"ศรีสุวรรณ" จับมือ "ยศวริช" ยื่นสภาฯ สอบโครงการซื้อวิทยุ มท. ส่อทุจริต
"ศรีสุวรรณ-ยศวริช" ยื่นสภาฯ ขอให้สอบโครงการซื้อวิทยุ มท. 4,300 ล้านบาท เหตุพบล็อคสเปคให้บริษัทเดียว เชื่อมีเงินทอน-ส่อทุจริต เอี่ยว อดีต ปลัด มท.คนก่อน
ที่รัฐสภา นายศรีสุวรรณ จรรยา ผู้นำองคืกรรักชาติ รักแผ่นดิน พร้อมด้วยนายยศวริศ ชูกล่อม ประธานกลุ่มรวมใจรักชาติ ยื่นหนังสือต่อนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาฯ คนที่สอง เพื่อขอให้ส่งเรื่องให้กรรมาธิการสามัญของสภาฯ ตรวจสอบโครงการจัดซื้อวิทยุสื่อสารของกระทรวงมหาดไทย มูลค่าโครงการ 4,300 ล้านบาท ให้กับกำนัน ผู้ใหญ่บ้านทั่วประเทศ ที่ดำเนินโครงการมาตั้งแต่ปี 2564 และจะสิ้นสุดในปี 2567 ที่พบพฤติกรรมการล็อคสเปคและคาดว่าจะมีเงินทอน
โดยนายศรีสุวรรณ กล่าวว่า โครงการดังกล่าวดำเนินการเมื่อครั้ง อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทยคนที่ผ่านมายังดำรงตำแหน่ง และมีระยะเวลาโครงการตั้งแต่ปี 2564 - 2567 ซึ่งการดำเนินการตั้งแต่การเขียนทีโออาร์ นั้นพบพฤติกรรมที่เข้าข่ายล็อคสเปคให้กับบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็นที โดยกรรมการที่เป็นผู้เเขียนทีโออาร์นั้น ส่วนหนึ่งคือบุคคลที่อยู่ในบริษัทเอ็นทีและบริษัทที่เป็นนอมินีของบริษัทเอ็นที ซึ่งมีความใกล้ชิดกับอดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย และล็อคสเปคให้ใช้วิทยุสื่อสารที่มีขนาดคลื่น 800 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งมีเพียงบริษัทเอ็นทีแห่งเดียวที่ได้รับใบอนุญาต จากกสทช. และเชื่อว่าโครงการดังกล่าวจะมีเงินทอน
นายศรีสุวรรณ กล่าวด้วยว่าแม้ก่อนการกำหนดราคากลางจะให้ 3บริษัทเป็นคู่เทียบ คือ บริษัท เอ็นที, บริษัทนอมินีของ เอ็นที และอีกบริษัทที่ไม่เคยมีประสบการณ์ทำงาน แต่เมื่อมีการลงนามสัญญาจ้าง พบบริษัทที่ได้คือ เอ็นที และลงนามก่อนที่ ปลัดมหาดไทยคนก่อนจะเกษียณอายุราชการเเพียง 2 วัน
ขณะที่นายยศวริช กล่าวว่า หลังจากที่บริษัทเอ็นทีชนะประมูลและได้รับการว่าจ้าง ในมูลค่าโครงการ 4,300 ล้านบาท แต่ภายหลังพบว่าได้ส่งต่องานไปให้บริษัทนอมินี เป็นผู้รับงาน ในราคา 3,300 ล้านบาท ถือว่ามีเงินทอนยกแรก 1,000 ล้านบาท ดังนั้นจึงเป็นพฤติกรรมที่ทำให้รัฐเสียหาย อย่างไรก็ดี อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย คนก่อน ที่ชื่อย่อ "ฉ.ฉิ่ง" นั้น ขณะนี้ไปดำรงตำแหน่งใน ปปง. ด้วย ที่ผ่านมาเคยมีคนวิ่งเต้นให้ยุติเรื่องดังกล่าว แต่ตนเห็นแก่ประโยชน์ของประเทศจึงยื่นเรื่องต่อสภาฯ ให้ตรวจสอบต่อไป
ทางด้านนายพิเชษฐ์ กล่าวว่าขณะนี้สภาฯ ยังไม่มีกรรมาธิการฯ ดังนั้นต้องรอก่อนจะดำเนินการต่อไป.