ปชป.โวย "มหาดไทย" ลักหลับปรับเกณฑ์ "เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ" จี้หยุดผลักปชช.
ปชป.โวย "มหาดไทย" ลักหลับประชาชน ปมออกเกณฑ์ "เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ" ใหม่ ส่อเจตนาหมกเม็ด จี้เร่งทบทวนหยุดผลักประชาชน
นายชัยชนะ เดชเดโช ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่ ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงิน เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2566
โดยสาระสำคัญคือ ปรับเปลี่ยนคุณสมบัติของผู้มีสิทธิจะได้รับเงินเบี้ยยังชีพ จากไม่เป็นผู้ได้รับสวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์อื่นใดจากหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มาเป็นผู้ไม่มีรายได้หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพตามที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ (กผส.) ตามกฎหมายว่าด้วยผู้สูงอายุกำหนด ว่า การปรับเปลี่ยนเกณฑ์ดังกล่าว ถือเป็นการสร้างความสับสนให้กับประชาชนเป็นอย่างมาก เพราะที่ผ่านมา เกณฑ์ที่ตั้งไว้แต่เดิมก็เป็นที่เข้าใจของประชาชนอยู่แล้ว แต่เมื่อมีการประกาศเกณฑ์ใหม่ กำหนดให้ กผส. เป็นผู้กำหนดนั้น
ตนมองว่า อาจจะเป็นการตีเช็คเปล่าให้ กผส. กำหนดเกณฑ์ได้ตามใจชอบ โดยไม่ได้อ้างอิงกับความเป็นจริงของปัญหาในผู้สูงอายุแต่ละพื้นที่ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ
รวมทั้ง การออกระเบียบดังกล่าว เป็นการออกประกาศแบบที่ประชาชนไม่รู้เนื้อรู้ตัวมาก่อน เปรียบเสมือนเป็นการลักหลับ โดยมาเฉลยทีหลังว่า ต่อจากนี้ไป ผู้สูงอายุที่ยากจนอาจจะไม่ได้เบี้ยยังชีพทุกคน
ดังนั้น ตนจึงขอเรียกร้องให้ทางกระทรวงมหาดไทย ดำเนินการปรับเปลี่ยนระเบียบฯ โดยกลับไปใช้เกณฑ์เดิมที่ประชาชนคุ้นเคยกันดี เกี่ยวกับการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ และการออกระเบียบใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุนั้น ผู้เกี่ยวข้องจะต้องชี้แจงให้ประชาชนทราบเป็นระยะ ๆ ไม่ใช่มาออกระเบียบแบบที่ไม่ให้ใครตั้งตัว จนเกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์กันอยู่ในขณะนี้
“เรื่องเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ถือเป็นเรื่องที่ประชาชนทั่วไปหรือแม้แต่พรรคการเมืองแทบทุกพรรค ต่างยอมรับว่า ต้นตำรับนโยบายนี้มาจากพรรคประชาธิปัตย์ ในสมัยที่นายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี โดยเริ่มในปี 2536 ที่ 200 บาทต่อเดือน โดยให้เป็นการสงเคราะห์ต่อผู้สูงอายุผู้ยากไร้ และพัฒนามาจนเป็นผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปทุกคน สามารถมีสิทธิในการขอรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุได้ รวมทั้ง มีการจ่ายเบี้ยเป็นขั้นบันได จนถึง 1,000 บาท สำหรับผู้สูงอายุ 90 ปีขึ้นไป
ซึ่งเกณฑ์ยกเว้นสำหรับผู้ที่ไม่ได้รับเบี้ยผู้สูงอายุ ก็มีความชัดเจนจนเป็นที่เข้าใจกันอยู่แล้ว และในบางรายที่มีสิทธิได้รับเบี้ยผู้สูงอายุตามเกณฑ์ ก็มีการสละสิทธิ์ให้ผู้สูงอายุรายอื่นได้รับเบี้ยฯ อันเนื่องมาจาก ลูกหลานสามารถดูแลผู้สูงอายุดังกล่าวได้มากกว่าจำนวนเบี้ยยังชีพที่ได้รับ แต่เมื่อมีการปรับเกณฑ์ให้คณะกรรมการ กผส. เป็นผู้กำหนดนั้น ผมมองว่า อาจจะมีปัญหาความไม่เข้าใจของ กผส.
ซึ่งอาจจะนิยามคำว่า ‘เป็นผู้ไม่มีรายได้หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพ’ คลาดเคลื่อนกับความเป็นจริง รวมทั้ง ตนเชื่อว่า การที่ออกระเบียบฯ ใหม่ โดยไม่ให้ผู้เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมเลยนั้น ถือได้ว่า เป็นการส่อเจตนาหมกเม็ด และเป็นการละเมิดสิทธิของผู้สูงอายุตามที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติคุ้มครองเอาไว้ด้วย” นายชัยชนะกล่าว
ด้านนายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า กรณีดังกล่างแม้เงื่อนไขนี้จะไม่กระทบกับประชาชนที่เคยได้อยู่แล้ว เพราะมีบทเฉพาะกาลรองรับอยู่ที่เขียนไว้ว่า “ผู้สูงอายุ ที่ได้ขึ้นทะเบียนและได้รับเงินเบี้ยผู้สูงอายุอยู่ก่อนระเบียบนี้ก็ให้มีสิทธิรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุต่อไปได้” แต่ในเรื่องการกำหนดคุณสมบัติใหม่นั้นต้องทำการทบทวน
นายราเมศกล่าวต่อว่า เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ริเริ่มในสมัยรัฐบาลนายชวน หลีกภัย ซึ่งขณะนั้นพรรคการเมืองอื่นๆ ไม่ได้ให้สนใจเรื่องนี้ แต่พรรคประชาธิปัตย์เล็งเห็นถึงความสำคัญที่ประชาชนผู้สูงอายุจำต้องได้รับการดูแล ได้รับสิทธิสวัสดิการจากรัฐ จนต่อมาในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้กำหนดให้เป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน แบบเบี้ยยังชีพถ้วนหน้า ยกเว้นผู้ที่ได้รับบำเน็จบำนาญ จึงเป็นนโยบายที่พรรคให้ความสำคัญมาโดยตลอด และเป็นนโยบายที่พี่น้องประชาชนที่ได้เสียภาษีให้รัฐมาตลอดชีวิตได้ประโยชน์ อย่างน้อยมีเงินจากรัฐที่ได้จัดสรรให้มาใช้จ่ายในวิถีชีวิตบางส่วน
เราจะเห็นว่าในการเลือกตั้งรอบที่ผ่านมาก็จะมีพรรคการเมืองหลายพรรคมีการเสนอให้ในจำนวนเงินที่แข่งขันกันว่าพรรคตนให้มากกว่า แต่ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์นั้นเล็งเห็นและให้ความสำคัญต่อผู้สูงอายุมาก่อนพรรคการเมืองอื่น จนเป็นรากฐานที่สำคัญมั่นคงมาถึงปัจจุบัน สำหรับเรื่องนี้พรรคก็จะได้ติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป