้ว พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง สส. ผู้เป็นหัวหน้าพรรคการเมืองในสภาฯ ที่มี จำนวน สส.มากที่สุด และสมาชิกไม่ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือรองประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้นำฝ่ายค้าน”
เท่ากับว่า ผู้นำฝ่ายค้านต้องมี 2 คุณสมบัติ คือ "เป็น สส." และมีฐานะเป็น "หัวหน้าพรรคการเมือง"
นาทีนี้ หาก “ก้าวไกล” ถูกผลักออกจาก 8 พรรค เท่ากับว่าแคนดิเดตผู้นำฝ่ายค้าน จะมีชื่อของ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล เนื่องจากเป็นพรรคที่มีจำนวน สส.มากที่สุด เป็นหัวหน้าพรรค และมีสถานะเป็น สส. แม้ขณะนี้ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว
ทว่า “ก้าวไกล” ยังมีปมที่ติดล็อก คือ “ปดิพัทธ์ สันติภาดา” สส.พิษณุโลก พรรคก้าวไกล ดำรงตำแหน่ง “รองประธานสภาฯ คนที่ 1”
ตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ มาตรา 106 ไม่สามารถให้ตำแหน่ง “ผู้นำฝ่ายค้าน” กับ “พิธา” ได้ ยกเว้น “ปดิพัทธ์” ต้องลาออกจากตำแหน่ง
ขณะเดียวกันนั้น ปมคุณสมบัติของ “พิธา” ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะไม่ตัดสินในคำร้องของ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่าด้วยพิธาขาดคุณสมบัติหรือไม่ ด้วยเหตุที่รู้ตัวว่าไม่มีคุณสมบัติลงเลือกตั้งแต่ยินยอมให้พรรคการเมืองส่งลงเลือกตั้ง อาจจะส่งผลในทางกฎหมาย
แม้วรรคท้ายของรัฐธรรมนูญ มาตรา 106 จะเปิดช่องให้หา ผู้นำฝ่ายค้าน คนใหม่ได้ หากพบว่าแคนดิเดตที่มีอยู่ต้องพ้นจากตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 118 นั่นแปลว่า ต้องรอให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดประเด็นคุณสมบัติของ “พิธา” เสียก่อน หากพบว่าขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ และต้องพ้นจากความเป็น สส.
เท่ากับว่าต้องเปลี่ยนชื่อ “ผู้นำฝ่ายค้าน” และต้องยึดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 106 กำหนดไว้เช่นเดิม คือเป็น สส. และ หัวหน้าพรรค
อย่างไรก็ดี ในเงื่อนไขที่มาตรา 106 กำหนดไว้ในส่วนของ “พรรคการเมือง” ที่เป็นจุดตั้งต้นของ “ผู้นำฝ่ายค้าน” ที่มีเงื่อนไขย่อย คือ “พรรคการเมืองที่มี จำนวน สส.มากที่สุด และสมาชิกไม่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ประธานสภา หรือรองประธานสภา”
หาก “ก้าวไกล” เล่นเกมการเมืองให้ “ปดิพัทธ์” นั่งรองประธานสภาฯ คนที่หนึ่งต่อไป เพื่อสร้างการเมืองในสภาฯ มิติใหม่
กับสถานะที่จะเกิดขึ้นคือ “ก้าวไกล” อาจเล่นบท “รัฐบาลเงา” ขณะเดียวกันสามารถประคอง-รักษาฐาน “ด้อมส้ม” ไว้ได้ ผ่านการสร้างผลงานตรวจสอบรัฐบาลตัวจริง
มองข้ามชอตต่อไป สิ่งที่อาจจะถูกพิจารณาคือ “พรรคร่วมฝ่ายค้าน” ที่ได้ สส.มากสุด ลำดับรองลงไป อาจได้รับสิทธินั้น แต่จนถึงขณะนี้ ตราบใดที่สูตรจัดตั้งรัฐบาลขั้วใหม่ยังไม่ปรากฎ จึงคาดเดาได้ยาก ว่าพรรคไหนจะถูกผลักไปเป็นฝ่ายค้าน
ถือเป็นความคลุมเครือที่เกิดขึ้นกับ การเมืองยามนี้ ทั้งประเด็นว่า “ใคร” คือ นายกฯ คนที่ 30 รวมถึง “ใคร" คือ ผู้นำฝ่ายค้าน ที่ประชาชนสามารถฝากผีฝากไข้ได้ หลังเลือกตั้งผ่านพ้นมาแล้วเกือบ 3 เดือน.